Hot Topic!
ปปช.ต้องปราบโกง
โดย ACT โพสเมื่อ Mar 15,2018
- - สำนักข่าวโพสต์ทูเดย์ - -
กรณีศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือ ป.ป.ช. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. 32 คน ได้เข้าชื่อกันขอให้ตีความมาตรา 285 ที่บัญญัติให้ประธานและกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนครบวาระ ซึ่งก็เท่ากับว่า กรรมการ ป.ป.ช.ชุดนี้จะสามารถทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะครบวาระจำนวน 9 ปี
แม้หลายฝ่ายยังคาใจผลการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ ในทำนองกฎหมายลูกฆ่ากฎหมายแม่ คือรัฐธรรมนูญได้กำหนดคุณสมบัติของประธานและกรรมการ ป.ป.ช.ไว้อย่างชัดเจน แต่มีการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูก มายกเว้นให้บางคนที่ขาดคุณสมบัติทำหน้าที่ต่อไปได้ ซึ่งอาจจะทำให้เป็นปัญหาเรื่องมาตรฐานในอนาคตได้ แต่เมื่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาชัดเจน ถือว่าเป็นที่สุดและผูกพันทุกองค์กร
อย่างไรก็ตาม การที่ประธานและกรรมการ ป.ป.ช.ได้อยู่ในตำแหน่งต่อไปนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องชัยชนะในการที่ได้อยู่ในตำแหน่งต่อไป หรือเป็นชัยชนะฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ที่ต้องการหวังจะใช้ ป.ป.ช.ชุดนี้เป็นเครื่องมือเพื่อผลประโยชน์ในอนาคต แต่เป็นเรื่องที่ประธานและกรรมการ ป.ป.ช.ชุดนี้จะต้องทำหน้าที่ปราบทุจริตอย่างจริงจัง ไม่ใช่เป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ ดำเนินการเฉพาะฝ่ายตรงข้าม
ทั้งนี้ ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นยังคงเป็นภัยร้ายของสังคมไทย แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้ประกาศสงครามกับคอร์รัปชั่น แต่ยังไม่สามารถทำให้การทุจริตลดลงไปได้ ซ้ำร้ายในยุค คสช.เองกลับเกิดการทุจริตมากมาย โดยล่าสุดมีทั้งเรื่องโกงเงินทอนวัด โกงเงินคนจน เงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย และคนไร้ที่พึ่งที่ ปปท.ตรวจสอบพบแล้วค่อนประเทศคืน 44 จังหวัด การทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิตเด็กของกระทรวงศึกษาธิการ
เมื่อประธานและกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีโอกาสในการทำหน้าที่ต่อไป ภารกิจสำคัญจากนี้คือ จะต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนทั้งประเทศได้ไว้วางใจ เพราะ ป.ป.ช.ถือเป็นองค์กรอิสระที่มีอำนาจในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการเอาผิดนักการเมืองและข้าราชการระดับสูง ที่มักจะใช้อำนาจมิชอบในการแสวงหาผลประโยชน์ที่เป็นบ่อเกิดการทุจริต
ยิ่งร่างกฎหมายว่าด้วย ป.ป.ช.ที่จะประกาศใช้ในเร็วๆ นี้ ได้มีการให้อำนาจ ป.ป.ช.มากมาย อาทิ เสนอมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ หรือองค์กรอัยการ ในเรื่องปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริต การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม
นอกจากนี้ ยังมีอำนาจจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเข้มงวดอีกด้วย และในกรณีที่ความปรากฏต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่ามีการดำเนินการอย่างใดในหน่วยงานของรัฐอันอาจนำไปสู่การทุจริตหรือส่อว่าอาจมีการทุจริต ให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตรวจสอบโดยเร็ว
ดังนั้น เพื่อให้การทุจริตในประเทศหมดไป ป.ป.ช.ต้องดำเนินการทุกคดีทุกกรณีที่เกี่ยวกับการทุจริตอย่างโปร่งใส บริสุทธิ์ เท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะหนีไม่พ้นวงจรทุจริตคอร์รัปชัน
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน