Hot Topic!
ฮั้วรถดูดโคลน สะเทือนท้องถิ่น ปปป.ล็อกเป้าปราม ส่งป.ป.ช.เชือดขรก.โกง
โดย ACT โพสเมื่อ Apr 18,2018
- - สำนักข่าวเดลินิวส์ - -
ปฏิบัติการปราบโกง ทุจริตประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่เลือกชนิดหรือประเภท เพราะล่าสุดกระทั่ง รถดูดล้างทำความสะอาด หรือ รถดูดโคลน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ก็ตกเป็นเครื่องมือหากิน ทุจริตฮั้วประมูลกันได้
ภาพปฏิบัติการล่าสุดของกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ(บก.ปปป.) ที่สนธิกำลังร่วมกับหลายหน่วยงานทั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) กรมศุลกากร กรมบัญชีกลาง กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญา กรรมทางเศรษฐกิจ(ปอศ.) กับการลุยตรวจค้นบ้านพักเป้าหมายส่อพัวพันฮั้วประมูลโครงการจัดซื้อรถดูดโคลน ฉีดล้างท่อระบายน้ำ และรถขนขยะ ครั้งใหญ่พร้อมกัน 10 จังหวัด โดยพุ่งเป้าไปที่ระดับผู้บริหารงานท้องถิ่น สะท้อนให้เห็นชัดเจนถึงอีกหนึ่งกรณีทุจริตที่กัดเซาะธรรมาภิบาลระบบราชการในปัจจุบัน
พล.ต.ต.กมล เหรียญราชา ผบก.ปปป. เผยถึงการทุจริตดังกล่าวว่า มีการติดตามข้อมูลสืบสวนสอบสวนมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับเป้าหมายทั้ง 10 จุด ผู้กระทำผิดส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นที่รู้จักของประชาชนและเป็นคนกว้างขวางในพื้นที่ ทำให้ต้องระมัดระวังในการเข้าปฏิบัติการ และรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อส่งสำนวนให้ ป.ป.ท. หรือ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อ โดย 10 จังหวัดที่เข้าปฏิบัติการ ประกอบด้วย สมุทรสาคร สิงห์บุรี ชลบุรี เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สมุทรปราการ นนทบุรี เชียงใหม่ ระยอง และศรีสะเกษ ในจำนวนนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายให้ร้องทุกข์กล่าวโทษแล้ว 6 จังหวัด คือ ชลบุรี สมุทรปราการ พิษณุโลก ระยอง เพชรบูรณ์ และนนทบุรี
ด้าน พ.ต.อ.จักษ์ เพ็งสาธร รอง ผบก.ปปป. เผยถึงการ ทุจริตในลอตนี้ว่าเริ่มจากการที่บริษัทผู้ผลิตรถดูดสิ่งโสโครก นำเสนอรายละเอียดรถดูดโคลนที่จะขาย อปท. จากนั้นจึงมีการตั้งงบและเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อ เพื่อกำหนดระเบียบ สเปก ราคากลาง โดยรถลักษณะนี้ไม่มีวางขายตามท้องตลาดทั่วไป ทำให้ไม่มีการกำหนดราคากลางที่ชัดเจน แต่ละท้องที่ต้องเสนอราคากลางเอง อย่างไรก็ตาม ตามข้อมูลรถดูดโคลนจะมีราคาอยู่ที่คันละประมาณ 6-7 ล้านบาท เมื่อบวกราคากำไรและภาษี ก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 11 ล้านบาท แต่ข้อเท็จจริงกลับพบมีการตั้งราคาไว้สูงถึงคันละ 17-18 ล้านบาท โดยหวังนำเงินส่วนต่างไปทอน เบื้องต้นรัฐเสียหายแล้วกว่า 70 ล้านบาท
รอง ผบก.ปปป. ให้รายละเอียดของขบวนการดังกล่าวว่าบริษัทเอกชน 7 บริษัทเข้ามาเกี่ยวข้องกับการฮั้วประมูลในลอตที่ 2 นี้ โดยบริษัทที่ผลิตรถดูดโคลนตัวหลัก 2 บริษัทจะเสนอราคาต่ำสุด และ ผลัดกันชนะตลอด ขณะที่อีก 5 บริษัทที่เป็นบริษัทคู่เทียบราคาจะวนไปร่วมประมูล แต่ไม่เคยชนะประมูลเลย เนื่องจากมีการตกลงราคากันไว้แล้ว เพียงแต่เข้าร่วมเพื่อให้ครบตามหลักเกณฑ์ที่ อปท.กำหนดเท่านั้น ทั้งนี้ หากสืบสวนลึกจะพบว่าทั้ง 7 บริษัท มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน ทั้งชื่อกรรมการบริหารที่เป็นคนเดียวกัน บางบริษัทผู้บริหารเกี่ยวข้องเป็นเครือญาติ หรือกระทั่งพนักงานบริษัทที่ย้ายข้ามไปทำงานกับอีกบริษัท
สำหรับที่มาที่ไปการกวาดล้างฮั้วประมูลรถดูดโคลน เคยดำเนินการมาแล้วในลอตที่ 1 ซึ่งสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์เมื่อปี 58 มีคนร้ายลอบยิงใส่รถยนต์ของ นายไพรัตน์ วิพัฒน์ครุฑ ปลัด อบต.ไทรน้อย จ.นนทบุรี ในขณะนั้น จนได้รับบาดเจ็บสาหัส ชุดสืบสวนสาเหตุคาดว่ามาจากปัญหาขัดแย้งผลประโยชน์การจัดซื้อรถบรรทุกล้างดูดสิ่งปฏิกูลของ อบต.ไทรน้อย โดยพบพฤติการณ์ส่อทุจริตของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ในลักษณะกำหนดคุณสมบัติบริษัทที่เข้าร่วมประมูล เข้าข่ายล็อกสเปก เอื้อประโยชน์บริษัทใดบริษัทหนึ่ง มีการกำหนดราคากลางสูงกว่าความเป็นจริง และกำหนดวิธีการจัดซื้อเอื้อประโยชน์ให้บริษัทที่เป็นตัวแทนบริษัทผู้ผลิตเดียวกันสามารถเข้ายื่นซองประกวดราคาได้
ข้อมูลที่พบในลอตแรก มีบริษัทที่เข้าร่วมยื่นซองประกวดราคา 3 ราย เป็นตัวแทนจากบริษัทเดียวกัน ทำให้การแข่งขันราคาไม่เป็นธรรม เมื่อตรวจสอบเส้นทางการเงินก็พบบริษัทตัวแทนที่ชนะการประมูลมีการโอนเงินให้บริษัทผู้ผลิตมากกว่าราคาจ้างจริง และกลุ่มบริษัทดังกล่าวได้ยื่นประมูลงานในลักษณะเดียวกันต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานของรัฐอีกหลายโครงการ โดยมีพฤติกรรมการเคาะราคา (E-Auction) อย่างไม่เป็นธรรม อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์เส้นทางการเงินของกลุ่มบริษัทดังกล่าวร่วมกับ ปปง. พบมูลในช่วงดังกล่าวมีการโอนเงินไปมาระหว่างกลุ่มบริษัท รวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้อง แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่การจ้างงานที่แท้จริง
ณ ขณะนั้นมีบัตรสนเท่ห์ส่งเข้ามาร้องเรียนว่าอาจมีการทุจริตจัดซื้อรถบรรทุกล้างดูดสิ่งปฏิกูล ของ อบต.ไทรน้อย โดยมีเงินทอนประมาณ 5 ล้านบาท หลังได้เบาะแส ปปป. ประสานให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ร่วมแกะรอย แฝงตัวเข้าไปร่วมซื้อซองประมูลแต่ไม่พบความผิดปกติ กระทั่งล่วงเลยไปจนถึงขั้นตอนการส่งมอบรถ มีการสืบข้อมูลจากเอกสารต่าง ๆ จนพบว่าราคาขายที่แท้จริงของรถอยู่ที่ประมาณคันละ 7 ล้านบาท แต่ อบต.ไทรน้อย กลับจัดซื้อในราคาคันละ 17 ล้านบาท นอกจากนี้ยัง มีกำหนดคุณสมบัติของบริษัทที่เข้าร่วมประมูลในลักษณะการ ล็อกสเปกว่าต้องผ่านการรับรองมาตรฐานในการผลิตชุดโครงถัง ISO14001 และ 9001 ซึ่งมีเพียงบริษัทเดียวในประเทศ โดยบริษัทดังกล่าวแต่งตั้งตัวแทน 3 ราย ขึ้นเป็นนอมินี
จากนั้นได้มีการขยายผลสืบสวนการจัดซื้อรถดังกล่าวของ อบต.บางเลน อบต.บางบัวทอง เทศบาลตำบลปลายบาน อบต.บางรักน้อย ก็พบว่ามีลักษณะเดียวกับที่เกิดขึ้นกับ อบต.ไทรน้อย เมื่อได้ข้อเท็จจริงดังนี้ บก.ปปป. จึงได้สอบถามข้อมูลไปยังกรมบัญชีกลาง กระทั่งทราบว่ากลุ่มบริษัทดังกล่าวได้ดำเนินการประมูลมาแล้ว 1,202 โครงการ คิดเป็นมูลค่าราว 6,000 ล้านบาท
สำหรับปฏิบัติการตรวจค้นล่าสุด 12 จุด 10 จังหวัด เบื้องต้นมีการแจ้งข้อกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 และข้อหาสนับสนุนการฮั้วประมูล กับอดีตผู้บริหารท้องถิ่นแล้ว 2 จังหวัดคือ ระยอง และเพชรบูรณ์ ขณะที่บางส่วนต้องตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่ได้จากการตรวจค้นเพิ่มเติม รวมถึงในส่วนของบริษัทเอกชนที่ต้องเรียกเข้าแจ้งข้อหาสนับสนุนการฮั้วประมูลด้วย
เป็นอีกคดีทุจริตที่ต้องจับตาว่านับจากนี้จะขยายผลสะเทือนปฐพีไปเหมือนคดีทุจริตหลายคดีก่อนหน้าหรือไม่.
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน