Hot Topic!

ขสมก.ถูกตั้งคำถามความโปร่งใส

โดย ACT โพสเมื่อ Jan 09,2018

- - สำนักข่าวแนวหน้า - -

 

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือขสมก.ถือเป็นรัฐวิสาหกิจที่ประสบความล้มเหลวมากที่สุดรัฐวิสาหกิจหนึ่งนับตั้งแต่ก่อตั้งมาจากผลการขาดทุนซ้ำซากจนมียอดขาดทุนเกือบ 1 แสนล้านบาท และที่สำคัญคือข้อครหาในเรื่องอื้อฉาวที่ส่อไปในทางทุจริตมาตลอด

 

การจัดซื้อจัดจ้างของขสมก.ที่ถูกตั้งข้อสงสัยถึงความโปร่งใสล่าสุด คือกรณีที่มีการทำสัญญากับบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) ในการเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมอุปกรณ์ (E-Ticket)และเครื่องเก็บค่าโดยสารหยอดเหรียญ (Cash Box) บนรถโดยสารประจำทาง หรือรถเมล์ จำนวน 2,600 คัน มูลค่าโครงการ 1,665 ล้านบาท ในระยะสัมปทาน 5 ปี แต่หลังจากติดตั้งเครื่องหยอดเหรียญได้เพียง 800 คัน ปรากฏว่าเกิดปัญหาการใช้งาน โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วนเครื่องรองรับไม่ไหวจนทำให้เกิดปัญหารถติด ทำให้ในที่สุดผู้บริหารขสมก.ต้องสั่งยุติการติดตั้งเครื่องหยอดเหรียญบนรถเมล์ที่เหลืออีก 1,800 คัน

 

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯกทม. ฝ่ายโยธาและจราจร และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการคมนาคมขนส่ง เคยชี้ว่าการยุติการติดตั้งเครื่องหยอดเหรียญดังกล่าวสะท้อนถึงความเร่งรีบโครงการทั้งๆที่ยังไม่พร้อมทำให้งบประมาณที่ขสมก.ลงทุนไปกลายเป็นความสิ้นเปลืองและซ้ำซ้อนเพราะขสมก.มีโครงการเตรียมซื้อรถเมล์ใหม่อยู่แล้ว

 

ดร.สามารถยังชี้ว่า การเช่าระบบบัตรโดยสารและเครื่องหยอดเหรียญบนรถเมล์ 2,600 คัน ระยะสัมปทาน 5 ปี มูลค่า 1,665 ล้านบาท ที่ขสมก.ต้องจ่ายค่าเช่าคันละประมาณ 640,000 บาท นับว่าสูงมาก ซึ่งเงินจำนวนนี้สามารถซื้อรถเมล์เอ็นจีวีที่ขสมก.กำหนดราคาไว้คันละ 3.65 ล้านบาท ได้ถึง 456 คัน

 

นอกจากล้มเหลวและสร้างความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดินอันเกิดจากการยุติโครงการเครื่องหยอดเหรียญบนรถเมล์แล้ว ขสมก.ยังถูกตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในการคัดเลือกบริษัทเอกชนในโครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน มูลค่า 4,221 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าราคากลางที่กำหนดไว้ที่ 4,020 ล้านบาทหรือเกินกว่าราคากลางประมาณ 5% หรือตกคันละ 8.6 ล้านบาท ท่ามกลางข้อครหาว่า ว่าทำไมคณะ ผู้บริหารของ ขสมก. ถึงเร่งรีบการจัดซื้อเป็นพิเศษ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ บริษัท Guizhou Guihang Yunma Aotomobile Industry จำกัด ซึ่งถือหุ้นโดยรัฐบาลจีน ร้อยเปอร์เซ็นต์ ยื่นเสนอขายรถปรับอากาศแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี จำนวน 489 คัน ด้วยเงื่อนไขพิเศษ แถมแบบให้เปล่าอีก 489 คัน รวมถึงการซ่อมบำรุงตลอดระยะเวลาในสัญญา ซ้ำเสนอราคาที่ต่ำกว่าราคากลางที่ขสมก.กำหนดมาก แต่ผู้บริหารขสมก.อ้างว่าจากการสอบถามเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ได้รับคำชี้แจงว่าบริษัทของจีนดังกล่าวเป็นเพียงรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลท้องถิ่นไม่ใช่รัฐวิสาหกิจของรัฐบาลกลางของจีนจึงอาจไม่เข้าเกณฑ์ที่จะทำสัญญาซื้อขายแบบจีทูจีได้

 

อีกทั้งมติของคณะกรรมการบริหารให้จัดซื้อครั้งนี้ไม่เป็นเอกฉันท์ และมีข่าวว่าต้องลงมติกันถึง 2 รอบและสรุปลงด้วยมติที่มีคะแนนเฉียดฉิวมากสะท้อน ให้เห็นถึงพิรุธและความไม่เป็นเอกภาพแม้แต่ใน คณะผู้บริหารของขสมก.เอง

 

ที่สำคัญบริษัทเอกชนที่คณะผู้บริหารขสมก. มีมติเลือกซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คันก็คือกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ซึ่งเป็นการรวมตัวเฉพาะกิจของบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) ร่วมกับบริษัทสแกนอินเตอร์ จำกัด (มหาชน) ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) เพิ่งจะมีปัญหาเรื่องสัญญาเช่าเครื่อง หยอดเหรียญที่ใช้การไม่ได้ รวมทั้งก่อนหน้านี้ก็มีปัญหาโครงการปรับปรุงรถโดยสารในส่วนของการปรับปรุงแชสซีและครอบตัวถังรถโดยสารใหม่จำนวน 57 คัน วงเงิน 114 ล้านบาท ซึ่งบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) ไม่สามารถส่งมอบให้บริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) ได้ทันตามสัญญา

 

จากพิรุธที่ส่อไปในทางไม่โปร่งใสของขสมก.ที่เกิดขึ้นจึงควรมีการตรวจสอบทำความจริงให้ปรากฏ โดยความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดินจากโครงการเครื่องยอดเหรียญบนรถเมล์ก็ควรต้องมีผู้รับผิดชอบ

 
 
 
 
 
 
 
 
 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw