Hot Topic!
ปราบทุจริตคอร์รัปชัน ต้องเอาจริงกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ
โดย ACT โพสเมื่อ Feb 28,2018
- - สำนักข่าวไทยโพสต์ - -
บทความพิเศษ โดย : ถวิล ไพรสณห์
หนังสือพิมพ์หลายฉบับได้ลงข่าว เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม2560 กรณี "สำนักวิจัยซูเปอร์โพล" เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง หน่วยงานของรัฐกับการคอร์รัปชัน จากการศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1-9 ธันวาคม 2560 พบว่า
- ร้อยละ 71.4 มีการทุจริต คอร์รัปชัน เกิดขึ้นทุกหน่วยงาน
- ร้อยละ 28.6 มีการทุจริต คอร์รัปชัน เกิดขึ้นเฉพาะบางหน่วยงาน
ซึ่งจากข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่ามีการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นทุกหน่วยงานก็ว่าได้ ทั้งๆ ที่รัฐบาลยุค คสช.มีการออกกฎหมายปรับปรุง แก้ไขกฎหมาย
- โดยมีการลงโทษหนักขึ้นกว่าเดิม
- ออกกฎหมายวางมาตรการเพื่อป้องกันการทุจริต คอร์รัปชันหลายมาตรการ
- สนับสนุนองค์กรต่อต้านการทุจริต คอร์รัปชันอย่างเปิดเผย ดังเช่น เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2560 ซึ่งถือเป็นวันป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันโลก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ไปร่วมในงานดังกล่าว และปราศรัยว่ารัฐบาลจะเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ และนายกรัฐมนตรีเองยังย้ำว่าตนเองจะไม่คอร์รัปชันเป็นอันขาด และยังขอร้องให้ประชาชนร่วมกันกับท่านในการแก้ไขปัญหาของชาติในเรื่องนี้ด้วย
และจากผลสำรวจครั้งนี้ยังพบว่า
- ร้อยละ 53.4 ระบุว่า ปัญหาทุจริต คอร์รัปชัน เกิดกับหน่วยงานของรัฐ ระดับส่วนกลาง ซึ่งได้แก่ กระทรวง ทบวง กรม รวมหน่วยงานรัฐอย่างรัฐวิสาหกิจที่ส่วนกลางด้วย
- ร้อยละ 25.1 ระบุระดับจังหวัด นั่นก็คือ หน่วยราชการส่วนภูมิภาค เช่น จังหวัด อำเภอ สรรพากร โยธาจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด ที่ดินจังหวัด ฝ่ายปกครองจังหวัด ป่าไม้จังหวัด และหน่วยงานที่อำเภอหรือที่ทำการที่อื่น เป็นต้น
- ร้อยละ 21.5 ระบุระดับท้องถิ่น คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และโพลยังระบุด้วยว่า
- ร้อยละ 58.6 หากคิดจะปฏิรูปตำรวจ ต้องปฏิรูปทุกหน่วยงานรัฐ เพราะปัญหาทุจริต คอร์รัปชัน มีในทุกหน่วยงาน
- ร้อยละ 41.7 เชื่อมั่นต่อความซื่อสัตย์สุจริตของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
- ร้อยละ 38.3 ไม่เชื่อมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ซึ่งเปอร์เซ็นต์ประเด็นที่เกี่ยวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ค่อนข้างใกล้เคียงกันมาก
ข้อที่น่าสังเกตก็คือว่า ตลอดเวลาที่รัฐบาล คสช.บริหารประเทศ จะมีการข่าวจากคนในรัฐบาลว่านักการเมืองเป็นคนขี้โกง และมีแต่เรื่องลบ เรื่องเลวร้าย แต่ทำไมในยุค คสช. การทุจริตคอร์รัปชันจึงมีเปอร์เซ็นต์สูงออกมาดังกล่าว ซึ่งไม่ต่างอะไรกับยุครัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง
เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมจึงมีความเห็นว่า
"นักการเมืองไม่ได้มีพฤติกรรมเป็นคนโกงทุกคน จะมาพูดเหมารวมคงไม่ได้ และความเป็นจริงยังมีนักการเมืองจำนวนไม่น้อยที่มิได้มีพฤติกรรมทุจริต คอร์รัปชัน เหมือนดังที่อ้าง"
ผมมีข้อมูลที่จะให้ผู้อ่านได้พิจารณาและเปรียบเทียบระหว่างนักการเมืองทุกระดับกับเจ้าหน้าที่ประจำ (ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ) คือ
ตั้งแต่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีรัฐมนตรี และมีนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง (ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ) ประมาณ 60 กว่าปี รวมแล้วมีจำนวนประมาณ ไม่เกิน 10,000 คน
- นักการเมืองระดับท้องถิ่นทุกระดับนับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ถึง พ.ศ.2557 ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีจำนวนไม่ถึง 90,000 คน รวมนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งทุกระดับตั้งแต่มีการเลือกตั้งโดยประชาชนเป็นต้นมา (60 ปี) มีประมาณ 100,000 คน ซึ่งในจำนวน 100,000 คนนี้ ผมไม่เชื่อว่าจะมีการทุจริตคอร์รัปชันกันทุกคน
เมื่อเปรียบเทียบกับเจ้าหน้าที่ประจำของกระทรวง ทบวง กรม จังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ รวมแล้วประมาณ 3,000,000 คน และในจำนวน 3 ล้านคนนี้ เป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ประจำของส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ประมาณ 2,000,000 กว่าคน ของ อปท. ประมาณ 600,000 คนถ้าจะถามว่าประชาชนได้ติดต่อกับกลุ่มใดมากที่สุด ระหว่างนักการเมืองกับเจ้าหน้าที่ประจำ คำตอบก็คือ เจ้าหน้าที่ประจำของรัฐอย่างแน่นอน เพราะอำนาจอนุมัติ อนุญาต เกินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นของข้าราชการประจำ
เพราะฉะนั้น ที่ผลการสำรวจเรื่องหน่วยงานของรัฐกับการ
คอร์รัปชันดังที่เขียนตอนต้น จึงออกมาว่า หน่วยงานส่วนกลางทุจริตถึง 53.4 เปอร์เซ็นต์ หน่วยงานภูมิภาค คือ จังหวัด 25.1 เปอร์เซ็นต์ สำหรับหน่วยงานท้องถิ่น 21.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้ารวม 2 ลำดับแรกของผลการสำรวจ คือ เจ้าหน้าที่ประจำทั้งส่วนกลางและจังหวัด รวมกันแล้วถึง 78.5 เปอร์เซ็นต์ และของท้องถิ่นเพียง 21.5 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ เหตุผลสำคัญที่ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค (จังหวัด) มีเปอร์เซ็นต์การทุจริตคอร์รัปชันสูงกว่า อปท.มาก ก็เพราะ 2 หน่วยงานนั้น ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบได้ เจ้าหน้าที่เหล่านั้นจึงไม่เกรงกลัวการตรวจสอบจากประชาชน เพราะอยู่ห่างกัน ไม่เหมือน อปท. นอกจากมีสภาท้องถิ่น ซึ่งมีหน้าที่ดังกล่าวโดยตรงแล้วยังมีประชาชนในพื้นที่ที่อยู่ใกล้ชิด ซึ่งเป็นฝ่ายตรวจสอบได้ง่ายกว่าด้วย
ในความเป็นจริงการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หรือตัวแทนจากกระทรวง ทบวง กรม ส่วนกลางที่ประจำในส่วนภูมิภาค ประชาชนจะไม่รู้ว่าข้าราชการเหล่านั้นมีพฤติกรรมในการทำงานอย่างไรบ้าง เพราะประชาชนไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินงบประมาณที่หน่วยงานเหล่านั้นได้รับแต่ละปีงบประมาณจะนำไปใช้จ่ายอะไรบ้าง ประชาชนก็ไม่รู้ ข้าราชการเหล่านั้นบางคนจึงมีโอกาสกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอันมิชอบได้ง่าย โดยไม่ต้องระมัดระวังว่าจะมีประชาชนมาตรวจสอบ ประกอบด้วย ความเป็นเจ้าขุนมูลนายมีสูง เส้นทางเข้าถึงก็ต้องผ่านขั้นตอนหลายขั้นตอน ประกอบกับในความเป็นจริง เจ้าหน้าที่เหล่านั้นจะมีการโยกย้ายกันบ่อยครั้ง ก็ยิ่งทำให้ประชาชนแทบจะไม่รู้จักก็ว่าได้ ไม่เหมือนเจ้าหน้าที่ อปท. ที่ส่วนใหญ่อยู่ประจำพื้นที่ ประชาชนจึงรู้จักมักคุ้นเป็นอย่างดี อะไรที่เกิดขึ้นในพื้นที่ประชาชนจึงทราบ
ผมเสียดายโอกาสเกือบ 4 ปี ที่ คสช.ขึ้นครองอำนาจรัฐ ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนอย่างมากก็ยังมีอยู่ มีการกล่าวขานกันว่าทุกหน่วยงานของรัฐก็ว่าได้ ทั้งๆ ที่ คสช.มีความตั้งใจตั้งแต่แรกและประกาศอยู่เสมอว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง เช่น การออกกฎหมาย แก้ไขกฎหมาย ให้มีการลงโทษหนักขึ้น ประกาศสนับสนุนองค์กรประชาชนที่ร่วมกันต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นต้น
แต่ก็ยังปรากฏว่า การทุจริตคอร์รัปชันในยุคนี้กลับเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม ทั้งๆ ที่ยุคนี้ไม่ใช่ยุคนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งดังที่ถูกกล่าวหาจากผู้มีอำนาจบ่อยครั้งในเรื่องนี้อยู่ในอำนาจแต่อย่างใด
ข่าวคราวการทุจริตที่เกิดขึ้นมากมายในยุค คสช. แต่รัฐบาล คสช.กลับปล่อยปละละเลยไม่เอาจริงเอาจัง เช่น ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐตรวจสอบกันเอง แล้วก็เงียบหายไปโดยไม่รู้ว่าผลการสอบสวนเป็นอย่างไร ตรงไปตรงมาหรือไม่ มีการลงโทษบ้างหรือไม่อย่างไร และที่น่าสงสัยมากก็คือ ความเคลือบแคลงใจที่ว่าผู้มีอำนาจเข้าไปแทรกแซงกระบวนการสอบสวนโดยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ รวมทั้งการแทรกแซง การเลือกสรรองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบผู้ทุจริตคอร์รัปชันที่มีข่าวรู้กันทั่วไปอีกด้วย และรวมทั้งข่าวคราวการหาผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับแวดวงคนใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจก็ยังไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจัง
ผมเชื่อว่า การทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้น และสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนก็คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐนั่นเอง ทั้งนี้ เพราะประชาชนต้องไปหาเจ้าหน้าที่เหล่านั้น เพื่อขอรับบริการ ซึ่งทั้งประเทศก็จะมีทุกวัน ทุกหน่วยงาน เพื่อขออนุญาต ขออนุมัติ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เฉพาะให้เป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ผลการทำโพลของสำนักวิจัยซูเปอร์โพลจึงปรากฏออกมาดังที่ผมยกมาเขียนอ้างอิงตั้งแต่ตอนต้นของบทความนี้
เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง ผมเห็นว่าในต่างจังหวัด ซึ่งประชาชนจะไปติดต่อกับหน่วยงานของรัฐมากที่สุด จึงควรจะเริ่มจากผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองก่อน ซึ่งตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินเป็นหัวหน้าผู้บังคับบัญชาข้าราชการส่วนภูมิภาคทุกหน่วยงาน และยังเป็นผู้กำกับดูแลองค์กรปกครองท้องถิ่นทั่วประเทศเกือบ 8,000 แห่งด้วย เหตุผลที่ต้องเริ่มต้นตรงนี้เพราะ
- ข่าวคราวเรื่องการซื้อตำแหน่ง บางตำแหน่ง สังคมก็รับทราบ - การทุจริตการสอบเข้าโรงเรียนนายอำเภอก็เกิดขึ้นแม้ในยุค คสช. จนต้องให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้ออกข้อสอบ และทหารเข้าไปคุมสอบ และยังมีการไล่ออกผู้ทุจริตเรื่องนี้ด้วย
- กรณีผู้ว่าราชการจังหวัดคนหนึ่งถูกดำเนินการใช้อำนาจออกคำสั่งประกาศเขตภัยพิบัติในจังหวัด ทั้งๆ ที่ไม่มีภัยพิบัติเกิดขึ้นจริง แต่ก็ได้ใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการนี้ไปแล้ว
ผมมีตัวอย่างจากคนรู้จักที่ ขอสำเนาใบสูติบัตร เพื่อทำวีซ่าเข้าประเทศออสเตรเลีย ผมก็ถามเขาว่าต้องเสียเงินเกินกว่า 10 บาท เป็นค่ารับรองตามกฎหมายหรือไม่ เขาตอบว่าต้องจ่ายให้ปลัดอำเภอผู้รับรองสำเนา 2,000 บาท กรณีอย่างนี้ผู้ยากไร้จะเดือดร้อนแค่ไหนเมื่อไปติดต่อราชการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่เกี่ยวกับทะเบียนราษฎร ชื่อบุคคล และทะเบียนบุคคลอื่นๆ ก็เกิดขึ้นทำนองเดียวกัน
- การอนุญาตตาม พ.ร.บ.โรงแรม ซึ่งเป็นอำนาจของอธิบดีกรมการปกครองในเขตกรุงเทพมหานคร (ทั้งๆ ที่อำนาจนี้ควรเป็นของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร) และผู้ว่าราชการจังหวัดในต่างจังหวัด ซึ่งมีผู้เล่าให้ฟังว่าจะต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อให้ใบอนุญาตออกมาได้
- กรณีใบอนุญาตปืนหนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับลงวันที่ 19 ธันวาคม 2560 คอลัมน์ อาณาจักรโล่เงิน เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า การขออนุญาตมีใบ ป.3 เพื่อขอซื้อปืนต้องเสียค่าลงนามให้ผู้มีอำนาจในการอนุมัติครั้งละ 5,000 บาท ถึง 10,000 บาท แล้วแต่ขนาดของปืน ที่จริงข่าวเรื่องใบอนุญาตปืนเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องมานานแล้ว แม้สมัยหนึ่งที่จัดให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็ไม่มีข้อยกเว้น
- การออกใบอนุญาตชนไก่ ชนโค การพนันบางประเภทที่อนุญาตได้ หรืออื่นๆ รู้กันว่าต้องทำอย่างไร จึงจะได้ใบอนุญาต
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้นที่ฝ่ายปกครองคือสายอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และตำแหน่งที่เรียกชื่ออื่นที่มีอำนาจอนุญาตและอนุมัติ ทำให้ประชาชนเดือดร้อน เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายที่มิได้เป็นไปตามกฎหมาย
เพราะฉะนั้น ในส่วนภูมิภาคถ้ารัฐบาลจะแก้ปัญหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่ ก็ต้องเริ่มกวดขัน เอาจริงเอาจัง กับข้าราชการฝ่ายปกครองก่อน เพราะเมื่อใดฝ่ายปกครองทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตแล้ว ข้าราชการส่วนภูมิภาคอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอที่ซื่อสัตย์เป็นตัวอย่างแล้ว ก็คงไม่กล้าทุจริตคอร์รัปชันต่อไป
ความจริงที่ผมเสนอมานี้ ผมเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่ไปติดต่อราชการทุกหน่วยราชการคงทราบดี แต่ไม่กล้าออกมาพูดหรือให้ข่าว
สำหรับราชการส่วนกลาง คือ กระทรวง กรม หรือหน่วยงาน อื่นๆ ที่เทียบเท่า การขออนุมัติหรืออนุญาต ก็มีข่าวหาผลประโยชน์เบี้ยบ้ายรายทางเกือบทุกโต๊ะที่ผ่านเอกสาร ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนมาเป็นเวลานาน
และยิ่งในยุค คสช. ที่ข้าราชการเป็นใหญ่ คือ เป็นทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและเป็นผู้ออกกฎหมาย หรือแก้ไขกฎหมายด้วย ก็จะบัญญัติให้การอนุมัติหรืออนุญาตเป็นของข้าราชการในส่วนกลาง ซึ่งเป็นการรวมศูนย์มากกว่าเก่า ประชาชนทั่วไปส่วนใหญ่ของประเทศก็จะยิ่งเดือดร้อนหนักขึ้น
เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหานี้จะมีผลสัมฤทธิ์ได้ก็คือ ต้องกระจายอำนาจการปกครองไปให้ประชาชนปกครองตนเอง และประชาชนนั่นแหละจะเป็นผู้แก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
นอกจากนั้น ยังมีข่าวการทุจริตคอร์รัปชันจากสำนักข่าวอิศราและหนังสือพิมพ์บางฉบับ กรณีโครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท พ.ศ.2558 งบประมาณ 39,000 ล้านบาท) โดยการเปิดเผยของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ ป.ป.ช. ก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เพราะเท่าที่ตรวจสอบภายหลังจบโครงการของบางจังหวัด เช่น จังหวัดแพร่ พบว่าที่ทำการปกครองอำเภอทุกแห่งมีความบกพร่องหลายด้าน ได้แก่
- ดำเนินโครงการไม่เป็นไปตามหนังสือสั่งการและหลักเกณฑ์การขอใช้สถานที่
- ดำเนินการซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น
- ดำเนินการไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ด้านการเงินและพัสดุ
- กำหนดราคากลางสูงกว่าความเป็นจริง
- การจ้าง การซื้อ การเบิกจ่ายเงินผิดระเบียบฯลฯ
โดยสรุปของ สตง.ระบุว่า เป็นความบกพร่องของที่ทำ การปกครองทุกอำเภอในจังหวัดนี้ และสำนักข่าวอิศรายังเปิดเผยต่อไปว่า ป.ป.ช.พบว่าหลายจังหวัดหรือทุกจังหวัดก็ว่าได้ที่ใช้งบนี้ไม่โปร่งใส มีพฤติกรรมส่อทุจริตและสั่ง ป.ป.ช.จังหวัดทุกจังหวัดลุยสอบ
นี่คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำไมผมจึงเสนอให้แก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในหน่วยงานของฝ่ายปกครองของจังหวัดและอำเภอก่อน ก็เพราะฝ่ายปกครองเป็นผู้มีอำนาจมากที่สุดในราชการส่วนภูมิภาค จึงต้องปฏิบัติงานเป็นตัวอย่างของหน่วยงานของรัฐอื่นๆ
ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่ผมต้องเขียนบทความนี้เพื่อชี้ให้ คสช.เห็นว่า คนที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนมากที่สุดและกระจายอยู่ทั่วประเทศในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันอันดับแรกก็คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่บริการประชาชนนั่นเอง ส่วนจะมีจำนวนมากน้อยแค่ไหนผมไม่อาจทราบได้
และที่น่าเป็นห่วงต่อไปก็คือ เมื่อมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นก็มีข่าวคราวจากผู้มีอำนาจว่าได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ก็คือข้าราชการในสังกัดเดียวกัน และบางกรณีก็ได้โยกย้ายให้ไปช่วยราชการที่อื่นก่อนในระหว่างสอบสวนแล้วเรื่องนั้นก็เงียบหายไป โดยส่วนใหญ่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น และเจ้าหน้าที่รัฐผู้นั้นก็ยังปฏิบัติหน้าที่ตามปกติเหมือนคนที่ไม่เคยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดและถูกสอบสวนแต่อย่างใด นี่แหละราชการไทย.
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน