Hot Topic!
จุฬาฯเปิดตัวศูนย์วิจัยคอร์รัปชันแนวใหม่
โดย ACT โพสเมื่อ Dec 27,2017
- - สำนักข่าวแนวหน้า - -
คอลัมน์ ต่อต้านคอร์รัปชัน โดย : รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค
ต่อตระกูล:เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสไปร่วมงานสัมมนาและเปิดตัวศูนย์ SIAM lab ซึ่งย่อมาจาก Social Integrity Architecture and Mechanism design หรือภาษาไทยคือ ศูนย์ทดลองการออกแบบสถาปัตยกรรมและกลไกสร้างสำนึกต่อสังคมซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพ เรียกได้ว่าเป็นงานส่งท้ายปีที่ผมชอบมาก เพราะเต็มไปด้วยสาระและความคึกคักมาก
ที่กล่าวว่าเต็มไปด้วยสาระก็เพราะงานนี้มีเชิญวิทยากรมาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศมาเล่าประสบการณ์และความเห็นต่อการทำงานวิจัยเรื่องคอร์รัปชัน วิทยากรจากองค์กรระหว่างประเทศมาเล่าแนวทางต่อต้านคอร์รัปชันที่เขาเคยพบเห็นทั่วโลกที่ไทยเราอาจนำมาประยุกต์ใช้ได้ และปิดท้ายด้วยการบรรยายที่เฉียบคมของว่าที่ผู้อำนวยการศูนย์ SIAM lab แห่งนี้
ส่วนที่บอกว่าคึกคัก ก็เพราะ งานนี้ สามารถเชิญสหายผู้ร่วมอุดมการณ์ต่อต้านคอร์รัปชันจำนวนมากที่เคยทำงานด้วยกันมาเป็นเวลานานแต่ไม่ค่อยได้พบเจอกันแล้วทุกวันนี้ เหมือนเป็นงานเลี้ยงรุ่นเพื่อนเก่านักทำงานต่อสู้กับคอร์รัปชันเลยทีเดียว นอกจากนี้ก็ยังได้เห็นคนรุ่นใหม่ไฟแรงจำนวนมากที่มาร่วมงานช่วยทำให้คนที่ทำงานเรื่องนี้มานานอย่างผมมีความหวังขึ้นมาได้มาก
แต่มีข้อหนึ่งที่สงสัยคือ ชื่อของศูนย์ SIAM lab ที่มีคำว่า การออกแบบสถาปัตยกรรมอ่านชื่อดูแล้วเหมือนกับมีอะไรเกี่ยวกับการออกแบบของสถาปนิกอยู่ด้วยหรือเปล่า
ต่อภัสสร์: ยินดีมากที่พ่อชอบงานสัมมนานี้ ผมเองมีส่วนเป็นนักวิจัยในศูนย์ SIAM lab ด้วย จึงขออนุญาตเล่าความเป็นมา และ แนวทางการทำงานของ SIAM lab พอสังเขปดังนี้นะครับ ก่อนอื่นเรื่องชื่อศูนย์ SIAM lab ที่มีคำว่า การออกแบบสถาปัตยกรรม นั้นไม่ได้เป็นการออกแบบอาคารบ้านเรือน แต่คือการนำกระบวนการออกแบบนั้นมาใช้ในการสร้างสำนึกต่อสังคมของคนไทย
ศูนย์ SIAM lab เริ่มมาจากโครงการวิจัยสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน ที่ สกว. ให้การสนับสนุนนักวิจัยกลุ่มหนึ่งนำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ทำการศึกษาการคอร์รัปชันในสังคมไทยและแนวทางลดการคอร์รัปชันลงไป ผ่านเครื่องมือทางวิชาการต่างๆ ที่ไม่จำกัดอยู่เพียงแค่เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก รัฐศาสตร์ และกฎหมายเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการทดลองเชิงพฤติกรรม การศึกษาการพัฒนาการของชุมชนเชิงสังคมวิทยา การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analysis ) การวิเคราะห์ทางภาษาศาสตร์ และการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงของเครือข่ายอีกด้วย ด้วยความหลากหลายทั้งศาสตร์ที่มาใช้ในการศึกษาและความเชี่ยวชาญของคณะ ผู้วิจัยเอง ทำให้โครงการวิจัยนี้มีความแตกต่างจากโครงการวิจัยคอร์รัปชันอื่น ๆ ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ งานวิจัยต่างๆ ในโครงการนี้อ้างอิงอยู่บนพื้นฐานของโลกความเป็นจริงอย่างมาก โจทย์วิจัยถูกตั้งขึ้นมาร่วมกันระหว่างนักวิชาการกับคนในพื้นที่เพื่อนำไปใช้ประโยชน์จริง พร้อมเก็บข้อมูลและทดลองกับทั้งผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้และคนท้องถิ่นที่มีประสบการณ์จริงด้วย สิ่งนี้จะทำให้งานวิจัยไม่ถูกไปวางไว้บนหิ้ง แต่สามารถสร้างผลกระทบได้จริงตั้งแต่ระหว่างกระบวนการศึกษาเลย
และเมื่อโครงการวิจัยนี้มีความหลากหลายสูง การนำมาร้อยเรียงเรื่องราวให้สอดคล้องครอบคลุมจึงมีความท้าทายมาก แต่ก็ไม่เกินความสามารถของหัวหน้าโครงการอย่างอาจารย์ธานี ดังนั้นผมเชื่อว่าในต้นปีหน้า เมื่อรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ตีพิมพ์เผยแพร่ออกมา จะต้องสร้างผลกระทบอย่างมากต่อวงการต่อต้านคอร์รัปชันในไทยอย่างแน่นอนครับ
ต่อตระกูล: นั่นคือผลงานในปีที่ผ่านมาของ SIAM lab ใช่ไหม แล้วต่อไปจะทำอะไรบ้างล่ะ
ต่อภัสสร์: ตามที่อาจารย์ธานี ได้นำเสนอไปในวันสัมมนาว่า ลักษณะเฉพาะของการแก้ปัญหาคอร์รัปชันในสังคมไทยที่ผ่านมามีความบกพร่องอยู่หลักๆ 3 จุด ได้แก่ หนึ่ง เน้นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วมากกว่าการมองไปข้างหน้า สอง สังคมมีบทบาทในการสร้างปัญหามากกว่ามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา และสาม ระบบการลงโทษมีประสิทธิภาพมากกว่าการแสดงความรับผิดชอบ จึงนำมาสู่แนวทางของ SIAM lab 3 ประการ คือ หนึ่ง สร้างภาพ อนาคตของสังคมไทยในเรื่องสำนึกต่อสังคม สอง สร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมและบูรณาการทางนโยบาย และสาม สร้างองค์ความรู้ใหม่และเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ของสังคม
ทั้งนี้เพื่อเดินตามแนวทางดังกล่าว SIAM lab จึงแบ่งส่วนการวิจัยออกเป็น 3 ทีม คือ ทีมข้อมูล ทีมภาคสนาม และทีมพฤติกรรม โดยทีมข้อมูลนั้นมีเป้าหมายในการพัฒนาเครื่องมือในการต่อสู้คอร์รัปชันบนพื้นฐานของข้อมูลและองค์ความรู้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เช่น การสร้างฐานข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพเกี่ยวกับการคอร์รัปชันในสังคมไทย ผ่านกรอบทฤษฎีต่างๆ เช่น Experimental Survey, Choice Experiment, Big Data, Text-Mining, Game Online, และ Network Analysis
ทีมพื้นที่ ซึ่งศึกษาความหมายและแนวปฏิบัติร่วมกันของชุมชน เพื่อให้เข้าใจความคิดความเข้าใจของคนไทยต่อการคอร์รัปชันอย่างแท้จริง ไม่ใช่เข้าใจตามความหมายของนักวิชาการหรือผู้บริหารประเทศเท่านั้น โดยการใช้การศึกษาแบบ Participatory Action Research, Institutional Analysis และ Field Experiment
สุดท้ายคือทีมพฤติกรรม ที่มุ่งพัฒนาการออกแบบการสื่อสาร ทั้งเนื้อหา กระบวนการ และช่องทาง ที่มีประสิทธิผลและมีส่วนร่วมสูงที่สุด เพื่อวิเคราะห์ประสิทธิผลของการสื่อสารที่มีต่อการต่อสู้คอร์รัปชันในสังคมไทย โดยใช้เครื่องมือ Behavioral Economics, Metaphor Analysis (Linguistics), Content Analysis, Networking Economics, Bourdieu's Habitus, และ New Media and Modern Communication
จะเห็นได้ว่าศูนย์ SIAM lab มีการแบ่งส่วนการศึกษาอย่างเป็นระบบ และมีเป้าหมายที่ชัดเจน ที่สำคัญคือสามารถรวบรวมนักวิจัยที่คิดต่างกันมาร่วมคิดร่วมถกเถียงกันได้ ไม่ถูกจำกัดอยู่ภายใต้บริบทของคนดีเท่านั้นที่จะต่อสู้คอร์รัปชันได้ ผมจึงมีความหวังที่สูงมากกับ SIAM lab ที่จะจุดประกายสิ่งที่สามารถสร้างผลกระทบต่อสังคมไทยได้อย่างแท้จริง เหมือนตราสัญลักษณ์ของศูนย์ที่เป็นรูปปลาตะเพียนสาน ซึ่งคนไทยมักให้เป็นของขวัญเด็กแรกเกิดซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งใหม่ที่สวยงาม นอกจากนี้ปลาตะเพียนสานยังเป็นงานประดิษฐ์ที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนไทยที่ส่งต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น เหมือนกับที่ SIAM lab กำลังจะสร้างสรรค์ความรู้และเครื่องมือใหม่ๆ เพื่ออนาคตที่ดีขึ้นของคนไทยรุ่นต่อๆไปด้วย
ต่อตระกูล: ผมก็มีความหวังกับสิ่งใหม่ๆ เช่นนี้ ทั้งศูนย์วิจัยใหม่ คนรุ่นใหม่ ความคิดใหม่ ความรู้ใหม่ ที่จะมาช่วยแก้ปัญหาเก่าๆ ที่คนรุ่นเก่าได้สร้างทิ้งเอาไว้ และยังเชื่อมั่นมาตลอดว่าการวิจัยจะเป็น 1 ใน 3 เครื่องมือสำคัญที่จะทำให้การต่อสู้กับคอร์รัปชันสำเร็จได้ ซึ่งได้แก่ รัฐ ประชาชน และวิชาการโดยต้อง เริ่มต้นด้วยวิชาการ ให้ข้อมูลแก่ประชาชนก่อนแล้วประชาชนจึงจะเรียกร้องให้รัฐออกมาร่วมผลักดันและสนับสนุนให้เกิดขึ้นจริงในวงกว้าง
จึงขอเป็นกำลังใจให้และยินดีสนับสนุนงานของ SIAM lab ที่ประกาศว่า จะสร้างสรรค์งานวิจัยที่นำมาใช้ได้จริง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน