Hot Topic!
สางทุจริต'เงินทอนวัด'ปมฉาวแห่งปี'วัด-สำนักพุทธฯ'ร้อนฉ่า
โดย ACT โพสเมื่อ Dec 27,2017
- - สำนักข่าวคมชัดลึก - -
กลายเป็นปมฉาวในวงการศาสนากรณี "เงินทอนวัด" ที่เป็นการทุจริตงบประมาณที่ส่วนกลางจัดสรรเงินให้วัดนำไปดำเนินกิจกรรมด้านพัฒนาพระพุทธศาสนา ทั้งเรื่องสถานที่และการเผยแผ่ศาสนา เมื่อตำรวจปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ บก.ปปป. นำกำลังเข้าตรวจค้นถึง 2 ครั้งในหลายจังหวัดในปี 2560 เพื่อตรวจค้นบ้านพักข้าราชการระดับสูงสังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.)และเครือข่าย เพื่อค้นหาเอกสารที่เชื่อมโยงการทุจริตดังกล่าว หลังตรวจพบว่ามีการทุจริตสูงกว่า 100 ล้านบาท
งบประมาณดังกล่าว พศ.ได้จัดสรรเป็น "เงินอุดหนุน" ที่จ่ายให้แก่วัดทั่วประเทศ โดยมีจุดประสงค์คือ 1.เงินอุดหนุนเพื่อการบูรณปฏิสังขรณ์วัด ประมาณ 500 ล้านบาทต่อปี 2.เงินอุดหนุนเพื่อการศึกษาพระปริยัติธรรม ประมาณ 1,200 ล้านบาทต่อปี และ 3.เงินอุดหนุนเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ประมาณ 600 ล้านบาทต่อปี
เจ้าหน้าที่พบว่าเงินเพื่อการบูรณปฏิสังขรณ์ มีผู้ที่เกี่ยวข้องไปขอคืนเงินโดยก่อนการโอนงบไปให้จะไปตกลงกับวัดว่าต้องการตัวเลขเท่าไหร่ จากนั้นโอนงบไปให้สูงกว่าเงินที่ต้องการจริงแล้วให้คนตามไปรับคืน ซึ่งก็คือที่มาของคำว่า "เงินทอนวัด" สำหรับเงินอุดหนุนเพื่อการศึกษาพระปริยัติธรรมก็พบว่ามีการรายงานยอดนักเรียนโรงเรียนปริยัติธรรมแผนกสามัญเป็นเท็จอย่างมโหฬาร เพื่อให้ได้รับ "เงิน รายหัว" เกินจริงมากกว่า 7,000 คน จนพศ.ต้องสั่งงดจ่ายเงินอุดหนุนศึกษาพระปริยัติธรรมของปี 2560 และสุดท้ายคือเงินอุดหนุนเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ก็พบเช่นกันว่าเมื่อโอนเงินไปแล้วจะมีเจ้าหน้าที่ตามไปรับคืนจากวัดโดยไม่จัดกิจกรรมตามวัตถุประสงค์
จึงเห็นได้ว่าการทุจริต เงินทอนวัดมีมูลค่าเสียหายจำนวนมากและกระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ และเกี่ยวพันในวงกว้าง กระทบ ต่อภาพลักษณ์วงการศาสนา อย่างมาก
ในการตรวจสอบครั้งแรก หรือ "เงินทอนวัดลอตแรก" หลังหน่วยงานภาครัฐได้รับเบาะแสจึงตรวจสอบงบประมาณปี 2555-2558 ที่มีการเบิกจ่าย 33 วัด พบว่าวัดที่เข้าข่ายทุจริต 12 วัด อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ 6 วัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 วัด ภาคกลาง 2 วัด และภาคใต้ 1 วัด โดยพบมีการทุจริตกว่า 60.5 ล้านบาท มีผู้ต้องหา 10 ราย โดยมี นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ อดีต ผอ.พศ. ที่หลบหนีไปต่างประเทศรวมอยู่ด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ทำสำนวนส่งฟ้องป.ป.ช.ไปแล้ว สำหรับข้าราชการสังกัดพศ. รวมทั้งดำเนินคดีกับบุคคลทั่วไปที่เป็นเครือข่ายร่วมทุจริต
กระทั่งวันที่ 21 กันยายน 2560 ได้ระดมกำลังตรวจสอบครั้งที่สองกว่า 10 จุดในหลายจังหวัดเช่นกัน พบทุจริตงบอุดหนุนทั้ง 3 ประเภท จำนวน 23 วัด มีมูลค่าความเสียหาย 141 ล้านบาท มีผู้ต้องหา 19 ราย เป็นข้าราชการ 13 คน รวมทั้งอดีตข้าราชการระดับบิ๊กของพศ.อีกราย คือนายพนม ศรศิลป์ อดีต ผอ.พศ. รวมทั้งพระชั้นผู้ใหญ่ 4 รูป และบุคคลทั่วไปอีก 2 คน ขณะเดียวกันยังเดินหน้าตรวจสอบทุจริตเงินทอนวัดลอต 3 โดยมีพศ.เป็นหน่วยงานหลัก มีตำรวจ ปปป.และปปง.ช่วยประสานงานตรวจสอบงบประมาณตั้งแต่ปี 2550 ขึ้นมา
ทั้งนี้ ภาพรวมการตรวจสอบทุจริตเงินทอนวัดพบว่ามีเรื่องร้องเรียนเข้ามายังหน่วยตรวจสอบ อาทิ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ(บก.ปปป.) และสำนักงานป้องกันและ ปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) รวมทั้งสิ้น 498 เรื่อง ผลการตรวจสอบพบว่าคดีมีมูลการ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ 173 เรื่อง โดยบางส่วนอยู่ในขั้นตอนดำเนินคดีและบางส่วนอยู่ ขั้นตอนการตรวจสอบ และยังพบด้วยว่าบางเรื่องเกิดซ้ำขึ้นในวัดแห่งเดียว เนื่องจากมีการตั้งโครงการเพื่อขอรับงบประมาณหลายครั้ง ในส่วนของพระสงฆ์นั้นหากพิจารณาในแง่กฎหมายอาจถือว่าเข้าองค์ประกอบความผิดทางอาญาฐานร่วมกันทุจริต แต่ในชั้นการดำเนินคดีอาญายังต้องพิสูจน์เจตนา
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ได้ส่งหนังสือกราบทูลไปยังสมเด็จพระสังฆราช ในฐานะประธานคณะกรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) ได้ทรงทราบว่ามีพระสงฆ์ร่วมกระทำความผิดจนถึงการตรวจสอบ ณ ปัจจุบัน จำนวน 4 รูป ซึ่งได้ออกหมายเรียกไปแล้ว โดยหนึ่งในนั้นคือ พระครูกิตติพัชรคุณ เจ้าอาวาสวัดลาดแค เจ้าคณะอำเภอชนแดน จ.เพชรบูรณ์ ถูกนำตัวเข้าคุมขังที่เรือนจำกลางพิเศษกรุงเทพมหานคร หลังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวในคดีที่ตกเป็นผู้ต้องหาในความผิดฐานฟอกเงินคดีทุจริตเงินอุดหนุนวัด โดยพระครูกิตติพัชรคุณได้ยื่นหลักทรัพย์ 4 แสนบาทขอประกัน แต่ศาลพิเคราะห์ว่าอาจจะหลบหนีหรืออาจจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานในชั้นนี้จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ให้ยกคำร้อง ทำให้พระครูกิตติ พัชรคุณต้องขาดจากความเป็นพระไปโดยปริยาย
ล่าสุด 19 ธันวาคม 2560 "วรวิทย์ สุขบุญ" รองเลขาธิการป.ป.ช. เปิดเผยผลการชี้มูลความผิด นายนพรัตน์ และนายพนม รวมทั้ง น.ส.ประนอม คงพิกุล รองผอ.พศ.กับพวก ทุจริตโครงการเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัด กรณีวัดพนัญเชิงวรวิหาร ได้รับงบอุดหนุนในปี 2557-2558 โดยพบการทุจริตเป็นขบวนการ มีการวางแผนแบ่งหน้าที่กันทำเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกทำหน้าที่ติดต่อวัดเจรจาเข้าไปพูดคุยว่าพศ.มีงบให้วัดสนใจหรือไม่ ส่วนกลุ่มที่ 2 รับหน้าที่จัดทำเอกสารหลักฐานเพื่อขออนุมัติตามขั้นตอนราชการ และกลุ่มที่ 3 ผู้มีอำนาจอนุมัติงบประมาณ
ชั้นไต่สวนพบว่าในปี 2557 น.ส.ประนอม ขณะดำรงตำแหน่ง ผอ.กองพุทธศาสนสถาน ได้เข้าไปติดต่อวัดพนัญเชิงเพื่อมอบเงินอุดหนุนวัด 10 ล้านบาทแต่ทางวัดต้องให้โอนคืน 8 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ทำกิจกรรมอื่นที่ไม่สามารถเบิกจ่ายงบได้ จากนั้นตั้งเรื่องให้นายนพรัตน์อนุมัติแล้วให้วัดโอนเงินกลับมาเข้าบัญชีของบุคคลใกล้ชิดของนายนพรัตน์ นำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวและพบการทุจริตงบปี 2558 เกิดเหตุทำนองเดียวกันไปติดต่อวัดพนัญเชิงเสนอให้งบ 10 ล้านบาทโดยมีนายพนมเป็นผู้อนุมัติ แล้วมีการโอนกลับคืน 5 ล้านบาท
จนถึงตอนนี้ บก.ปปป.ส่งสำนวนคดีมาให้ป.ป.ช.ดำเนินการลอตแรก 47 สำนวน ส่วนลอตที่ 2 จำนวน 23 สำนวน โดยพบว่ามีผู้เกี่ยวข้องกลุ่มเดียวกันและผู้เกี่ยวข้องรายใหม่มีพฤติการณ์กระทำผิดใกล้เคียงกันและเป็นเรื่องที่ร้องตรงมายังป.ป.ช.จำนวน 62 เรื่อง รวมทั้งสิ้น 97 เรื่อง ได้ตั้งอนุกรรมการไต่สวนแล้ว 8 เรื่อง คาดว่าจะใช้เวลาไม่นานในการไต่สวนชี้มูลความผิด
การเดินหน้าสางปม "เงินทอนวัด" ยังต้องดำเนินคดีอีกมากเพราะกำลังตรวจสอบลอตที่ 3 และอาจจะมีลอตอื่นๆ ตามมาอีกด้วย รวมไปถึง พระสงฆ์อีกจำนวนหนึ่งที่ต้องทำให้เกิดความกระจ่างจากการถูกกล่าวหาเข้าข่ายร่วมกระทำผิดด้วย เพราะการทุจริตเงินทอนวัดอาจกล่าวได้ว่ามีผลสะเทือน "วงการผ้าเหลือง" ไปด้วย แต่มองอีกมุมหนึ่งก็นับเป็นการก้าวคืบเพื่อ "ปฏิรูปศาสนา" ให้เกิดความโปร่งใส
ประการสำคัญต้องไม่เลือกปฏิบัติ เดินหน้ากวาดล้างจริงจัง และนำตัวมาลงโทษ เพื่อขจัดขบวนการเหลือบที่หากินกับศาสนาให้หมดไป
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน