Anti-Corruption Information

ดร.มานะ นิมิตรมงคล” ฝากการบ้าน “ผู้นำรัฐบาล” เร่งปราบคอร์รัปชันโค้งสุดท้ายโรดแมป

โดย ACT โพสเมื่อ Jan 03,2018

- - สำนักข่าวสยามรัฐ - -


“ถ้าประชาชนกำลังพยายามที่จะสู้ สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นคือผู้มีอำนาจรัฐทำในสิ่งที่ถูกต้อง มีความซื่อสัตย์ โปร่งใส เป็นแบบอย่างที่ดี แต่ถ้าประชาชนสู้ แต่ผู้นำของประเทศยังทำไม่ดี บางทีประชาชนก็เบื่อหน่าย และทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมตามมา”

 

“รัฐบาลปราบโกง” คือคำจำกัดความที่รัฐบาลยุคนี้สร้างขึ้นมาเพื่อประกาศเป้าหมายและการขับเคลื่อนภารกิจการปราบปรามปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ทั้งนี้ ทางรัฐบาลเองมีการออกกฎหมายที่มีความเข้มข้นมากขึ้น ทำให้เรียกเสียงเชียร์จากประชาชนได้ไม่น้อย และขณะที่การดำเนินงานต่างๆ ในเรื่องการปราบโกงของรัฐบาลชุดนี้กำลังไปได้สวย ในทางกลับกันก็ดูเหมือนว่ารัฐบาลชุดนี้เกือบตกม้าตาย เพราะคนในรัฐบาลหรือคนใกล้ตัวของตัวเองด้วยเช่นกัน !

 

วันนี้เราจะมาฟังเสียงสะท้อนในเรื่องของการปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชั่น รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การนำของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านบทสัมภาษณ์พิเศษ "ดร.มานะ นิมิตรมงคล" เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย)

 

- ความตื่นตัวของสังคมไทยต่อปัญหาการทุจริต คอรัปชั่น วันนี้มีความแตกต่างจากที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง

วันนี้มีความชัดเจนว่าคนไทยเข้าใจปัญหาการคอร์รัปชั่นมากขึ้น รู้ว่าส่งผลเสียต่ออนาคตของทุกคนอย่างไร ทำให้คนไทยสนใจและอยากเข้ามามีส่วนร่วมกับการต่อต้านคอร์รัปชั่นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโพลที่ทำการสำรวจโดยสถาบันทางวิชาการของคนไทย หรือองค์กรระหว่างประเทศ อย่างองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ จะพบข้อมูลไปในทางเดียวกัน

 

-การตื่นตัวของประชาชนที่มีการออกมาช่วยกันขุดคุ้ย มองว่าเป็นข้อดีอย่างไรบ้าง

จากบทเรียนที่ทุกคนเห็นวาเราสู้กับคอร์รัปชั่นมาหลายสิบปี แต่ไม่สามารถควบคุมการคอร์รัปชั่นได้ มันกลับเลวร้ายลงเรื่อยๆ ดังนั้น แนวโน้มใหม่ที่เราเห็นและเชื่อว่ามันเป็นทิศทางที่ถูกต้อง คือการอาศัยพลังประชาชนเป็นแกนหลักในการต่อสู้กับคอร์รัปชั่น

สถานการณ์ของประเทศไทย ได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่าดีขึ้น ในภาพรวม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะความตื่นตัวของภาคประชาชน สื่อมวลชน และที่แปลกไม่เหมือนใครในโลก คือภาคธุรกิจเอง ที่ออกมาร่วมเป็นกำลังสำคัญในการแก้ไขปัญหาด้วย

 

-ทางองค์กรจะมีการส่งเสริมหรือขับเคลื่อนภาคประชาชนอย่างไรบ้าง

จากประสบการณ์การทำงาน 6 ปีที่ผ่านมา เราสรุปบทเรียนได้ว่า สิ่งที่เราต้องทำให้ได้ คือการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายภาคประชาชน ทำให้ทุกคนลุกขึ้นมาใช้ขีดความสามารถ และทรัพยากรของตัวเองในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นร่วมกัน การที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อต้านคอร์รัปชั่นนั้น ไม่ได้หมายถึงการเข้ามาทำงานกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่เราอยากเห็นมากกว่านั้นคือการที่ทุกคนจับมือกันและร่วมกันทำสิ่งที่ตัวเองต้องการทำ ใครถนัดด้านไหนก็ทำด้านนั้น

 

-อย่างสถิติการลดการคอร์รัปชั่นในปีนี้ ถือว่าเป็นที่น่าพอใจกว่าปีที่ผ่านมาหรือไม่

ใช่ครับ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หากถามว่าการคอร์รัปชั่นลดลงหรือไม่ จากข้อมูลสำรวจ เราไม่เห็นข้อมูลในทางนั้น แต่สิ่งที่เรายังเชื่อว่าดี และยังดีต่อเนื่องคือ 1.ความตื่นตัวของประชาชนที่จะเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น และ 2.การที่ประเทศไทยมีกลไก มีเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชั่นระยะยาวมากขึ้น เช่น นโยบายของรัฐบาล การออกกฎหมาย การมีกลไกที่ให้แต่ละฝ่ายมาทำงานร่วมกัน

ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องที่บอกว่าแนวโน้มในสถานการณ์คอร์รัปชั่นมันจะดีขึ้น แต่ถ้าเราถามประชาชนเรื่องการคอร์รัปชั่น เราก็จะได้ยินข้อมูลทำนองว่าการคอร์รัปชั่นในหน่วยราชการ ในระบบราชการหรือในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังเลวร้าย ยังทำกันหนักหนา ยังมีการรีดไถประชาชนเหมือนเดิม

 

- มองว่าหน่วยงานที่ยังคงมีการคอร์รัปชั่นกันอย่างหนักคือหน่วยงานราชการ

หน่วยงานรัฐส่วนใหญ่ อย่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร ผลสำรวจยังคงเหมือนกับปีที่ผ่านมา สิ่งที่เรารับฟังมาคือคนพวกนี้รู้ว่ากลไกของรัฐเล่นงานเขาไม่ได้ ไปไม่ถึงเขา เขากล้าที่จะทำ แถมยังออกมาบอกว่าจะต้องจ่ายมากขึ้นกว่าเดิม เพราะต้องไปจ่ายทหารด้วย นี่คือสิ่งที่เขาพูดกัน

หากถามว่าจ่ายจริงหรือไม่ เราก็ยืนยันไม่ได้ แต่ข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏสู่สายตาประชาชน มีการคอร์รัปชั่น ที่เกี่ยวกับทหารอยู่มาก ซึ่งข้อมูลที่ปรากฏตามสื่อ ทำให้คนเชื่อว่า เขาต้องนำเงินไปจ่ายให้กับทหารจริง ซึ่งทางองค์กรเองตอบไม่ได้ว่าจะจริงหรือไม่จริง จะแก้ตัวให้ก็ไม่ได้ ทางทหารต้องพิสูจน์ตัวเอง สิ่งที่ปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์เขาต้องแก้ไขให้ได้ ถ้าไม่สามารถแก้ไขได้ คนก็จะเชื่อมโยงกัน

 

-ในเรื่องของเครื่องมือ กลไก และกฎหมายในการปราบปรามการทุจริต มองว่าเรามีเครื่องมือเหล่านี้มากกว่าประเทศอื่นหรือไม่

ไม่เลย ... แต่ในช่วง 4 ปีนี้ เรามีสิ่งเหล่านี้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของเมืองไทย เมื่อเทียบกันในเรื่องของช่วงเวลา ด้านองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชน พบว่าคนไทย 72 เปอร์เซ็นต์ เห็นดีด้วยกับความพยายามของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ซึ่งตีความได้ว่าประชาชนเห็นว่าปัญหาการคอร์รัปชันร้ายแรง และน่าเบื่อหน่าย ดังนั้นถ้ารัฐบาลจะทำอะไรที่เด็ดขาด รุนแรง และเข้มงวด ประชาชนก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุน

 

-อย่างที่บอกว่าประชาชนพร้อมที่จะเห็นด้วยกับรัฐบาลที่จะเข้มข้นเรื่องการทุจริต แต่ที่ผ่านมาในส่วนของรัฐบาลเองที่ยังถูกกล่าวหาว่ามีการทุจริต มองว่าจะเป็นการลดความน่าเชื่อถือในตัวรัฐบาลหรือไม่

แน่นอน ถ้าประชาชนกำลังพยายามที่จะสู้ สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นคือผู้มีอำนาจรัฐทำในสิ่งที่ถูกต้อง มีความซื่อสัตย์ โปร่งใส เป็นแบบอย่างที่ดี แต่ถ้าประชาชนสู้ แต่ผู้นำของประเทศยังทำไม่ดี บางทีประชาชนก็เบื่อหน่าย และทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมตามมา

ปัญหามากมายในประเทศก็เกิดจากเรื่องพวกนี้ คือผู้นำประเทศไม่ได้ทำในสิ่งที่ประชาชนคาดหวัง อย่าลืมว่าผลที่ตามมาคือ ถ้าผู้นำประเทศโกง ข้าราชการระดับรองลงมาถึงระดับล่างเขาก็จะโกงตามไปด้วย แล้วผู้นำที่จะโกงได้ก็ต้องมีการสร้างเครือข่าย

โดยเครือข่ายในที่นี้คือนักการเมืองท้องถิ่น และข้าราชการระดับล่างลงมา ถ้าข้าราชการโกงประชาชนก็จะเรียนรู้ว่าใครๆ ก็โกง โกงแล้วก็ไม่เห็นเป็นอะไร ดังนั้น ประชาชนก็จะโกงด้วย เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เลวร้าย เราก็จะกลายเป็นสังคมของคนโกง และจะไม่มีใครลุกขึ้นมาต่อต้านคอร์รัปชันอีกต่อไป

 

-อย่างรัฐบาลชุดนี้ก็มีการเรียกตัวเองว่า “รัฐบาลปราบโกง” ส่วนตัวมองว่าความสำเร็จในการปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชันของรัฐบาลในชุดนี้ มากน้อยแค่ไหน เมื่อเทียบกับรัฐบาลชุดที่ผ่านๆ มา


ภาพรวมในเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันในช่วง 4 ปีนี้ มันดีกว่าในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบจากรายงานการวิจัยของรัฐสภา ขณะที่ 10 ปีก่อนหน้านี้ไม่มีอะไรเลย แต่ในช่วง 4 ปีนี้มีความชัดเจนในเรื่องการออกกลไก และความพยายามในการแก้ปัญหาการคอร์รัปชัน สำหรับโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่ตกเป็นข่าวน้อยลง แต่ไม่ได้แปลว่าไม่มี

ในส่วนการแก้ปัญหาการคอร์รัปชันในปัจจุบัน ทางองค์กรพยายามสะท้อนภาพให้เห็น พวกกฎหมายที่รัฐบาลออกมานั้น ในวันนี้อุปสรรคสำคัญคือไม่ได้รับการปฏิบัติตาม ทุกคนยังนิ่งเฉยและหาทางเล็ดรอดไป แต่เชื่อว่าในวันข้างหน้ามาตรการเหล่านี้จะมีการปฏิบัติตามมากขึ้น

เราก็พยายามผลักดันกลไกเข้าไป เช่น พยายามคุยกับรัฐบาลว่าขอให้รัฐบาลเร่งรัดตรวจสอบ ขณะเดียวกันเราก็มีโครงการให้ภาคประชาชนเข้าไปช่วยกันตรวจสอบช่วยกันลงคะแนนว่าเวลาที่เข้าไปใช้บริการหน่วยงานของรัฐนั้น มีการปรับปรุงการแก้ไขการทำงานจริงหรือไม่ นี่คือโครงการCitizen Feedback หลายๆ เรื่องเราอยากให้ประชาชนเป็นคนประเมินการทำงานของภาครัฐว่าเขาทำดีขึ้นหรือไม่ มีอะไรที่ไม่ชอบ หรือเวลาไปที่หน่วยงานนั้นๆ ประชาชนโดนรีดไถ โดนค่าน้ำร้อนน้ำชาเท่าไหร่ มากแค่ไหน


ดร.มานะ นิมิตรมงคล

 

- ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าไม่มีนักการเมืองที่เคยถูกโจมตีว่าเป็นส่วนหนึ่งของการคอร์รัปชัน แต่ยังพบว่ามีปัญหาเรื่องของการทุจริตเกิดขึ้น จุดนี้กำลังสะท้อนอะไรได้บ้าง

สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างชัดเจนคือปีที่ผ่านมาคะแนนความโปร่งใสของรัฐบาลตกลง องค์กรนานาชาติให้ความเห็นว่ากลไกการตรวจสอบที่เป็นอิสระไม่สามารถทำงานได้ เช่น สื่อมวลชน หรือภาคประชาสังคม หรือนักวิชาการ ไม่มีเสรีภาพในการตรวจสอบ ขณะเดียวกัน เราก็จะเห็นข่าวว่าองค์กรอิสระ หรือองค์กรภาครัฐถูกครอบงำ นี่คือสิ่งที่ต่างชาติเห็นและทำให้คะแนนประเทศไทยตก และหากวันนี้เรายังพิสูจน์สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำไม่ได้ดีขึ้นมันก็จะตกลงไปอีก

 

- ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นตามโรดแมป ในฐานะที่ทำงานด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน อยากฝากอะไรถึงประชาชนในฐานะที่เป็นโหวตเตอร์

ถ้าเราจะสร้างอนาคตของประเทศ หลักประกันสำคัญไม่ใช่การมีกฎหมายมากๆ ไม่ใช่การมีหน่วยงานของรัฐที่ยิ่งใหญ่ แต่ต้องเป็นความเข้าใจและพร้อมที่จะลงมือออกมาทำอะไร เพื่อความสำเร็จของประชาชน

 

-แน่นอนว่าเมื่อมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ประเทศก็ต้องกลับไปสู่ยุคนักการเมือง พรรคการเมือง มองว่าพรรคการเมืองและตัวนักการเมืองเองควรจะต้องมีการประกาศจุดยืนด้านการแก้ไขปัญหาการทุจริตหรือไม่ อย่างไรบ้าง

เรื่องนี้จำเป็นมาก สิ่งที่เราคาดหวังคือในช่วงเทศกาลปีใหม่ถ้าพรรคการเมืองทุกพรรคออกมาบอกกับประชาชนเลยว่าตัวเองจะให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันอย่างไร และอะไรบ้าง เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้เป็นข้อมูลตั้งแต่เริ่มต้น สิ่งนี้จะกลายเป็นความคาดหวังที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลชุดปัจจุบันจากวันนี้ไปจนถึงก่อนการเลือกตั้งด้วยเช่นเดียวกัน

 

-ที่ผ่านมาการปราบปรามการทุจริตในประเทศไทย เรามีจุดแข็ง หรือจุดอ่อนด้านไหนบ้าง

ความเชื่อผิดๆ ในสังคมที่ถูกครอบงำมานาน ว่าใครๆ ก็โกง สิ่งนี้เป็นความเชื่อผิดๆ ที่ทำให้เราพบว่าคนส่วนใหญ่เมื่อมีโอกาสแทนที่จะทำความดีกลับฉกฉวยโอกาสด้วยอำนาจที่ตัวเองมี หาประโยชน์ใส่ตัว ขณะที่ในระบบราชการเราจะพบว่ามีสภาพของการโกงในองค์กรเยอะมาก จนทำให้ใครก็ตามที่อยู่ในหน่วยงานหรือเป็นผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานนั้นไม่อยากยุ่ง เมื่อมีการคอร์รัปชันในหน่วยงานทุกคนก็จะลอยตัว และนิ่งเฉยและคิดว่าเดี๋ยวก็มีองค์กรอื่นๆ เข้ามาตรวจสอบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันไม่ถูกต้อง

 

- โจทย์ข้อยากเรื่องการปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชันของรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาหลังการเลือกตั้ง คืออะไร

การสานต่อภารกิจการปฏิรูปประเทศด้านการต่อต้านคอร์รัปชันเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย สำหรับรัฐบาลใหม่ แต่สิ่งที่ยากกว่าคือตัวนายกฯ และคณะรัฐบาลทุกคนต้องพิสูจน์ตัวให้สังคมเห็นว่าพวกเขามือสะอาดจริงๆ ถ้าทำได้รับรองว่าการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันนั้นง่าย มาก

 

- ต้องการฝากอะไรถึงสังคม ผู้มีอำนาจ ข้าราชการ หรือผู้ที่มีบทบาทสำคัญในประเทศ

คนที่มีโอกาส และมีอำนาจอยู่ในรัฐบาล หรืออยู่ในทางการเมืองวันนี้ ท่านได้โอกาสมาด้วยอำนาจพิเศษที่ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ขอให้ท่านคิดถึงอนาคตของลูกหลานมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว และประวัติศาสตร์จะจารึกคุณงามความดีของท่าน...


เรื่อง : พัชรพรรณ โอภาสพินิจ

ภาพ : พสุพล ชัยมงคลทรัพย์

 
 
 
 
 
 
 
 
 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw