Hot Topic!
กรณีศึกษาเงินทอนวัด หิริโอตตัปปะที่หล่นหาย ถึงเวลาต้องปฏิรูป'มส.'
โดย ACT โพสเมื่อ Sep 26,2017
- - สำนักข่าวสยามรัฐ - -
ภาพแห่งความล้มเหลวในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งมีการปล่อยปละละเลยมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะข่าวการทุจริตของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุด และข้าราชการในสังกัดทุจริตงบประมาณแผ่นดิน ใช้เล่ห์เหลี่ยมเพทุบายชักเปอร์เซ็นต์จากการอนุมัติงบประมาณให้กับวัดวาอารามต่างๆ เข้าพกเข้าห่อตัวเองและพรรคพวกชนิดเย้ยฟ้าท้าดินไม่ยำเกรงต่อบาปบุญคุณโทษ จนเป็นที่มาของ"เงินทอนวัด"
"เงินทอนวัด" จริงๆ แล้ว ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะหากเป็นคนในแวดวงจะรู้กันดีว่า การที่วัดใดวัดหนึ่ง จะของบสนับสนุนจากสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ต้องมีเงิน"ปากถุง"ติดปลายนวมให้กับเจ้าหน้าที่ พศ.ถ้าพระสงฆ์องค์เจ้าไม่เดินตามเกมตามน้ำ ก็อย่าหวังว่าจะได้งบประมาณไปทำกิจการสงฆ์ หรือทำนุบำรุง สร้างศาสนสถานให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชน หมากเกมอัปรีย์นี้ส่งผลให้ "พระสงฆ์" บางรูปตกเป็น "จำเลย" หรือกำลังจะกลายเป็น "ผู้ต้องหา" อย่างน้อยประมาณ 4 รูปด้วยกัน
หากมองเจาะลึกลงไปจะพบว่า พระสงฆ์คือฝ่ายที่ถูกมัดมือชก ไม่มีสิทธิออกเสียงออกข่าว เป็นอย่างนี้มาช้านานแล้ว คนไทยซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธจะมีใครรู้ลึกถึงปมประเด็นนี้หรือไม่ ในขณะที่ฝ่ายปกครองสงฆ์สูงสุดคือ มหาเถรสมาคม (มส.) ที่มีผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นเลขาธิการโดยตำแหน่ง การเป็นประหนึ่งแค่สถาบัน "ตรายาง" อ่อนแอในเชิงโครงสร้างอย่างเห็นได้ชัดเจน ถึงเวลาที่จะต้องปฏิรูปมหาเถรสมาคม เพื่อให้เป็นที่พึ่งที่หวังของคณะสงฆ์ได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นโครงสร้างที่มี ผอ.พศ.เป็นเลขาฯ เช่นทุกวันนี้
การปรับโครงสร้างมหาเถรสมาคมจะเป็นหนทางที่ทำให้การทุริตฉ้อโกงจากฝ่ายข้าราชการประจำกระทำได้ยากขึ้น จำเป็นต้องสร้างกลไก "ถ่วงดุลอำนาจ" โดยตั้งคณะทำงาน หรือคณะอนุกรรมการ ซึ่งสามารถสรรหาได้จากพระภิกษุที่มีความรู้ความสามารถการบริหารจัดการ ด้านการเงินการคลัง มาตรวจสอบพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้กับวัดต่างๆ อย่างเหมาะสมเท่าเทียม ตามความจำเป็นเร่งด่วน
นี่คือการปฏิรูปคณะสงฆ์ และเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างยั่งยืน การไล่เช็กบิลพระที่ร่วมกระทำ หรือเจ้าหน้าที่โกงกินเงินทอนวัด คือการแก้ปัญหาปลายน้ำ ถึงเวลาที่รัฐบาลจะต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างทั้งหมดโดยเฉพาะผู้บริหาร พศ. จำเป็นต้องได้รับการกลั่นกรองเป็นพิเศษ มีความรู้ความเข้าใจในพระพุทธศาสนา และสถาบันสงฆ์อย่างแท้จริง ไม่ใช่ "เด็กเส้น-เด็กฝาก" ฝ่ายการเมืองซึ่งสุดท้ายก็เข้ามากอบโกยแสวงหาประโยชน์ไร้ซึ่งยางอาย ไม่มี "หิริโอตตัปปะ" ไม่เกรงกลัวต่อบาป
นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.)กล่าวถึงการติดตามการตรวจสอบคดีเงินทอนวัด ว่า ขณะนี้มีเรื่องร้องเรียนเข้ามายังหน่วย
ตรวจสอบ อาทิ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ปปป.) และ ป.ป.ท. รวมทั้งสิ้น 498 เรื่อง ผลการตรวจสอบพบว่าคดีมีมูลการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ 173 เรื่องซึ่งในจำนวนดังกล่าวรวมถึงการนำกำลังเข้าค้นหาหลักฐานในพื้นที่เป้าหมาย 14 จุด ของตำรวจ ปปป.
"คดีเงินทอนวัดเป็นประเด็นที่นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธาน ศอตช.ให้ความสำคัญ และติดตามความคืบหน้าในการตรวจสอบมาโดยตลอด ที่ผ่านมาได้กำชับให้หน่วยงานตรวจสอบทุกหน่วยปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจ และยังเป็นคดีที่กระทบต่อความรู้สึกของประชาชนจำนวนมากด้วย ยืนยันว่า การตรวจสอบของ ศอตช.จะเน้นดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริต ในส่วนของพระสงฆ์หลักฐานยังไม่ปรากฏชัดถึงเจตนาในการกระทำความผิด เบื้องต้นข้อมูลบ่งชี้ไปในแนวทางว่า พระสงฆ์ถูกเจ้าหน้าที่หลอกให้เปิดบัญชีเพื่อรับโอนเงินงบประมาณแล้วโอนเงินส่วนใหญ่คืนกลับเข้าบัญชีส่วนตัวของเจ้าหน้าที่"
"ปัญหาในคดีเงินทอนวัดสะท้อนให้เห็นถึงสภาพการทุจริตในวงราชการ ซึ่งในอดีตถูกปล่อยปละละเลยไม่มีการตรวจสอบและป้องปรามอย่างจริงจังจากรัฐบาลชุดต่างๆ จนกระทั่งการทุจริตในวงราชการลุกลามเข้าไปในวัด ดึงวัดเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ โดยวัดได้รับเงินเพียงแค่ 5-7% ของวงเงินงบประมาณ ส่วนที่เหลือซึ่งเป็นเงินก้อนใหญ่ถูกโอนกลับคืนเข้าบัญชีของเจ้าหน้าที่รัฐ" เลขาธิการ ป.ป.ท.กล่าว
ทั้งนี้ในเชิงลึกพบว่า จากการตรวจสอบคดีเงินทอนวัดซึ่งพบมูลความผิดฐานทุจริตจำนวน 173 คดี บางเรื่องเกิดซ้ำขึ้นในวัดแห่งเดียว เนื่องจากมีการตั้งโครงการเพื่อขอรับงบประมาณหลายครั้ง ในส่วนของพระสงฆ์นั้นหากพิจารณาในแง่กฎหมาย ถือว่าเข้าองค์ประกอบความผิดทางอาญาฐานร่วมกันทุจริตเพราะได้เซ็นชื่อเปิดบัญชีเพื่อรับเงินงบประมาณ รับโอนเงินงบประมาณเข้าบัญชีส่วนตัวหรือบัญชีของวัดแล้วเบิกถอนเงิน ก่อนจะนำฝากเพื่อโอนเข้าบัญชีของเจ้าหน้าที่รัฐ และพบว่าพระสงฆ์บางรูปเปิดบัญชีร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ในชั้นการดำเนินคดีอาญายังต้องพิสูจน์เจตนาในการรับและโอนเงินด้วยว่ากระทำลงไปเพราะถูกเจ้าหน้าที่รัฐหลอกให้หลงเชื่อ หรือกระทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าเป็นการทุจริตงบประมาณของรัฐ
ทั้งนี้ ตำรวจ บก.ปปป. นำกำลังเข้าตรวจค้นบ้านบุคคลต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตเงินทอนวัดลอตที่ 2 รวม 14 จุด ใน7 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ นนทบุรีขอนแก่น ระนอง สิงห์บุรี นครปฐม และสมุทรสาคร เพื่อหาหลักฐานเชื่อมโยงกระบวนการทุจริตเงินทอนวัด และพบว่าเป็นการทุจริตงบประมาณอุดหนุน 3 ประเภท คือ 1.อุดหนุนบูรณปฏิสังขรณ์วัดและพัฒนาวัด 2.อุดหนุนส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและ 3.อุดหนุนการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา-แผนกธรรม-แผนกบาลี23 วัด ตั้งแต่ปี 55-60 สร้างความเสียหายประมาณ 141 ล้านบาท จนมีหลักฐานเอาผิดผู้ต้องหาได้ 19 ราย ภายหลังมีผู้ต้องหาเข้ามารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว 5 ราย ส่วนอีก14 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีพระสงฆ์รวมอยู่ 4 รูป อยู่ระหว่างดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาก่อนส่งสำนวนให้ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด ตามข่าวที่เสนอไปแล้วนั้น
สำหรับผู้ถูกกล่าวหาลอตที่ 2 ซึ่งมีทั้งหมด 19 คนนั้น ได้เข้ามารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว 5 คน ประกอบด้วย 1.นายพนม ศรศิลป์ อดีต ผอ.พศ. 2.นายณรงค์เดช ชัยเนตรผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด (พศจ.)สิงห์บุรี 3.นายพัฒนา สุอำมาตย์มนตรี นักวิชาการ พศ. 4.นายฉัตรชัย ชูเชื้อ ผอ.กองพุทธศาสนสถาน พศ. และ 5.นายพยงค์ สีเหลือง นายช่างโยธา ชำนาญงาน พศ. เหลืออีก 14 คน ที่ยังไม่ได้เข้ามารับทราบข้อกล่าวหา โดย 4 ใน 14 รายนั้น เป็นพระสงฆ์ 4 รูปประกอบด้วยพระครูกิตติพัชรคุณ เจ้าอาวาสวัดลาดแค จ.เพชรบูรณ์ พระวิสุทธิวัฒนกิจผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดราชสิทธารามราชวรวิหาร ที่เคยปรากฏเป็นข่าวไปเมื่อช่วงเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ส่วนอีก 2 รูปนั้น เป็นเจ้าอาวาสวัดแห่งหนึ่งใน จ.ลพบุรี กับพระผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดชื่อดัง ในกรุงเทพมหานคร
ส่วนที่เหลืออีก 10 คนที่ไม่ใช่พระสงฆ์นั้น มี 5 คน ที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีทุจริตเงินทอนวัดลอตแรก และมีชื่อในลอตที่สองด้วย คือ 1.นายนพรัตน์ เบญจวัฒนะอดีต ผอ.พศ. ซึ่งปัจจุบันหลบหนีไปต่างประเทศ 2.นายวสวัสดิ์ กิตติธีระสิทธิ์ ผอ.ส่วนบูรณะพัฒนาวัดและการศาสนสงเคราะห์พศ. 3.นางประนอม คงพิกุล รอง ผอ.พศ. 4.นางณัฐฐาวดี ตันตยาวิสาส นักวิชาการ พศ.และ 5.นายศิวโรจน์ ปิยรัตน์เสรี ส่วนอีก 5 คน นั้นยังไม่เคยมีชื่อมาก่อน ประกอบด้วย1.นายบุญเลิศ โสภา อดีต ผอ.กองพุทธศาสนศึกษา ปัจจุบันเป็น ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด (พศจ.) ลำปาง 2.นางพรเพ็ญกิตติธรางกูร ผอ.กลุ่มการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญ พศ. 3.นายวิโรจน์ อุ่นทรัพย์ ผู้ตรวจราชการ พศ. 4.นายแก้ว ชิดตะขบ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนา จ.สมุทรสงคราม และ 5.นายไพฑูรย์ กรรณโม
นายพนม ศรศิลป์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เปิดเผยกรณี กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ ปปป. ได้เรียกไปสอบกรณี ทุจริตเงินทอนวัดและการทุจริตงบอุดหนุนวัด ว่า ได้นำรายละเอียดเอกสารการจัดโครงการเงินอุดหนุนวัดเข้าไปชี้แจงข้อกล่าวหาฐานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบตามมาตรา 157 ต่อ ปปป.แล้วในเบื้องต้น
"ผมพร้อมชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 โดยในครั้งนั้น ผมดำรงตำแหน่งเป็น รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และยืนยันว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดทำ เนื่องจากโครงการจัดกิจกรรมเงินอุดหนุนวัด เป็นความรับผิดชอบในส่วนของ กองพุทธศาสนศึกษา สังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งได้จัดทำร่วมกับวัดไร่ขิง เพื่ออุดหนุนสนับสนุนงบในการคัดเลือกอบรมองค์การบริหารส่วนตำบล ที่มอบรางวัลประจำดีเด่นทั่วไป เท่านั้น ส่วนจะมีการทุจริตเงินทอนวัดเกิดขึ้นหรือไม่นั้นคงต้องให้ทางกองพุทธศาสนศึกษา ดำเนินการรวบรวมเอกสาร ตรวจสอบไปตามขั้นตอนกระบวนการ และไม่กังวลที่ถูกตรวจสอบพร้อมให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ ปปป. และยินดีให้ความร่วมมือในการตรวจสอบอย่างเต็มที่"
"หากมองเจาะลึกลงไปจะพบว่า พระสงฆ์คือฝ่ายที่ถูกมัดมือชก ไม่มีสิทธิออกเสียงออกข่าว เป็นอย่างนี้มาช้านานแล้ว คนไทยซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธจะมีใครรู้ลึกถึงปมประเด็นนี้หรือไม่ ในขณะที่ฝ่ายปกครองสงฆ์สูงสุดคือ มหาเถรสมาคม (มส.) ที่มีผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นเลขาธิการโดยตำแหน่ง การเป็นประหนึ่งแค่สถาบัน "ตรายาง" อ่อนแอในเชิงโครงสร้างอย่างเห็นได้ชัดเจน ถึงเวลาที่จะต้องปฏิรูปมหาเถรสมาคม เพื่อให้เป็นที่พึ่งที่หวังของคณะสงฆ์ได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นโครงสร้างที่มี ผอ.พศ.เป็นเลขาฯเช่นทุกวันนี้ การปรับโครงสร้างมหาเถรสมาคมจะเป็นหนทางที่ทำให้การทุริตฉ้อโกงจากฝ่ายข้าราชการประจำกระทำได้ยากขึ้น จำเป็นต้องสร้างกลไก "ถ่วงดุลอำนาจ"
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน