Hot Topic!
รูปแบบการเรียกรับสินบน
โดย ACT โพสเมื่อ Oct 05,2017
- - สำนักข่าวโพสต์ทูเดย์ - -
ปัจจุบันมีการจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐหลายรูปแบบ
กรณีแรก กลั่นแกล้ง ยัดข้อหาว่ากระทำความผิดอาญาหรือก่อสร้าง ผิดแบบ หลังจากนั้นก็ข่มขู่หรือจูงใจให้จ่ายสินบน ลักษณะนี้ก็มีอยู่มากในสังคมไทยตามที่เป็นข่าว กรณีเจ้าของอพาร์ตเมนต์อ้างว่าถูกกลั่นแกล้ง และเรียกเงินจำนวนหลายสิบล้าน
กรณีที่สอง เจ้าหน้าที่ของรัฐตรวจพบการกระทำความผิดของประชาชน เช่น การก่อสร้างผิดแบบ แทนที่จะดำเนินคดีตามกฎหมายกลับข่มขู่หรือจูงใจให้เจ้าของอาคารจ่ายสินบนเพื่อละเว้นไม่ดำเนินคดี กรณีแบบนี้ก็มีมากในปัจจุบันเช่นกัน
กรณีที่สาม คนที่ไปเรียกเงินจากประชาชนเป็นคนกลาง เป็นตัวแทนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เมื่อพบการกระทำความผิดของประชาชน แทนที่จะแจ้งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินคดี แต่กลับไปเรียกสินบนแทน ความผิดเกี่ยวกับการเรียกและการจ่ายสินบนนั้น มีบทลงโทษหนักแต่ประชาชนนักธุรกิจและ เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ได้เกรงกลัวแต่อย่างใด เพราะการหาพยานหลักฐานเป็นเรื่องยาก เพราะเป็นเรื่องการสมยอมกันทั้งสองฝ่ายทั้งคนให้และคนรับ นอกจากนี้โอกาสที่จะถูกตรวจสอบก็ยาก เพราะผู้ใต้บังคับบัญชาที่ไปเรียกเงินจากประชาชนก็ได้รับไฟเขียวจากผู้บังคับบัญชา จึงยากในการตรวจพบ และเมื่อตรวจพบแล้วการสอบสวนก็ยังมีผู้บังคับบัญชาเป็นผู้สอบสวน ส่วนใหญ่ก็จะจบลงด้วยการยุติคดีไม่มีมูล ตัวอย่างคดีเกี่ยวกับการเรียกสินบน มีดังต่อไปนี้
1.คนกลางเรียกสินบน (ม.143)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1332/2537
โจทก์กล่าวหาว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันเรียกและรับเงินจากผู้เสียหาย โดยอ้างว่าจะนำไปให้ ก. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจออกใบอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารแก่ผู้เสียหาย เพื่อจูงใจให้เจ้าพนักงานกระทำการในหน้าที่ อันเป็นคุณแก่ผู้เสียหายโดยวิธีอันทุจริตผิดกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 นั้นมิได้อยู่ที่เจ้าพนักงานได้กระทำการในหน้าที่แล้วหรือไม่ แม้จะออกใบอนุญาตแล้ว ก. ก็ยังคงเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย การออกใบอนุญาตไปแล้วมิได้ทำให้ฟ้องโจทก์ขาดองค์ประกอบความผิด ที่จำเลยฎีกาโต้แย้งมิให้ศาลรับฟังเทปบันทึกเสียงซึ่งถอดเทปเป็นตัวอักษรไว้แล้วเป็นพยานหลักฐานลงโทษจำเลยนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
2.เจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ (ม.148)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 798/2502
จำเลยเป็นพลตำรวจประจำสถานีตำรวจ มีหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิดเพื่อส่งเจ้าพนักงานดำเนินคดี จำเลยได้แกล้งจับกุมผู้เสียหายหาว่าเล่นการพนันไม่ได้รับอนุญาต และบังคับให้ขึ้นรถรับจ้างไปกับจำเลย ในระหว่างทางจำเลยได้พูดข่มขืนใจผู้เสียหายเพื่อให้มอบเงินให้แก่จำเลย ถ้าไม่ให้เงินจำเลยจะเอาตัวส่งสถานีตำรวจ แล้วจำเลยได้ค้นลักเงินของผู้เสียหายไป 120 บาท ดังนี้ การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดกฎหมายหลายบท คือ มาตรา 148, 310, 334 ประมวลกฎหมายอาญา
การข่มขืนใจเพียงเพื่อให้มอบให้แม้แต่ยังมิได้มอบทรัพย์สินให้แก่กัน ก็เป็นความผิดสำเร็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 แล้ว
จำเลยเป็นพลตำรวจพูดว่า ถ้าผู้เสียหายไม่มอบเงินให้จำเลย จำเลยจะเอาตัวส่งสถานีตำรวจในข้อหาฐานเล่นการพนันไม่ได้รับอนุญาต เพียงเท่านี้ก็ไม่ใช่เป็นการขู่เข็ญที่จะใช้กำลังประทุษร้ายอันเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม มาตรา 339
3.เจ้าพนักงานเรียกสินบน (ม.149)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1524/2551
จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดอาญา ได้พบเห็น ส. กับพวกเล่นการพนันชนไก่อันเป็นความผิดอาญา จำเลยมีหน้าที่ต้องทำการจับกุมผู้กระทำความผิด แต่กลับไม่ทำการจับกุมและเรียกรับเงินจำนวน 1,500 บาท จาก ส. เพื่อจะไม่จับกุมตามหน้าที่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5973/2537
จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนความผิดอาญา เมื่อได้พบและกล่าวหาว่าโจทก์ร่วมและนายสุเธียรมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตอันมิใช่การแกล้งกล่าวหา การที่จำเลยที่ 1 ไม่จับกุมแต่กลับขู่เข็ญเรียกเงินแล้วละเว้นไม่จับกุมโจทก์ร่วมและนายสุเธียร จึงไม่ใช่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 แต่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 เนื่องจากโจทก์มิได้ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 อันเป็นบทเฉพาะมาด้วย ก็ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อันเป็นบททั่วไปและเป็นบทที่โจทก์ฟ้องมาได้ สำหรับจำเลยที่ 2 มิใช่เจ้าพนักงานแต่ร่วมกระทำผิดฐานนี้ด้วย จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา 86
การป้องกันการทุจริตต้องตัดโอกาสในการโกงโดยกฎระเบียบต้องเคร่งครัด
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน