Hot Topic!
2560 ล้างบางวงการสงฆ์ เช็กบิล'ธรรมกาย-เงินทอนวัด'
โดย ACT โพสเมื่อ Jan 03,2018
- - สำนักข่าวผู้จัดการรายวัน - -
2560 ปีแห่งการทำความสะอาดให้วงการพระพุทธศาสนา ออกมาตรา 44 ทุ่มกำลังควานหาตัวพระธัมมชโย แต่คว้าน้ำเหลว เปลี่ยนตัวผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธฯ เดินหน้าคดีทุจริตเงินทอนวัด พบวัดใหญ่พัวพัน จนพระผู้ใหญ่เคืองออกโรงบีบรัฐบาลย้าย 'พงศ์พร' แต่ย้ายได้ไม่กี่วัน ตั้งกลับที่เดิม เซอร์ไพรส์เจ้าทุกหนออกคำสั่งเข้มงวดวินัยพระ-เณร แค่ 8 เดือนธรรมกายฟื้นเตรียมรุกกิจกรรมใหญ่ธุดงค์ธรรมชัย
ในรอบปี 2560 เรื่องของวงการสงฆ์นับว่าอยู่ในความสนใจของผู้คนเป็นจำนวนมาก ด้วย 2 เหตุการณ์ใหญ่ ทั้งวัดพระธรรมกายและการตรวจสอบทุจริตเงินทอนวัด แม้ในอดีตจะเคยมีความพยายามเข้ามาแก้ปัญหาอยู่บ้าง แต่ท้ายที่สุดยุติลง ด้วยโครงสร้างของคณะสงฆ์ที่เต็มไป ด้วยสายสัมพันธ์ระหว่างศิษย์กับอาจารย์ จนไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในแวดวงดงขมิ้น
ปีที่ผ่านมาไม่มีเหตุการณ์ใดโด่งดังเท่ากับกรณีของวัดพระธรรมกาย ซึ่งเป็น เหตุการณ์ที่เชื่อมโยงมาตั้งแต่ปี 2559 อันเนื่องมาจากคดีทุจริตสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น ที่มีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์ฯ ได้โยกย้ายเงินออกมาและโอนเข้าบัญชีของพระเทพญาณมหามุนีหรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายใน ขณะนั้น
จนกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ขออนุมัติศาลออกหมายจับพระธัมมชโย ในคดีความผิดฐานสมคบและร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร และศาลได้อนุมัติหมายจับเมื่อ 17 พฤษภาคม 2559 และต้องมารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 26 พฤษภาคมปีเดียวกัน แต่สุดท้ายพระธัมมชโยก็ไม่มาพบเจ้าหน้าที่ด้วยข้ออ้างเรื่องอาพาธ และ คณะศิษย์ของวัดได้ออกมาปกป้องพระเดชพระคุณหลวงพ่อของพวกเขา
จนข้ามเข้ามาในปี 2560 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 5/2560 เรื่อง มาตรการให้ อำนาจกำหนดพื้นที่ควบคุมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย ควบคุมพื้นที่ วัดพระธรรมกายเพื่อนำพระธัมมชโยมาดำเนินคดี เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560
ทุกหน่วยงาน ทุกสาขาและเครือข่ายของวัดพระธรรมกายทั้งในและต่างประเทศ พระในวัดและบรรดาลูกศิษย์ รวมไปถึงนักการเมืองในพรรคเพื่อไทย ต่างออกโรงมา ปกป้องด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อกดดันรัฐบาลไทยและเพื่อฟ้องชาวโลก รวมไปถึงพระวิระธุ จากพม่าที่โด่งดังในเรื่องการปลุกให้ชาวพุทธพม่าต่อต้านชาวโรฮีนจาที่นับถือศาสนาอิสลาม จนมี การปะทะกันและเป็นปัญหาผู้อพยพจนถึงวันนี้
คณะสงฆ์มะบะธะที่มีพระวิระธุเป็นแกนนำ ได้ยื่นหนังสือกราบทูลสมเด็จ พระสังฆราชของไทยผ่านทางสถานทูตไทยที่กรุงย่างกุ้ง เพื่อขอให้ยุติการดำเนินการให้ พระธัมมชโยปาราชิก ตามมาด้วยพระสงฆ์ของพม่าได้ออกมาชุมนุมประท้วงรัฐบาลไทย เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2560 ที่เมืองมัณฑะเลย์ และเรียกร้องให้ตำรวจ ทหารถอนกำลังออกจากวัดพระธรรมกาย
24 กุมภาพันธ์ 2560 พระสงฆ์และฆราวาสในนามกลุ่มชาตินิยมพุทธ (มะบะธะ) ได้เดินทางไปที่สถานทูตไทยประจำกรุงย่างกุ้ง เรียกร้องให้รัฐบาลอย่าใช้ความรุนแรงและให้ยกเลิกมาตรา 44 กับวัดพระธรรมกายโดยไม่มีเงื่อนไข
แต่ไม่มีผลใดๆ การควานหาพระธัมมชโยบนพื้นที่กว่า 2 พันไร่ยังดำเนินต่อ สุดท้ายก็ไม่พบพระธัมมชโย จนต้องยุติการค้นหาเมื่อ 10 มีนาคม 2560 และมีคำสั่งยกเลิก มาตรา 44 ที่ควบคุมพื้นที่วัดพระธรรมกายในวันที่ 11 เมษายน 2560
* เงินทอนวัด-สะเทือนทั้งบาง
อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาที่มีการควบคุมพื้นที่วัดพระธรรมกาย ได้มีคำสั่ง เปลี่ยนแปลงตัวผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจาก นายพนม ศรศิลป์ มาเป็น พันตำรวจโทพงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ เมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2560
หลังจากเรื่องของวัดพระธรรมกายผ่านพ้นไป โดยไม่สามารถจับพระธัมมชโยมาดำเนินคดีได้ เกิดเหตุการณ์ใหญ่สำหรับวงการพระพุทธศาสนาอีกกรณีหนึ่งนั่นคือการตรวจสอบคดีทุจริตเงินทอนวัด ซึ่งมีอดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 2 คน คือ นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ นายพนม ศรศิลป์ และรองผู้อำนวยการฯ อีก 1 คน นางสาวประนอม คงพิกุล เข้าไปเกี่ยวข้อง
ด้วยวิธีการที่ติดต่อกับทางวัดว่าทางสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ จะจัดสรรเงินเพื่อ ใช้ในการบูรณะวัด แต่จะต้องมีการคืนเงินจำนวนหนึ่งกลับมาที่เจ้าหน้าที่ ด้วยข้ออ้างว่า จะนำไปช่วยเหลือวัดอื่นๆ ที่ยังขาดแคลน อัตราการเรียกเงินคืนอยู่ที่ 80% ของงบที่ได้รับ
ขบวนการนี้มีการโอนเงินไปยังวัดต่างๆ ทั่วประเทศ วัดใหญ่ๆ อย่างวัดพนัญเชิง ที่อยุธยา ทำให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูล ความผิดบุคคลทั้ง 3
นับเป็นอีก 1 คดีประวัติศาสตร์ที่สาธารณชนไม่เคยทราบมาก่อนว่ามีขบวน การทุจริตในรูปแบบนี้
ในระหว่างที่มีการตรวจสอบการทุจริตเงินทอนวัด ทำเอาพระเถระชั้นผู้ใหญ่ทั้งนอกและในมหาเถรสมาคมแสดงอาการไม่พอใจออกมาอย่างชัดเจน มีการกดดันการทำงานของพันตำรวจโทพงศ์พร ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธฯ คนใหม่อย่างเปิดเผย เรียกร้อง ให้มีการเปลี่ยนตัว หนึ่งในวัดใหญ่ที่ถูกตรวจสอบและปฏิเสธที่จะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจสอบนั่นคือ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ จนในที่สุดรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลในเวลานั้นได้ โยกย้ายให้พงศ์พรไปเป็นผู้ตรวจราชการในพื้นที่ชายแดนภาคใต้
จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างมาก เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวนั้นมีฐานสนับสนุนวัดพระธรรมกายอยู่เป็นจำนวนมาก อีกทั้งขณะนั้นยังมีพระมหาอภิชาต ที่มีแนวคิดตอบโต้ทางศาสนากับเหตุการณ์ในพื้นที่ภาคใต้ ฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทกับพงศ์พรอยู่ และเตรียมที่จะต้อนรับแบบจัดหนักให้ เท่ากับคำสั่งย้ายในครั้งนี้ไม่ต่างไปจากการส่งพงศ์พรลงไปในพื้นที่สังหาร
* เจ้าคณะหนฯ ออกคำสั่งเข้ม
แต่สุดท้ายรัฐบาลได้มีการย้ายพงศ์พรกลับมาที่เดิม พร้อมเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธฯ มาเป็นคนใหม่ และการดำเนินการตรวจสอบคดีทุจริตเงินทอนวัดยังคงดำเนินต่อไป สร้างความผิดหวังให้กับพระชั้นผู้ใหญ่ไม่น้อยที่ดีใจได้เพียงไม่นาน
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อมีการย้ายพงศ์พร กลับเข้ามานั่งเก้าอี้เดิมคือ เจ้าคณะหนใหญ่ทุกภาคต่างออกคำสั่งให้พระสงฆ์ สามเณร ปฏิบัติตนโดยยึดพระธรรมวินัยเป็นหลักและให้พระสังฆาธิการเป็นผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด ส่วนเจ้าคณะกรุงเทพมหานครเพิ่มเติมเรื่องของการจัดระเบียบวัตถุมงคลเพิ่มเข้ามาอีก เป็นเหตุให้เจ้าคุณธงชัย พระดังเจ้าของยันต์เลสเตอร์ต้องหายไปจากวัดไตรมิตรฯ
นับเป็นอีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เรื่องพระ-เณร ที่ประพฤติผิดพระธรรมวินัย ถูกละเลยมานาน รวมไปถึงเรื่องราวของการปลุกเสกวัตถุมงคลต่าง ๆ ที่เป็นไปในเชิงพุทธพาณิชย์
* 8 เดือนฟื้น
ย้อนกลับไปที่วัดพระธรรมกายหลังจากที่ยกเลิกมาตรา 44 เมื่อ 11 เมษายน 2560 แม้ศรัทธาของลูกศิษย์จะหายไปบางส่วน แถมลูกศิษย์กระเป๋าหนักต้องคดีหลายคน ทำให้กระทบต่องานบุญของทางวัดอยู่ไม่น้อย แต่กิจกรรมบุญของวัดพระธรรมกาย ยังคงเดินหน้าต่อ พร้อมด้วยความพยายามในการสร้างความยอมรับในผู้นำใหม่อย่าง พระทัตตชีโว ให้ขึ้นมาแทนพระธัมมชโย ทุกกิจกรรมมุ่งไปที่การเชิดชูพระทัตตชีโวแทน ขนาดเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีได้แต่งตั้งพระครูสังฆรักษ์รังสฤษดิ์ อิทธิจินตโก มาเป็น เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย แต่กลับไม่ได้รับการโปรโมตจากทางวัด
แค่ระยะเวลาเพียง 8 เดือน หลังจากที่วัดพระธรรมกายไร้ผู้นำอย่างพระธัมมชโย แต่ถึงวันนี้กลับมาแข็งแรงได้อีกครั้ง หลายกิจกรรมบุญมีผลการตอบรับที่ดี แม้กระทั่ง ชาวพม่าที่มาทำงานในประเทศไทยยังมาจัดงานทำบุญครั้งใหญ่ที่วัดพระธรรมกายถึง 2 ครั้ง แต่ละครั้งมากกว่า 1 หมื่นคน
กิจกรรมที่สร้างความฮือฮาเป็นอย่างมากในช่วงปลายปีของวัดพระธรรมกาย คือกิจกรรมปลูกต้นเบญจทรัพย์ (เบญจมาศ) 1 หมื่นต้น เริ่มต้นปลูก 1,000 ต้นแรกเมื่อ 3 พฤศจิกายนตรงกับวันลอยกระทง ที่เหลือปลูกในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2560 ในชุด 1 หมื่นต้นแรกนั้นกำหนดไว้ว่า ท่านที่ร่วมบุญจะทำคนเดียวหรือรวมกันเป็นกลุ่มเพื่อทำ 1 กองก็ได้ ร่วมบุญ 1 กอง จะได้สิทธิ์ปลูกต้นเบญจทรัพย์ 1 ต้น และติดป้ายชื่อไว้ที่เบญจทรัพย์ต้นนั้นและจะได้รับพระของขวัญพิเศษสุดเป็นรูปเหมือนพระมงคลเทพมุนี(สด จนฺทสโร) เนื้อโลหะ รุ่นเบญจทรัพย์ 1 องค์ การเข้าร่วมบุญกำหนดไว้ที่ต้นละ 1 หมื่นบาท เบ็ดเสร็จได้เงินเข้ากองทุน 100 ล้านบาท
เมื่อ 1 หมื่นต้นแรกประสบความสำเร็จทางวัดเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจมาร่วมกันปลูกให้ครบ 6 ล้านต้น พร้อมทั้งแจ้งว่าปลูกฟรี มีรถรับส่งไปยังแปลงปลูก 300 ไร่ ที่ตั้งชื่อว่าทุ่งสวรรค์ตะวันฉาย โดยมีป้าเช็งน้ำหมัก เป็นแม่งานในการปรับพื้นที่
การปลูกในช่วงเดือนธันวาคมนั้นคืบหน้าไปได้ไม่มาก เนื่องจากทางวัดได้จัดงานฉลอง อายุครบ 77 ปีให้กับพระทัตตชีโว พร้อมด้วยการสวดธัมมจักกัปปวัตนสูตร 277.77 ล้านจบเมื่อ 21 ธันวาคม 2560 อีกทั้งทางวัดเพิ่งแจ้งว่าต้องปลูกให้ครบ 6 ล้านต้นภายในสิ้นปี 2560 จึงเหลือเวลาปลูกเพียงไม่กี่วัน และยังมีการเปลี่ยนแปลงการปลูกจากเดิมที่ต้องมาปลูกที่แปลง ปรับมา เป็น 4 ล้านต้นที่เหลือปลูกลงกระถางพร้อมทั้งเชิญชวนให้ร่วมบุญซื้อกระถาง เพื่อปลูกกระถางละ 2-3 ต้นไปพร้อมกัน
ทั้งหมดของโครงการใหญ่อย่างการปลูกต้นเบญจทรัพย์ 6 ล้านต้นนั้น ระบุว่าเพื่อนำไปใช้ในการโปรยบนทางเดินให้กับพระสงฆ์ที่จะเข้าร่วมพิธีเดินธุดงค์ นั่นคือการฟื้นกิจกรรมครั้งใหญ่ของทางวัดพระธรรมกายที่เคยสร้างความลือลั่นมาแล้วในอดีต ทั้งนี้ดอกเบญจมาศจะเริ่มออกดอกต้องใช้เวลาตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป ซึ่งจะตรงกับกิจกรรมเดินธุดงค์ที่ทางวัดเล็งไว้ในเดือนมีนาคม 2561
หากไม่ถูกทางการสั่งห้ามทำกิจกรรมดังกล่าว ย่อมเป็นการแสดงถึงสัญลักษณ์ของการ ฟื้นกลับมาของวัดพระธรรมกายครั้งใหม่
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน