Hot Topic!

ขจัดทุจริตทรัพยากรป่าคืนความสุขคนไทย

โดย ACT โพสเมื่อ Nov 10,2017

- - สำนักข่าวไทยโพสต์ - -

 

ยอมรับว่าการจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อคืนความสุขให้กับคนไทยทั้งชาติ ตามแผนที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี วางกรอบการพัฒนางานในแต่ละด้าน เพื่อวางรากฐานและกำหนดทิศทางการพัฒนาไว้ 20 ปี มีความเปลี่ยนแปลงที่เห็นเป็นรูปธรรมขึ้นเรื่อยๆ

         

หลังจากมีการดำเนินงานอย่างจริงจังตลอดที่ผ่านมา จนสามารถหยุดยั้งการทำลาย และทวงคืนผืนป่ากลับมาสู่ประเทศไทยได้แล้ว 5 แสนกว่าไร่ จากผลสำรวจพบพื้นที่ป่าอันอุดมสมบูรณ์หลงเหลืออยู่จำนวน 32 เปอร์เซ็นต์ทั่วประเทศ

         

โดยเท่าที่มีการวางนโยบายของ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี 2561 วางกรอบนโยบายการบริหารจัดการป่าไม้ใหม่ โดยต้องทำให้คนไทยมีความสุข ควบคู่กับการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ และยั่งยืนมากกว่ามิติเดิม ที่แรกเริ่มได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ประเทศไทยจะต้องมีพื้นที่ป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์ เหลืออยู่ 40 เปอร์เซ็นต์

         

มีการวางเป้าหมายระยาวไปจนถึงปี 2579 ใน 3 ด้าน คือ 1.การมีผืนป่าที่ สมบูรณ์ในจำนวนที่เหมาะสม 2.คนไทยทั้งประเทศมีความสุข และ 3.แนวทางการพัฒนาที่สมดุลอย่างยั่งยืน โดยมีการน้อมนำเอาพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องการทำให้คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างมีความสุข เริ่มจากการจัดทำข้อมูลป่าไม้รายจังหวัด สำรวจดูแต่ละจังหวัดควรมีพื้นที่ป่าชนิดใดอยู่ตรงไหน ทั้งป่าสมบูรณ์ ป่าอนุรักษ์ ป่าเศรษฐกิจ และป่าชุมชน

         

และท้ายเมื่อสำรวจแล้วว่าจังหวัดไหน พื้นที่ใดมีต้นไม้ไม่เพียงพอ ก็จะเร่งทำการเพิ่มจำนวนต้นไม้ลงไปเพื่อให้เกิดความสมดุล เหมือนอย่างหลายๆ ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการเพิ่มป่าไม้สมบูรณ์ในใจกลางเมือง ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์คนที่อยู่มาแต่เดิมจะต้องอยู่อย่างเกื้อกูลโดยช่วยกันทำให้ป่าสมบูรณ์ ช่วยกันปรับระบบนิเวศดูแลทรัพยากรป่าไม้ ส่วนคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าชุมชน ที่ทางราชการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ ต้องร่วมกันปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ถือเป็นการน้อมนำศาสตร์พระราชามาดำเนินการที่ถูกต้องและน่าพอใจอย่างยิ่ง

         

นอกจากนั้นตามข้อมูลที่ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกมาบอกเอาไว้ในเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป คือ การจัดทำแผนยุทธศาสตร์แร่แห่งชาติ จากเดิมการ

         

ทำเหมืองแร่ของไทย มุ่งหวังแต่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยไม่เคยคำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชนและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

         

หลังจากนี้การขออนุญาตทำเหมืองแร่จะมีปัจจัยเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเข้ามาเป็นปัจจัยให้ทางราชการพิจารณาด้วย ถ้าอนุญาตให้ทำกันแล้วเกิดผลเสียต่อชีวิตประชาชนและผลเสียต่อทรัพยากรมากกว่าก็ถือว่าไม่คุ้ม ซึ่งแผนจัดการแร่ในอนาคตของประเทศไทย จะต้องทำให้มีมูลค่า ควบคู่กับปัจจัยเรื่องการดูแลไม่ให้ส่งผล กระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ที่กำลังน่าจับตามองคือ แร่ควอตซ์ และแร่โปแตส จะต้องศึกษาอย่างเร่งด่วนว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อสร้างมูลค่าแร่เหล่านี้ และจะต้องไม่ขาดดุล เป็นอีกหนึ่งแผนงานดำเนินการที่เป็นไปตามทิศทางที่เหมาะสม

         

เช่นเดียวกับเรื่องความโปร่งใสในหน่วยงานราชการ ที่เท่าติดตามการดำเนินงานของส่วนราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็มีการตื่นตัวและพัฒนาให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล โดยเริ่มปฏิรูปงานทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ชาติโดยตรง

         

มีการจัดเก็บรายได้ของอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ โดยเฉพาะหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ แต่เดิมในอดีตจัดเก็บกันได้ประมาณปีละ 24 ล้านบาท แต่ปีงบประมาณ 2559 จัดเก็บได้กว่า 560 ล้านบาท ตรงนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เพราะทุกคนรู้อยู่แก่ใจว่า ถ้าร่วมกันทำดีก็จะสำเร็จจนได้ ยิ่งตัวเลขการจัดเก็บในปี 2560 ได้กว่า 669 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นการตื่นตัวของทุกภาคส่วน

         

ในส่วนเจ้าหน้าที่กรมอุทยานทั่วประเทศก็เริ่มใส่ใจ ให้ความสนใจกับเรื่องการทำความดี ด้วยเหตุนี้ในปีงบประมาณ 2560 เราจึงมีรายได้จากการจัดเก็บค่าบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ 150 แห่งทั่วประเทศ ทั้งทางทะเลและทางบก รวมกันทั้งสิ้น 2,413,598,822.70 บาท เมื่อมีเงินรายได้จากการจัดเก็บค่าบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติเข้ามาเพิ่มเติม เราก็ต้องเพิ่มเติมนโยบายเรื่องความปลอดภัย และสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวเข้าไปด้วย ความปลอดภัยต้องสูง ความสะอาดต้องดี และต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ว่าเราเอาเงินไปทำอะไร อาทิ มีการลงทุนเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ การจัดหารถและเรือพยาบาลสำหรับใช้เฉพาะภารกิจดูแลนักท่องเที่ยว การวางทุ่นไข่ปลาในทะเล การสร้างทุ่นจอดเรือไม่ให้กระทบต่อปะการัง การวางทุ่นแบ่งเขตดำนำ การดูแลพัฒนาสภาพที่พักของเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในอุทยาน การจัดทำห้องน้ำทุกแห่งให้สะอาด การสร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ทั้ง 150 แห่ง เป็นต้น

         

ประการสำคัญก็คือ การนำงบประมาณไปฝึกเพิ่มเติมความรู้ด้านการกู้ชีพกู้ภัย ให้เหล่าเจ้าหน้าที่ให้เขาสามารถช่วยเหลือนักท่องเที่ยวได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที ที่ผ่านมามีข่าวการส่งทีมเข้าช่วยเหลือนักท่องเที่ยวซึ่งประสบอุบัติเหตุทางเรือในพื้นที่จังหวัดพังงา และสามารถช่วยเหลือนักท่องเที่ยวจนรอดชีวิตได้ 100 เปอร์เซ็นต์ จนได้รับคำชมเชยไปทั่วโลก

         

เมื่อรัฐบาลชุดนี้หมดวาระลงไปแล้ว ความสุจริต โปร่งใส รวมถึงเงินรายได้จากการจัดเก็บค่าเข้าชม ค่าบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ จะยังคงตัวเลขเช่นนี้ต่อไปหรือไม่ นี่คือคำถามที่ประชาชนสงสัยและอยากจะรู้

         

แม้เบื้องต้นจะได้รับคำยืนยันจาก รมว.ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บอกว่าปัจจุบันผลการดำเนินงาน และตัวเลขสถิติการจัดเก็บรายได้ทั้งหมดจะถูกนำขึ้นอัพเดตบนเว็บไซต์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ทุกๆ เดือน เมื่อใดยอดจัดเก็บลดลงหรือเว็บไซต์ล่ม ผู้บริหารจะต้องตอบคำถามจากสังคมให้ได้

         

แต่สิ่งที่ประชาชนจะต้องช่วยกันคือ การติดตาม ตรวจสอบ การดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและประเทศชาติต่อไป

 

 

 

 

 

 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw