Hot Topic!

จนท.รัฐวิสาหกิจยื่นทรัพย์สินทำได้แต่ต้องมีมาตรการอื่น

โดย ACT โพสเมื่อ Sep 22,2017

 - - สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ - -


ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐ ถือเป็นประเด็นที่ ภาคส่วนต่างๆมีการเรียกร้องให้มีการ ปราบปรามอย่างจริงจัง แต่ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นผลสักเท่าไรนัก หนึ่งมาตรการที่มีการพูดถึงคือ การขยายขอบเขตในการยื่นบัญชีทรัพย์สินจากเดิมที่จะต้องเป็นผู้บริหารระดับสูงให้เพิ่มขอบเขตไปถึงระดับเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยนอกจากส่วนราชการแล้ว หน่วยงานที่สังคมมีการโฟกัสเป็นพิเศษไม่แพ้กันคือ "องค์กรรัฐวิสาหกิจ" ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ถึง 56 องค์กร ประเด็นนี้มีเสียงสะท้อนจากเสวนาและอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ด้านการพัฒนาและยกระดับคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจวันก่อน จัดโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ได้มีการหยิบยกภาพรวมสถานการณ์การทุจริตในวงการรัฐวิสาหกิจที่พบว่า

         

ปัจจุบันสำนักงาน ป.ป.ช.รับเรื่องร้องเรียน กล่าวหาทุกหน่วยงานทั่วประเทศแบ่งเป็น อยู่ระหว่างขั้นตอนแสวงหาข้อเท็จจริง 12,649 เรื่อง ไต่สวนข้อเท็จจริง 2,739 เรื่อง เป็นเรื่องส่วนกลาง 2,429 เรื่อง ส่วนภูมิภาค10,029 เรื่อง

         

คิดเป็น3.5 %ของทั้งหมด คือมีเรื่องกล่าวหาร้องเรียน 548 เรื่อง แสวงหา ข้อเท็จจริง 429 เรื่อง ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนแล้ว 119 เรื่อง ขณะเดียวกันยังมีข้อมูลการวิจัยจาก ม.หอการค้าไทยปี 2560 โดยวิเคราะห์การรับสินบนของเจ้าหน้าที่รัฐตั้งแต่ปี 2553-2560 พบว่า ช่วงก่อนปี 2557 มีเงินพิเศษจ่ายสินบนให้กับนักการเมืองเพื่อให้ได้สัญญา 25-35% แต่ในปี 2557 ลดเหลือ 5-15% และปัจจุบันปี 2560 เฉลี่ย 5-15% เป็นเพราะสภาวการณ์ที่นักการเมืองใช้อำนาจรัฐลดลงกว่าเดิม

         

ด้วยเหตุนี้หน่วยงานต่างๆจึงได้ทำโครงการ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจ โดยมีแนวทางให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดำเนินการ อาทิห้ามเข้าไปเป็นคู่สัญญากับหน่วยงาน ของรัฐ ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐทำงานกับบริษัทเอกชนที่ตัวเองมีหน้าที่กำกับดูแล ไม่ว่าตอนดำรงตำแหน่ง หรือตอนพ้นจากตำแหน่งไปแล้วไม่เกิน 2 ปี และห้ามรับของขวัญ ของฝาก ของฟรี ถ้ารับต้องไม่เกินเกณฑ์กำหนดทั่วไป ไม่เกิน 3,000 บาท นอกจากนี้ในประเด็นการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งปัจจุบันมีแค่ผู้บริหารสูงสุดและกรรมการ (บอร์ด) เท่านั้น อาจรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ที่ควรจะเตรียมความพร้อมเอาไว้  จากประเด็นนี้มีความเห็นจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน อาทิ ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่มองว่า เรื่องนี้เป็นการป้องปรามหรือพยายามที่จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงการแสดงความบริสุทธิ์ใจ แต่ขณะเดียวกันก็เห็นว่าเป็นภาระ ในการเก็บข้อมูล และมีตำถามว่าจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงหรือไม่ ก็คงต้องดู ทั้งทางบวกและทางลบ ควรต้องชั่ง น้ำหนักดูก่อน

         

ปัจจุบันมีองค์กรรัฐวิสาหกิจจำนวน ทั้งสิ้นกว่า 50 องค์กร ดังนั้นหากให้มีการยื่นบัญชีทรัพย์สินทั้งหมดก็อาจจะกลายเป็นว่า เป็นการโยนภาระไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างป.ป.ช. และถ้ายื่นไปแล้วไม่มีการ จัดเก็บอย่างจริงจังก็จะกลายเป็นภาระของทั้ง 2 ฝ่ายทั้งผู้ยื่นและผู้เก็บคงต้องดูว่าต่อไปจะมีมาตรการอะไรที่สามารถตอบโจทย์ได้ดีกว่านี้หรือไม่

         

"เรื่องนี้มีหลายวิธีที่จะทำจะไป ดูมาตรการใดมาตรการหนึ่งไม่ได้เพราะรัฐวิสาหกิจในขณะนี้หากเป็นองค์กรที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ก็มีมาตรการเช่นเดียวกับบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งมีหลักเกณฑ์ที่อ้างอิงใดถ้าเป็นองค์กรที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ก็เป็นเรื่องของทางราชการที่จะต้องดูต่อไปการดูอย่างใดอย่างหนึ่งคงไม่พอเพียง"

         

ส่วนองค์กรรัฐวิสาหกิจที่อยู่ภายใต้กระทรวงต่างๆต้องดูว่าจะมีคณะกรรมการที่มีความเป็นกลางเข้าไปทำหน้าที่นี้หรือไม่เพราะการแต่ตั้งในอดีตเป็นการแต่งตั้งในลักษณะพวกใครพวกมันไม่ได้เข้าไปกำกับดูแลอย่างแท้จริง

         

ต้องคำนึงถึงต้นทุน-วิธีการ

มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์การต่อต้านคอร์รัปชัน และปัจจุบันยังเป็น กรรมการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ มองว่า รัฐวิสาหกิจถือว่าถือว่ามีผลต่อสวัสดิภาพและความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างมาก ที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจจะเป็นแหล่งสำคัญของการหาผลประโยชน์ของนักการเมืองเห็นได้จากการจัดสรรตำแหน่งคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ ซึ่งถือว่ามีจุดมุ่งหมายพิเศษบางอย่างที่อาจจะมีประโยชน์ต่อฐานเสียงตัวเอง ส่วนเรื่องการขยายขอบเขตการยื่นบัญชีทรัพย์สินเป็นคำพูดที่ยังไม่มีอะไรชัดเจน เป็นเพียงการพูดถึงแนวคิดว่าควรที่จะมีการดำเนินการดีหรือไม่ จึงมีแนวคิดว่าต่อไปเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจจะต้อง ดำเนินการด้วย ซึ่งก็เป็นไปได้เพราะตอนนี้ ในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างนั้นก็มีพ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างที่ครอบคลุมทุกหน่วยงานที่ใช้เงินแผ่นดินให้มีมาตรฐานเดียวกัน

         

เพราะฉะนั้นต่อไประบบหรือมาตรการการแก้ปัญหาก็ควรที่จะเป็นไปในแนวทางเดียวกันซึ่งถือว่าเป็นไปได้ ส่วนจะดีหรือไม่เรื่องนี้ควรที่จะต้องคิดถึงต้นทุนว่าวิธีการคืออะไร ใครต้องยื่น ยื่นแล้วเอาไปทำอะไร จะคุ้มหรือไม่ถ้าจะต้องทำ ถ้าเป็นพนักงานระดับล่างที่ไม่สามารถไปมีอิทธิพลที่สามารถทำให้เกิดการทุจริตแล้วต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินจะเกิดอะไรบ้าง

         

แต่หากเป็นพนักงานในระดับที่มีอำนาจในการสั่งการ ตรวจรับมอบงาน มีอำนาจเซ็นอนุมัติแล้วก็มีความเป็นไปได้ที่จะต้องยื่น

         

เป็นดุลพินิจกรรมการปปช.

ความเห็นจาก สมลักษณ์ จัดกระบวนผล อดีตป.ป.ช. กล่าวว่า การขยายขอบเขตการยื่นบัญชีทรัพย์สินนั้นสามารถดำเนินการได้ตามบทบัญญัติในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ที่ให้อำนาจของคณะกรรมการที่ป.ป.ช. ตั้งขึ้นในการประกาศว่าจะเพิ่มไปถึงบุคคลใดบ้างซึ่งที่ผ่านมาก็มีการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวมาเรื่อยๆ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นดุลพินิจของคณะกรรมการที่จะเห็นสมควรว่าจะขยายขอบเขตดังกล่าวออกไปหรือไม่  ถ้าเห็นว่า ตำแหน่งใดที่เสี่ยงต่อการใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ ไม่สุจริต คณะกรรมการป.ป.ช.ก็จะสามารถใช้อำนาจตามที่บทบัญญัติของกฎหมายกำหนด "หากเห็นว่าตำแหน่งใดไม่มีหรือบ้านเมืองในการเปลี่ยนแปลงมีอำนาจมากขึ้นมีโอกาสในการทุจริตคณะกรรมการก็สามารถดำเนินการได้ ซึ่งองค์กรรัฐวิสาหกิจถือเป็นองค์กรรัฐที่สามารถดำเนินการได้ ส่วนการกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการก็ต้องขึ้นอยู่ที่ดุลพินิจของกรรมการเช่นกัน"

 

 

 

 

 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน


Follow LINE: http://bit.ly/2vDtGHV
Follow Facebook: http://bit.ly/2x3oArO