Hot Topic!
จัดระเบียบวัดคุมเข้มเงินบริจาค สกัด 'คน-วัด-สมภาร' โกง
โดย ACT โพสเมื่อ Nov 06,2017
- - สำนักข่าวผู้จัดการรายวัน - -
งัด e-donation คุมเงินบริจาควัด-โรงเรียน-โรงพยาบาล ฝ่ายต้านปลุกกระแสเก็บภาษีวัดและคนบริจาค สรรพากรแจงไม่จริงแค่อำนวยความสะดวกต่อไปไม่ต้องมี ใบอนุโมทนาบัตร คืนภาษีได้เร็ว ป้องกันพวกทุจริตโกงยอดบริจาค สกัดกลุ่มฟอกเงิน ผ่านวัด ชี้ไม่ใช่ของใหม่บัญชีวัดมีมาตั้งแต่ปี 2511 หรือนำส่งภาษีเงินได้จากผู้รับเหมา ค่าบูรณะวัด เป็นหน้าที่เดิมเพราะวัดเป็นนิติบุคคล แต่ยังมีช่องโหว่เรื่องบัญชีที่ไร้คน ตรวจสอบ
แม้แนวทางการปฏิรูปพระพุทธศาสนาจะดูเหมือนไม่มีแผนที่ชัดเจนออกมา แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงกับวงการพระพุทธศาสนามีให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมในหลายเหตุการณ์
ล่าสุดมีการกระพือข่าวว่าจะมีการเรียกเก็บภาษีจากวัด โดยนำภาพบัตรประจำตัว ผู้เสียภาษีของวัดสว่างอารมณ์ จังหวัดสุรินทร์ มาเป็นตัวปลุกกระแสบนโลกออนไลน์ พร้อมทั้งระบุว่าคนที่บริจาคเงินให้วัดก็ต้องเสียภาษี
จนทางกรมสรรพากรต้องออกมาชี้แจงว่า กรมสรรพากรไม่มีนโยบายจัดเก็บภาษี จากวัดหรือศาสนสถานแต่อย่างใด รวมทั้งผู้ที่บริจาคก็ไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ที่กรมสรรพากรอยู่ระหว่างการพัฒนาขึ้นมานั้น เป็นระบบที่มีเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้บริจาคเงินให้ กับศาสนสถาน โดยไม่ต้องเก็บ หลักฐานการบริจาค ซึ่งจะทำให้ได้รับเงินคืนภาษีได้อย่างรวดเร็วขึ้นเท่านั้น และไม่เกี่ยวข้องกับการหักภาษี ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด
* e-donation คุมเงินบริจาค
ทั้งนี้ นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า เตรียมออกประกาศ กรมสรรพากร กำหนดให้หน่วยรับบริจาคทั้งสถานศึกษา ศาสนสถานที่ได้รับเงินบริจาคเงิน หรือทรัพย์สิน ต้องบันทึกข้อมูลการรับบริจาคในระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) โดยสั่งการให้สรรพากรพื้นที่ทั่วประเทศ ทำความเข้าใจกับหน่วยงานรับบริจาคทั้งโรงเรียน วัด โบสถ์ สุเหร่า และมัสยิด ต้องลงทะเบียนเพื่อออกหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 และไม่เปิดให้บันทึกข้อมูลการบริจาคย้อนหลัง
อธิบดีกรมสรรพากร ยืนยันว่าระบบดังกล่าวไม่เกี่ยวกับการเก็บภาษีวัดและ สถานศึกษา เนื่องจากได้รับการยกเว้นภาษีอยู่แล้ว แต่จะเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกให้ผู้เสียภาษี โดยไม่ต้องรวบรวมหลักฐานใบอนุโมทนาบัตร หรือใบเสร็จ มายื่นขอหักลดหย่อนภาษีจะช่วยให้ได้รับเงินคืนภาษีเร็วขึ้น โดยมีจังหวัดที่นำร่องแนวทางดังกล่าวคือจังหวัดน่าน ที่มีศาสนสถานจดทะเบียนถูกต้อง 436 แห่ง
* วัด-คน 'สุจริต' ไม่ต้องกังวล
สรรพากรพื่นที่รายหนึ่งกล่าวว่า ขณะนี้ต้องรอให้คำสั่งของกรมสรรพากรออกมาก่อนและกระจายลงมาในทุกพื้นที่ เพื่อนำไปแจ้งทั้งวัดและโรงเรียนต่างๆ ในที่นี้จะรวมไปถึง เงินบริจาคกับโรงพยาบาลด้วย
แนวทางดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาให้กับกรมสรรพากรด้วย เพราะที่ผ่านมาเรื่อง ใบอนุโมทนาบัตร เป็นอีกหนึ่งช่องว่างที่ผู้ไม่สุจริตนำมาใช้ประโยชน์เพื่อใช้ขอคืนภาษีที่ ไม่ตรงกับความเป็นจริงกับยอดบริจาค อีกทั้งในทางปฏิบัติแล้วทางสรรพากรพื้นที่แม้จะมีการตรวจสอบกลับไปว่ามีการบริจาคจริงหรือไม่นั้น แต่มักเป็นการสุ่มในการตรวจสอบ ตามสัดส่วนที่ทางกรมกำหนดให้ ไม่สามารถทำการตรวจสอบละเอียดได้ทุกกรณี
ประการต่อมาการตรวจสอบนั้น มักจะเป็นการโทรศัพท์ไปสอบถามกับทางวัด หากทางวัดยืนยันว่าจริง ก็ถือว่าจบ อีกทั้งเรื่องของเอกสารหลักฐานต่างๆ บางวัดก็ไม่ได้จัดทำอย่างเป็นระบบ เมื่อพระท่านยืนยันว่าจริง เราก็ต้องเชื่อว่าท่านไม่มุสาฯ
คนที่ไม่สุจริตก็มักจะใช้วัดเป็นเครื่องมือในการหาผลประโยชน์เข้าตัวเอง บริจาค 1 หมื่นบาทขอให้วัดออกใบอนุโมทนาบัตรมากกว่าเงินที่บริจาคจริงก็มี วัดเองก็กลายเป็น เครื่องมือของคนเหล่านี้ แถมบางแห่งยังมีการซื้อขายใบอนุโมทนาบัตรกันเพื่อนำไปใช้ในการหักลดหย่อนภาษี
หากทุกวัดใช้ระบบ e-donation นี้ทุกอย่างจะเป็นธรรมกับทุกฝ่าย วัดก็ไม่ต้องออกใบอนุโมทนาบัตร คนบริจาคก็ไม่ต้องขอจากวัด เงินภาษีของรัฐก็ไม่รั่วไหล ระบบนี้ไม่ได้ทำให้วัดมีภาระใดเพิ่มขึ้น อาจมีเพียงแค่เรื่องการนำส่งภาษีที่หัก ณ ที่จ่ายจากกรณีที่วัดจ้างผู้ประกอบการมาก่อสร้างเท่านั้น
อีกทั้งยังเป็นการป้องกันการใช้วัดเป็นแหล่งฟอกเงิน อย่างกรณีของอดีตผู้บริหาร ของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่เกี่ยวโยงไปกับพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาส วัดพระธรรมกาย ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นเรื่องของการบริจาคด้วยความศรัทธาอย่างแท้จริง
ระบบดังกล่าวจะไปสอดรับกับเรื่องการทำบัญชีรายรับรายจ่ายของวัด ที่ทางมหาเถรสมาคมเห็นชอบไปเมื่อ 10 ตุลาคม 2560 โดยมีวัดดาวดึงษารามเป็นวัดนำร่อง ซึ่งจะช่วยสร้างความโปร่งใสให้กับวัดได้มากขึ้น ช่วยลดปัญหาเรื่องเงินทอนวัดได้ระดับหนึ่ง
* ไม่ใช่เรื่องใหม่
แหล่งข่าวจากวงการพระพุทธศาสนากล่าวว่า ที่จริงกฎระเบียบต่างๆ ของวัดก็มีอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้นำมาบังคับใช้กันอย่างจริงจัง อย่างเรื่อง ข้อบังคับการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายวัดในประเทศไทย มีมาตั้งแต่ปี 2511 กำหนดในกฎกระทรวงฉบับ 2 ออกความตามใน พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ให้วัดที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องจัดทำบัญชีรายรับ รายจ่าย โดยส่งข้อมูลให้เจ้าคณะปกครองปีละ 1 ครั้ง ก่อนปรับเปลี่ยนในปี 2550 เพิ่ม ข้อบังคับการส่งข้อมูลให้กับสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด
หรือเรื่องการนำส่งภาษีจากการว่าจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างที่มาบูรณะวัด ทางวัดก็ต้องหักภาษีเงินได้จากผู้รับเหมาก่อน เนื่องจากวัดมีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย แล้วจึงค่อยนำส่งกรมสรรพากร ตรงนี้วัดก็ไม่ได้เสียประโยชน์ใด ๆ เพิ่มเติม เพียงแต่ที่ผ่านมานั้นฆราวาสที่เข้ามาช่วยดูแลทางวัดอาจไม่มีความรู้ในเรื่องเหล่านี้เพียงพอ รวมไปถึงทางสรรพากรก็ไม่ได้เคร่งรัดในเรื่องเหล่านี้ เมื่อจะทำให้ทุกอย่างเข้าระบบเลยทำให้เกิดปัญหาเรื่องความไม่เข้าใจ
ขณะนี้ถือว่ายังไม่มีการบังคับใช้ในเรื่อง e-donation เป็นแค่เพียงการเริ่มทดลอง ในบางพื้นที่เท่านั้น คงต้องรอว่าในปี 2561 กรมสรรพากรจะเริ่มใช้จริงจังหรือไม่ เพราะ ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติอยู่ไม่น้อย ทั้งเรื่องความรู้ของไวยาวัจกรที่ช่วยเหลืองานของ วัดอยู่ หรือบางวัดหรือสำนักสงฆ์บางแห่งที่ยากจนไม่มีงบประมาณในการจัดหาอุปกรณ์ หรือคนที่เข้ามาทำหน้าที่นี้ ซึ่งกรมสรรพากรอาจมีระยะเวลาช่วงหนึ่งให้ทางวัดได้มีการ ปรับตัว
* ลดปัญหาเดิมได้ระดับหนึ่ง
วัดที่สุจริตหรือผู้บริจาคเงินให้กับวัดด้วยความบริสุทธิ์ใจ ย่อมไม่มีผลกระทบใดๆ เพราะระบบดังกล่าวถือเป็นการปิดช่องว่างของผู้ไม่สุจริต เพราะในปีๆ หนึ่งมีการขอหักลดหย่อนในส่วนนี้กว่า 5 หมื่นล้านบาท รัฐสูญเสียรายได้ไปกว่า 9 พันล้านบาท
จะว่าไปแล้วแนวทางดังกล่าวของภาครัฐ เสมือนยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว นอกจากจะทำให้ทุกอย่างเป็นระบบ เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายแล้ว ยังเป็นการป้องกันกลุ่ม คนที่ไม่สุจริตที่อาศัยวัดเป็นเครื่องมือ และยังป้องกันความไม่โปร่งใสภายในวัดได้ไปในตัว เห็นได้จากที่ผ่านมาบางวัดมีการนำเงินที่ได้จากการบริจาคนำไปซื้อที่ดิน หรือกิจการอื่น ในนามของเจ้าอาวาสและบุคคลที่ใกล้ชิด เป็นเหตุให้มีการร้องเรียนจากพุทธศาสนิกชนเป็นจำนวนมาก
เป้าหมายไม่ได้มุ่งไปที่วัดพระธรรมกายหรือวัดใดวัดหนึ่ง แต่เป็นการสร้างมาตรฐานทั้งประเทศ เพราะกรณีที่เจ้าอาวาส นำเงินจากการบริจาคไปซื้อที่ดินทั้งในนามส่วนตัวและลูกศิษย์ที่สนิทยังมีอีกหลายวัด โดยเฉพาะวัดใหญ่ วัดดัง คนศรัทธามาก เงินบริจาคก็มากตามไปด้วย สิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งการช่วงชิงกันของพระชั้นผู้ใหญ่ที่ต่างก็ต้องการคุมวัดดังๆ ด้วยการส่งพระในสังกัดของตัวเองเข้าไปยึดตำแหน่งเจ้าอาวาส และเชื่อมต่อมายังพระชั้นปกครองในระดับเจ้าคณะตามลำดับชั้นต่างๆ
อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีการออกกฎระเบียบขึ้นมาเพื่อสร้างความโปร่งใสให้กับวัดเพียงใด แต่ก็ยังมีช่องว่างเช่นกัน โดยเฉพาะระบบบัญชี หากไม่มีการบันทึกหรือเปลี่ยนแปลงโยกย้ายเงินดังกล่าวไปเป็นรายการอื่นก็ยากที่จะตรวจสอบเช่นกัน
วัดใหญ่ วัดดัง ลูกศิษย์ส่วนใหญ่มีความรู้ความชำนาญในทุกด้าน หากเข้ามาแนะนำในทางที่ไม่ถูกต้องปัญหาที่เคยเกิดขึ้นย่อมไม่ลดลงไป และยังไม่พบว่า ภาครัฐมีฝ่ายตรวจสอบบัญชีของวัดเหมือนกับนิติบุคคลทั่วไป
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน