Hot Topic!
ค้านรัฐบาลใช้ ม.44 อุ้มค่ายมือถือ ส่อทุจริตด้านนโยบาย-หวั่นสอดไส้เข้าครม.
โดย ACT โพสเมื่อ Apr 10,2018
- - สำนักข่าวประชาชาติธุรกิจ - -
8 เมษายน เวลา 13.00 น. ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35และเครือข่ายตรวจสอบภาคประชาชน จัดเสวนาวิชาการ หัวข้อ “ม.44 อุ้มค่ายมือถือ :กสทช.-เอกชน มีเงินทอนหรือไม่”
นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตประธานกรรมาธิการการศึกษาตรวจสอบเรื่องทุจจิต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เปิดเผยว่า กรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ขยายเวลาการชำระเงินงวดสุดท้าย มูลค่ารวม 120,000 ล้านบาท ในปี 2563 นั้น เป็นเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำเพราะรัฐเสียประโยชน์ ขณะที่เอกชนได้ประโยชน์ เพราะสองบริษัท ทั้งเอไอเอสและทรู มีกำไรอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือ ซึ่งในต่างประเทศเมื่อมีการประมูลแล้วจะให้ชำระเงินเร็วที่สุดเพื่อป้องกันการไม่ชำระเงินและอาจจะมีการทิ้งคลื่น ต้องพิจารณาว่าการใช้อำนาจ ม.44 ของคสช. ในเรื่องนี้ทำได้หรือไม่
เพระตามม.44 ตามรัฐธรมนูญกำหนดให้ใช้ 3 กรณี คือ เพื่อการเดินหน้าปฏิรูปประเทศ เพื่อสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ รวมทั้งแก้ปัญหาความสงบเรียบร้อยของชาติ ราชบัลลังก์ และราชการแผ่นดิน เท่านั้น ดังนั้นจึงน่าสังเกตว่าจะเป็นการทำฟรี ๆ หรือมีเงินทอนหรือไม่ จึงอยากให้มีการทบทวนเรื่องนี้และพิจารณาให้รอบคอบ เพราะกังวลว่าอาจจะมีการผลักดันและนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในสัปดาห์นี้ที่เจ้าใกล้ช่วงเทศกาลสงกรานต์ซึ่งประชาชนอาจจะตั้งรับไม่ทัน
“กระบวนการเรื่องนี้ถ้าใช้ ม.44 รัฐเสียประโยชน์เอกชนได้ประโยชน์ ไม่มีเหตุผลทที่จะไปช่วยเหลือ เพราะตามทีโออาร์ได้มีการเขียนไว้อยู่แล้ว และช่วงต้นกำหนดให้จ่ายค่างวดน้อยเพื่อนำเงินไปลงทุน และจ่ายปีสุดท้าย 60,000 ล้านบาท ซึ่งถ้าไม่จ่ายภายใน 15 วันต้องจ่ายดอกเบี้ย 15% ต่อปี โดยคิดดอกเบี้ยเป็นรายวัน ขณะที่กสทช.จะคิดดอกเบี้ยกรณียืดชำระเพียง 1.5% เท่านั้น ที่ผ่านมา รัฐบาลช่วยคนจนกู้นอกระบบให้มากู้ธนาคารออมสิน จ่ายดอก 19% ต่อปี ผ่อนจ่ายไม่เกิน 5 ปี แต่จะมาช่วยนายทุนจ่ายดอกเบี้ยแค่ 1.5% โดยบริษัทเป็นมูลค่าแสนล้านจึงไม่มี เช่นเดียวกับกรณี การทางพิเศษ ต้องการกู้เงิน 3,000-4,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนทางด่วน รัฐไม่ยอมกู้ให้ไปกู้ผ่านไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ ดอกเบี้ย 7-8% ซึ่งเรื่องนี้หาก คสช.ยังเดินหน้าเราก็จะไม่หยุดเช่นเดียวกัน และจะคัดค้านเต็มที่” นางสาวรสนา กล่าว
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นนั้น กสทช. มีอำนาจเต็มที่เป็นองค์กรอิสระสามารถแก้กฎหมายได้โดยไม่ต้องผ่าน คสช. แต่ก็ไม่กล้าทำต้องเสนอให้ คสช. ทำแทน ทั้งยังสอดไส้มาพร้อมกับการแก้ปัญหาทีวีดิจิทัล ซึ่งในส่วน ทีวีดิจิทัลได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐทั้ง กสทช.และคสช. จึงต้องมีมาตรการช่วยเหลือ แต่จะช่วยอย่างไรสามารถถกเถียงกันได้ ส่วนค่ายมือถือยังไม่เห็นว่าได้รับผลกระทบจากนโยบายของกสทช. หรือภาครัฐ เพราะตั้งแต่ที่ประมูลคลื่นมาจำนวนผู้ใช้บริการก็เพิ่มมากขึ้น จากการเข้าถึงสมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดียของประชาชน ถ้าเอาทั้งสองเรื่องมาโยงกันดิจิทัลทีวีจะยิ่งได้รับผลกระทบเพราะไม่ได้รับการช่วยเหลือสักที และยังถูกจับเป็นตัวประกันของกลุ่มโทรคมนาคม ว่าช่วยทีวิดิจิทัลก็ต้องช่วยโทรคมนาคมด้วย ซึ่งหาก ถ้า คสช. มาอุ้มเรื่องนี้แทนกสทช. จะสบายไปด้วย เช่นเดียวกับค่ายมือถือ ขณะที่รัฐไม่ได้รับเงินเข้ามาในงบประมาณ และหากเงินไม่เข้าก็ไม่รู้ว่าจะกระจัดกระจายไปที่ใดบ้าง
นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ทั้งเอไอเอส และทรู มีตัวเลขกำไรชัดเจน และมีความสามารถที่จะระดมเงินมาชำระหนี้ใบอนุญาตที่เหลืออยู่ได้ ซึ่งรัฐไม่ต้องกังวลว่าทั้ง 2 บริษัทไม่มีเงินมาชำระหนี้ ส่วนกรณีที่มีแนวคิดจะให้แบ่งจ่ายเงินงวดสุดท้ายและจะคิดดอกเบี้ยเพียง 1.5% อยู่ในระดับต่ำมาก
โดยมองว่าหากรัฐให้ความช่วยเหลือจะเป็นการเอื้อให้ทั้งสองบริษัทมีศักยภาพทางการเงินมากกว่าคู่แข่งและผู้ที่จะเข้ามาประมูลคลื่นรายใหม่ในอนาคต ซึ่งจะเป็นผลให้เกิดการผูกขาดตลาดโทรคมนาคมและประชาชนผู้ใช้บริการจะเสียประโยชน์ “เรื่องนี้ควรนำมาถกเถียงในสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่าควรจะมีทางออกอย่างไร เพื่อให้มีความชัดเจน เพราะ หากใช้ ม.44 จะไม่มีการผูกติดว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรัฐ ทั้งที่หากรัฐเสียประโยชน์จะต้องมีการคนชดใช้
อย่างไรก็ตาม หากกสทช. คสช. มีการให้ความช่วยเหลือ จะเป็นการสร้างความแครงใจว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง เป็นการตอกลิ่มอภิสิทธิ์ชนในวันข้างหน้าอีก ซึ่งทางองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น จะมีการทำหนังสือถึง คสช. เพื่อแสดงจุดยืนต่อเรื่องนี้เร็วๆ นี้” นายมานะ กล่าว
นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการด้านกลไกการปราบปรามการทุจริต สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นจากกรณีที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ว่าจะมีการนำเรื่องการให้ความช่วยเหลือทีวิดิจิทัลและค่ายมือถือ ให้ที่ประชุม คสช. พิจารณา เป็นเรื่องทีโยนหินถามทางมาก่อน ซึ่งพล.อ.ประวิตร เป็นแกนนำเรื่องนี้ หากรัฐได้รับความเสียหายต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นและโอกาสของประเทศที่จะเสียไปหากไม่ได้เงินเข้ามาทำงบประมาณ เช่นเดียวกับนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ที่ต้องชัดเจนว่าทำงานเพื่อใคร หากทำงานรับใช้ 2 ค่ายมือถือก็ควรจะลาออกไป
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน