Hot Topic!

เมื่อการทุจริตมาในรูปแบบเงินรับบริจาค

โดย ACT โพสเมื่อ Feb 14,2018

- - สำนักข่าวแนวหน้า - -

 

คอลัมน์ ลงมือสู้โกง  โดย : ชนิภรณ์ นาทอง

 

หากพูดถึง"การให้"ในสังคมไทยซึ่งเป็นลักษณะนิสัยที่โดดเด่นเนื่องจากคนไทยนิยมทำบุญ ชอบบริจาคเงิน สิ่งของ รวมไปถึงการไปทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์เพื่อช่วยเหลือสังคม คนยากไร้ ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ผ่านหลากหลายช่องทาง เช่น องค์กรศาสนา องค์กรการศึกษา องค์กรการกุศลสาธารณประโยชน์หรือการบริจาคเงินให้แก่บุคคลธรรมดาผ่านช่องทางสื่อ Social Media เป็นต้น

 

ที่กล่าวว่าคนไทยนิยมทำบุญนั้น ไม่ได้มาจากจินตนาการของผู้เขียนเอง แต่มีข้อมูลเชิงสถิติสนับสนุน โดยงานสัมมนา เรื่อง "ชวนสังคมร่วมลงทุน" เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้กล่าวถึงยอดการบริจาคเงินของคนไทยในปัจจุบัน พบว่า ประเทศไทยมียอดเงินที่รับบริจาคเพื่อการกุศลโดยเฉลี่ยปีละกว่า 7 หมื่นล้านบาท ใน รายละเอียดสำนักข่าวไทยพับลิก้าได้นำฐานข้อมูลภาษีของกรมสรรพากรมาวิเคราะห์พบว่าในปี 2551 มีผู้เสียภาษีนำใบเสร็จรับเงิน-ใบอนุโมทนาบัตรมาหักลดหย่อนภาษีกับกรมสรรพากร แบ่งเป็นการบริจาคเงินเพื่อการศึกษาถึง 29,929 ล้านบาท และบริจาคเงินอื่นๆ อีกกว่า 25,307 ล้านบาท ส่วนการทำบุญ

 

โดยจิตศรัทธาไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ในแต่ละปีนั้นมีมูลค่ามากน้อยเพียงใดยังคงเป็นปริศนาอยู่ เพราะยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาทำการสำรวจ แต่ผู้เขียนคาดเดาว่าคงเป็นตัวเลขที่สูงทีเดียว

 

อย่างไรก็ตาม ภาพความสุขของผู้ให้และผู้รับเงินบริจาคเหล่านี้ บ่อยครั้งที่ถูกเบียดบังด้วยความทุกข์จากข่าวการทุจริตเงินบริจาค เช่น การทุจริตเงินทำบุญวันที่ 1 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา สำนักข่าวไทยพีบีเอส รายงานว่า ทหารและกรมป่าไม้เข้าไปตรวจค้นสำนักปฏิบัติธรรมในจังหวัดกาญจนบุรี หลังจับกุมร่างทรงอ้างเป็น "เจ้าหญิงเมืองแก้ว" หลอกลวงเงินผู้มาทำบุญกว่า 70 ล้านบาท จะเห็นได้ว่ามิจฉาชีพเหล่านี้อาศัยความศรัทธาของประชาชนเป็นช่องทางแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน อีกกรณีจากข่าววันที่ 3 เมษายน 2560 สำนักข่าวไทยพีบีเอสรายงานหญิงชาวบุรีรัมย์ นำหลักฐานเข้าร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรมเพื่อตรวจสอบและเอาผิดชาวเนเธอร์แลนด์ เปิดมูลนิธิบังหน้าขอรับบริจาคเงิน อ้างจะนำไปช่วยเหลือโรงเรียนและเกษตรกรที่มีฐานะยากจน แต่กลับพบว่านำเงินไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว

 

ที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือเมื่อสื่อ Social Media  เข้ามามีบทบาทและมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของคนในสังคม และเป็นสื่อกลางกระจายข้อมูลข่าวสารอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว โดยหลายครั้งขาดการตรวจสอบข้อมูล จึงเป็นการสร้างโอกาสการทุจริตเพื่อหา ผลประโยชน์จากการให้ของคนไทย เชื่อว่าผู้อ่านคงเคยเห็นการเรี่ยไรเงินผ่านช่องทางสื่อ Social Media เช่น Facebook Fanpage ชื่อดังที่มี ผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก นำเสนอเรื่องราวขอรับบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้หรือผู้ที่เดือดร้อน โดยใช้ประโยคเรียกความน่าสงสารจากผู้อ่าน เช่น ขอคนละ 1 แชร์สงสารน้อง คนไทยไม่ทิ้งกันช่วยเหลือเด็กพิการ หรือ บริจาคเงินเพื่อไปเลี้ยงอาหารบ้านเด็กกำพร้า หากใครสนใจช่วยเหลือติดต่อมาทาง Inbox พร้อมกับโอนเงินได้

 

เพจเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางรวบรวมเงินบริจาคซึ่งมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ให้ความสนใจและเข้ามาช่วยเหลือผ่านการโอนเงิน แต่เราเคยตั้งคำถามไหมว่า เงินที่เราโอนไปให้เพจเหล่านี้ ถูกนำไปช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนได้จริงๆ เต็มจำนวนหรือไม่ เพราะเราแทบจะไม่เคยเห็นกระบวนการใดๆ เข้ามาตรวจสอบหรือจัดการเงินบริจาคเพื่อให้เกิดความโปร่งใสเลย

 

ดังนั้นผู้เขียนจึงได้ประมวลความรู้ความคิดจากงานวิจัยของ ภาสกร โควินท์ (2553) เรื่อง"การขอบริจาคเงินเพื่อการกุศลบนเครือข่ายทางสังคมออนไลน์ : กรณีศึกษาการขอบริจาคเงินเพื่อการกุศลบนเครือข่ายทางสังคมออนไลน์ hi5 ในประเทศไทย"มาสรุปเป็นข้อเสนอแนวทางในการป้องกันและตรวจสอบการจัดการเงินบริจาค เพื่อลดโอกาสการทุจริตเงินบริจาคอย่างง่ายๆ 3 ข้อ ดังนี้

 

หนึ่ง ก่อนที่จะบริจาคเงินผู้บริจาคควรจะมีการตรวจสอบเนื้อหา ข้อมูล ที่มีการนำเสนอผ่านสื่อ Social Media อย่างถี่ถ้วนเพื่อพิจารณาว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ด้วยการขอข้อมูลเพิ่มเติมเช่น ข้อมูลในด้านที่อยู่อาศัยของผู้ที่เดือดร้อน ซึ่งผู้ขอรับบริจาคควรจะสนับสนุนข้อมูลเหล่านี้ เช่น แสดงแผนที่ที่มีการระบุพิกัด GPS ได้อย่างชัดเจน เพื่อผู้ให้บริจาคสามารถเดินทางไปหาได้ด้วยตัวเอง เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างความโปร่งใสแล้ว ยังเป็นการสร้างความน่าเชื่อถืออีกด้วย

 

สอง ผู้บริจาคควรมีการติดตามการใช้จ่ายเงินบริจาคเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตและเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ขอตรวจสอบและเรียกร้องให้มีการอัพเดทเงินในบัญชี รวมถึงให้มีการชี้แจงการใช้จ่ายเงินบริจาคอย่างสม่ำเสมอ

 

สาม ผู้บริจาคควรขอข้อมูลจากผู้ที่ถูกอ้างว่าได้รับความเดือดร้อนหรือจากผู้ที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น ผู้นำท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน ที่จะประสานงานภายในพื้นที่นั้นๆ เช่น ขออี-เมล เบอร์โทรศัพท์ที่จะสามารถติดต่อได้จากเพจหรือ ผู้ที่นำเสนอเรื่องราวการรับบริจาคเงิน

 

มาถึงจุดนี้ ผู้อ่านอย่าเพิ่งกังวลว่า ทำไมแค่จะบริจาคเงินจึงต้องทำอะไรมากมายขนาดนี้ นั่นเพราะในปัจจุบันนอกจากมีหลายองค์กรที่มี ชื่อเสียงที่ดีและมีความน่าเชื่อถือสูงอยู่แล้ว ยังมีช่องทางการบริจาคใหม่ๆ หลายช่องทางที่มีการสร้างความโปร่งใสที่ดี มีระบบการติดตามการใช้จ่ายเงิน และที่สำคัญคือมีกระบวนการสร้างความเข้าใจปัญหาสังคมเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้บริจาคสามารถมีส่วนร่วมได้มากกว่าแค่เพียงบริจาคเงินเท่านั้น เช่น เว็บไซต์ เทใจ.com  ที่ช่วย คัดกรองโครงการเพื่อสังคมในด้านต่างๆที่จะเข้ามาขอรับบริจาค และติดตามการทำงานของโครงการต่างๆเหล่านี้ด้วย หรือ กองทุนธรรมาภิบาลไทยที่แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านธรรมาภิบาล เข้ามาช่วยคัดกรองโครงการที่จะมาขอรับทุนสนับสนุน เพื่อให้เงินแต่ละบาทของคนไทยสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีต่อสังคมไทยได้จริง

 

แนวทางป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตเป็นเพียงปัจจัยเบื้องต้นเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามการป้องกันการทุจริตจะมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อประชาชนให้ความร่วมมือ สร้างความตระหนักรู้ที่จะเฝ้าระวังติดตามและตรวจสอบการจัดการเงินรับบริจาค อีกทั้งรัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีนโยบายหรือมาตรการ เข้มงวดมากขึ้นในการเข้ามาตรวจสอบการรับบริจาคเงินผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ เพื่อไม่ให้เกิดการทุจริตจากตัวกลางที่อาศัยความใจบุญของ ผู้ให้ได้

 

 

 
 

 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw