Hot Topic!
รสก.หลุดบ่วงพ.ร.บ.จัดซื้อ ปตท.-บินไทย-8แบงก์รัฐ
โดย ACT โพสเมื่อ Dec 25,2017
- - สำนักข่าวประชาชาติธุรกิจ - -
อนุมัติรัฐวิสาหกิจ 10 แห่ง "ปตท.-กฟผ.-กฟภ.-อสมท.-บินไทยไปรษณีย์ไทย" พ้น พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างใหม่ อ้างเหตุไม่คล่องตัวกับคู่ค้า สถาบันการเงินรัฐอีก 8 แห่งเข้าคิวรอรับไฟเขียวตาม หวั่นสุดท้ายกฎหมายไม่มีผลบังคับใช้จริง เปิดช่องทุจริตซ้ำรอย
กรณีโรลส์รอยซ์
กลายเป็นเรื่องที่ถูกจับตามองอย่าง ใกล้ชิดว่า แท้ที่จริงแล้ว พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ฉบับใหม่ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อต้นปี 2560 นั้น จะมีผลในทางปฏิบัติจริงหรือไม่ เมื่อรัฐวิสาหกิจชั้นนำกว่า 30 แห่งทำเรื่องมาถึงคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ขอ "ยกเว้น" มิให้นำบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้มาบังคับใช้ทั้งหมดหรือบางส่วนในการจัดซื้อจัดจ้างในหน่วยงาน ของตน ด้วยการอ้าง มาตรา 7 พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ "มิให้" ใช้บังคับในการจัดซื้อจัดจ้าง 6 ประเภท ได้แก่ การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง, การจัดซื้อจัดจ้างยุทโธปกรณ์และบริการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติโดยวิธีรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือโดยการจัดซื้อจัดจ้างจากต่างประเทศที่กฎหมายของประเทศนั้นกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น, การจัดซื้อจัดจ้างโดยใช้เงินกู้หรือเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลต่างประเทศ/องค์การระหว่างประเทศ/สถาบันการเงินระหว่างประเทศ
โดยการ "ขอยกเว้น" ในการจัดซื้อจัดจ้างใดทั้งหมดหรือบางส่วน จะต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อ จัดจ้างฯและรัฐวิสาหกิจที่ขอยกเว้นจะต้องนำ "กฎหรือระเบียบ" ในการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุของตนมาให้คณะกรรมการพิจารณาภายใต้ มาตรา 8 ซึ่งจะพิจารณาใน 4 หลักการ คือ ความคุ้มค่า-ความโปร่งใส-การมีประสิทธิภาพประสิทธิผล-การตรวจสอบได้ ซึ่งขนาดนั้มีรัฐวิสาหกิจรวม 33 รายที่ไม่ต้องการอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ได้ยื่นเรื่องขอยกเว้นมาแล้ว
10 รัฐวิสาหกิจชั้นนำขอยกเว้น
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐเข้ามาว่า มีรัฐวิสาหกิจจำนวน 10 รายได้รับการพิจารณา "อนุมัติ" ให้ "ยกเว้น" การบังคับใช้ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ โดยคณะกรรมการได้การพิจารณาจากกรอบร่างกฎระเบียบในการดำเนินการจัดซื้อของรัฐวิสาหกิจทั้ง 10 แห่ง ประกอบไปด้วย
1) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) นำเสนอร่างกฎระเบียบที่ครอบคลุมธุรกิจหลัก เช่น ธุรกิจการซื้อไฟ, ระบบสายไฟ
2) องค์กรเภสัชกรรม เสนอร่างกฎระเบียบที่ครอบคลุมธุรกิจการจัดหาวัตถุดิบ-เภสัชเคมีภัณฑ์หรือเภสัชเคมีภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป ไปจนถึง เครื่องมือแพทย์ 3) โรงงานยาสูบ มีเพียงธุรกิจเสริมคือ การจัดหาใบยาในประเทศ 4) บริษัท บริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท จำกัด ครอบคลุมธุรกิจ การตรวจสอบสถานะทางกฎหมายของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL), การโอนสิทธิจำนอง/จำนำ และสิทธิในหลักประกันสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ
5) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ครอบคลุม 7 ธุรกิจหลัก และ 6 ธุรกิจเสริม เช่น การจัดหาอากาศยานและเครื่องยนต์/เครื่องฝิกบิน และการจัดหาเชื้อเพลิง รวมไปจนถึงครัวการบิน 6) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้นำเสนอ 5 แผน ที่ครอบคลุมการขนส่งถุงไปรษณีย์, การจัดหาสินค้าเพื่อจำหน่าย, การจัดหาวัสดุหรืออุปกรณ์ที่ใช้กับการไปรษณีย์ เช่น ใบรับฝากบริการไปรษณีย์ในประเทศ และป้ายเลขที่ไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS)
7) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นำเสนอร่างกฎหรือระเบียบการจัดซื้อฯรวม 6 ฉบับที่ครอบคลุมทั้งธุรกิจหลักและธุรกิจเสริม มีทั้งการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม, การจัดหา, กิจการก๊าซธรรมชาติ และสถานีบริการ กับธุรกิจเสริมในส่วนของการจำหน่ายสินค้า/ผลิตภัณฑ์-สิทธิทางการค้า/ทรัพย์สินทาง ปัญญา-การบริการ, การผลิตจำหน่ายสาธารณูปโภค ระบบไฟฟ้า-ประปา พลังงาน, การจัดหา/พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคะวันออก (EEC),
8) บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ครอบคลุมธุรกิจหลัก เช่น การก่อสร้างโรงไฟฟ้า, เขื่อนเพื่อการผลิตไฟฟ้า ระบบจำหน่าย รวมถึง จัดหาที่ดิน 9) บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) ได้นำเสนอ รวม 2 แผนเพื่อรองรับธุรกิจรายการโทรทัศน์และวิทยุ การจัดหาโครงข่ายโทรคมนาคม และการบริหารเพื่อการถ่ายทอดสัญญาณ และ 10) บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด ครอบคลุมธุรกิจหลักและธุรกิจเสริม เช่น การตรวจสอบสถานะทางกฎหมายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ การประเมินราคาทรัพย์หลักประกันด้อยคุณภาพ
อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตจากการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ที่อนุมัติให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 10 แห่ง "ยกเว้น" มิให้นำบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาบังคับใช้ ว่า อาจจะเป็นการ "เปิดช่อง" ให้เกิดการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจบางแห่งได้ เนื่องจากที่ผ่านมาได้เกิดกรณีการทุจริตที่เรื่องถึงชั้นตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลายเรื่อง อาทิ กรณีล่าสุดที่ บริษัทโรลส์-รอยซ์ ติดสินบนในการซื้อขายเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ โดยกล่าวหาเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) รวมไปถึงบริษัทการบินไทยด้วย
"ปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นก็คือ สุดท้ายจะเหลือรัฐวิสาหกิจกี่แห่งที่ยินดีจะปฏิบัติตามระเบียบในการจัดซื้อจัดจ้างภายใต้ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เพราะทุกหน่วยงานข้อยกเว้นกันหมดเท่ากับในทางปฏิบัติแล้ว พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่มีผลบังคับใช้กับรัฐวิสาหกิจนั้นเอง"
8 แบงก์แห่ขอยกเว้น
ด้านนายมงคล ลีลาธรรม กรรมการ ผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวว่า ธพว.ได้ขอยกเว้นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างฯในส่วนที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง โดยจะมีการออกระเบียบจัดซื้อจัดจ้างในส่วนนี้ของตัวเอง ซึ่งจะดำเนินการภายใน 180 วันหลังจากคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐได้ออกประกาศให้ดำเนินการได้แล้ว "เป็นระเบียบเดิมที่เราเคยใช้อยู่ ก็เอาระเบียบนี้มาปัดฝุ่นให้ออกมาแล้วไม่ขัดกับ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ ที่เป็นกรอบใหญ่" เช่นเดียวกับนายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ กล่าวว่า "ธสน.ก็ต้องดำเนินการเช่นเดียวกับทาง ธพว."
ขณะที่ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า มีสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 7 แห่ง ที่ขอ "ยกเว้น" การปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ใหม่ ได้แก่ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.), ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.), ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย, ธสน. และ ธพว. นอกจากนี้ยังมีธนาคารกรุงไทยที่ขอยกเว้นพร้อมพ่วงธุรกิจในเครือ คือ บริษัท กรุงไทยกฎหมาย จำกัด, บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท กรุงไทยคอมพิวเตอร์เซอร์วิสเซส จำกัด, บริษัท รักษาความปลอดภัย กรุงไทยธุรกิจบริการ จำกัด และบริษัทกรุงไทยธุรกิจลิสซิ่ง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน