Hot Topic!

เมื่อยักษ์มือถือ ตื๊อขอมาตรา 44

โดย ACT โพสเมื่อ Apr 19,2018

- - สำนักข่าวแนวหน้า - -

 

คอลัมน์ กวนน้ำให้ใส  โดย : สารส้ม

 

เมื่อวานนี้ นักข่าวถามนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประเด็นเกี่ยวกับข้อพิจารณาช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคม

 

นักข่าว : มีการตั้งข้อสังเกตว่าทั้งทรูและเอไอเอสไม่ได้ขาดทุน แต่ผลประกอบการยังมีกำไรพอสมควร ทำไมจึงมาขอให้รัฐบาลช่วยเหลือ?

 

นายวิษณุ : ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะให้ความเป็นธรรมหรือช่วยเหลืออย่างไร ยังไม่สามารถตอบตรงนี้ได้ เพราะต้องเสนอคสช.พิจารณาก่อน อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมเมื่อวานนี้ตัวแทนทั้งสองบริษัทได้ชี้แจง โดยอธิบายให้เห็นภาพตัวเลขที่เห็นว่ามีกำไรนั้น มีที่มาจากผลประกอบการส่วนใดบ้าง ซึ่งทั้งสองบริษัทมีกิจการในเครือกว่า 50 รายการ ตัวเลขรายได้จึงรวมมาจากทั้งหมด และที่บอกว่าเขามีกำไร เขาชี้แจงว่ามีกำไรจากเรื่องอื่น ส่วนรายได้จากโทรศัพท์หรืออินเตอร์เนตยังขาดทุน เพราะเขาประมูลมาแพง

 

น่าคิดว่า การที่เอกชนมือถือยักษ์ใหญ่อ้างเช่นนี้ มีเหตุมีผล มีน้ำหนักควรรับฟัง หรือไม่?

 

1. ตัวอย่าง กรณีบริษัทเอไอเอส

ปี 2560 รายได้รวม 158,477 ล้านบาท

กำไรปีเดียว 30,077 ล้านบาท

โดยที่ปีดังกล่าวนั้น ได้เริ่มจ่ายค่าใบอนุญาตแล้ว (ก็ยังมีกำไรมหาศาล)


2. ในความเป็นจริง บริษัทมีการวางแผนจัดการต้นทุนค่าใบอนุญาตไว้แล้ว

เรื่องนี้ หากส่องเข้าไปดูในรายการงบการเงินปี 2560 ของบริษัท ที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็จะพบรายละเอียดว่าทางบริษัทได้วางแผนจัดการเอาไว้อย่างไร? มีฐานะทางการเงินเข้มแข็งขนาดไหน

ยกตัวอย่าง

เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับค่าใบอนุญาตคลื่น 900 นั้น ทางเอไอเอสได้ระบุไว้ในรายงานว่า

 

“เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (“AWN”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เป็นผู้ชนะการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 900 MHz ด้วยราคาประมูลรวมทั้งสิ้น 75,654 ล้านบาท AWN ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 900 MHz (“ใบอนุญาตฯ”) อย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (“กสทช.”) ตามเงื่อนไขและข้อกำหนดที่ระบุไว้ในการประมูล เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2559 AWN ได้ชำระเงินงวดแรกเป็นจำนวนร้อยละ 11 ของราคาประมูลและภาษีมูลค่าเพิ่มรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8,603 ล้านบาท พร้อมวางหนังสือค้ำประกันจากธนาคารเพื่อค้ำประกันการชำระเงินในส่วนที่เหลือให้กับ กสทช. โดยเงินงวดที่ 2 และ 3 อีกร้อยละ 5 รวมภาษีมูลค่าเพิ่มจะชำระในปีที่สองและปีที่สามนับจากวันจ่ายชำระครั้งแรกในแต่ละปีและส่วนที่เหลือชำระในปีที่สี่


ต้นทุนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่รับรู้เมื่อเริ่มแรกด้วยราคาเทียบเท่าเงินสดตามมูลค่าปัจจุบันของต้นทุนที่ได้มาของใบอนุญาตฯ ดังกล่าว”


นอกจากนี้ ทางเอไอเอสก็มีการคิดคำนวณไว้เสร็จสรรพหมดแล้ว ว่ามีภาระต้นทุนเท่าไหร่? คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันเท่าใด? จะจัดการอย่างไร?

อ่านรายละเอียดแล้ว ไม่มีตรงไหนที่ระบุถึงความน่าวิตกกังวลอะไรเลยแม้แต่น้อย


3. ยิ่งกว่านั้น ในรายงานที่แสดงต่อตลาดหลักทรัพย์ฯดังกล่าว ยังอธิบายถึงเครื่องมือทางการเงิน ตลอดจนการบริหารจัดการการลงทุน จัดการความเสี่ยงเอาไว้อย่างครอบคลุม ตัวอย่างบางตอน อาทิ


“นโยบายการจัดการความเสี่ยงทางด้านการเงิน


การจัดการความเสี่ยงเป็นส่วนที่สำคัญของธุรกิจของกลุ่มบริษัทและบริษัท ซึ่งกลุ่มบริษัทและบริษัทมีระบบในการควบคุมให้มีความสมดุลของระดับความเสี่ยงให้เป็นที่ยอมรับได้ โดยพิจารณาระหว่างต้นทุนที่เกิดจากความเสี่ยงและต้นทุนของการจัดการความเสี่ยง ฝ่ายบริหารได้มีการควบคุมกระบวนการการจัดการความเสี่ยงของกลุ่มบริษัทและบริษัทอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มั่นใจว่ามีความสมดุลระหว่างความเสี่ยงและการควบคุมความเสี่ยง


การบริหารจัดการทุน


กลุ่มบริษัทและบริษัทมีเป้าหมายที่จะบริหารโครงสร้างเงินทุนให้มีความแข็งแกร่งในระดับที่เหนือกว่าบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน และพยายามคงสถานะอันดับเครดิตในระดับที่สามารถลงทุนได้ (Investment Grade) ซึ่งจะทำให้กลุ่มบริษัทและบริษัทมีสถานะการเงินที่มีความพร้อมและมีความคล่องตัวสูงในการเติบโตธุรกิจเมื่อเทียบกับคู่แข่ง อันหมายรวมถึงการมีแหล่งเงินทุนที่หลากหลาย ความสามารถในการจัดหาเงินทุนที่คล่องตัว และมีระดับต้นทุนที่เหมาะสม


ในระยะ 3-5 ปี อุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทยอาจมีการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ซึ่งจำเป็นต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมกลุ่มบริษัทและบริษัทเชื่อว่า กลุ่มบริษัทและบริษัทมีความพร้อมทางด้านโครงสร้างเงินทุนเพียงพอต่อการขยายการเติบโตในอนาคต และมีศักยภาพในการหาแหล่งเงินทุนผ่านการเพิ่มระดับหนี้สินเพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจ”


อ่านแล้วก็ทำให้เชื่อมั่นได้ว่า บริษัทมีความแข็งแกร่งทางการเงิน และพร้อมในการบริหารจัดการเงินลงทุนอย่างที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องขอความช่วยเหลืออะไรจากภาครัฐเลยแม้แต่น้อย

แทบจะร้องเพลงได้ว่า “ไม่ต้องห่วงฉัน”


4. สุดท้าย... หากยักษ์มือถือจะมายืนยันว่าจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ ก็เท่ากับว่า ที่เคยรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯไว้ มันไม่จริงอีกต่อไปแล้ว อย่างนั้นหรือ?

แล้วข้อมูลแบบนี้ น่าจะถือเป็นข้อมูลสำคัญ ได้แจ้งข้อเท็จจริงใหม่ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯหรือยัง?

หรือว่าแท้ที่จริง ไม่ได้จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ แต่อยากจะได้ผลประโยชน์มากขึ้นเท่านั้นเอง?

ความจริง มันคงจะต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง

 

 

 

 

 
 
 
 
 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw