Hot Topic!
ตบทรัพย์พันล้าน แฉ'รมต.'หากินระบายข้าวสต๊อกรัฐ
โดย ACT โพสเมื่อ Sep 22,2017
- - สำนักข่าวผู้จัดการรายวัน - -
"วัชระ" ปูด บ.วีออร์แกนิค ที่ชนะประมูลข้าวสต๊อกรัฐ จดทะเบียนแค่ 1 ลบ. จ่าย 313 ลบ.ได้ สงสัยเป็นนอมินีใคร เผยเป็นบริษัท เดียวกับที่ รองผบ.ตร.ลงตรวจแล้วสงสัยนำข้าวเน่าเวียนไปขายให้คนกิน จนสั่งอายัดไว้ แฉ "กรมการค้าต่างประเทศ" เกียร์ว่างหลัง ศาล ปค.สูงสุดปลดล็อกระบายข้าว เหตุ "ผู้บริหารกรมฯ" หวั่นถูกลากเอี่ยวแก๊งโคตรโกง "คนวงการข้าว" ระบุมีบางบริษัทที่ชนะประมูล ถูก "รมต." เรียกตบทรัพย์เป็นพันล้านบาท
วานนี้ (21 ก.ย.) นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตรวจสอบกระบวนการระบายข้าวที่ไม่ใช้การบริโภคของคนในสต๊อกของรัฐ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ว่า มีข้อพิรุธในส่วนของข้าวขาวชนิดห้าเปอร์เซ็นต์ จำนวน 61,500 ตัน มูลค่า 313 ล้านบาท ที่ บริษัท วีออร์แกนนิก จำกัด ซื้อจากกรมการค้าต่างประเทศเฉลี่ยราคากิโลกรัมละ 5 บาท โดยอ้างว่าจะนำข้าวไปผลิตเป็นปุ๋ยเคมี แต่พบพิรุธว่าบริษัทดังกล่าวมีทุนจดทะเบียนเพียงแค่ 1 ล้านบาท แต่สามารถจ่ายเงินให้แก่กรมการค้าต่างประเทศ จำนวน 6 งวดรวม 313 ล้านบาทได้หมด จึงมีข้อสงสัยว่าเป็นนอมินีให้กับใครหรือไม่ หรือนำเงินจากไหนมาจ่าย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 ก.ย.60 พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา รอง ผบ.ตร. ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบติดตามและกำกับดูแลการระบายข้าวในสต๊อกของรัฐเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม พร้อม พล.ต.ท.ไกรบุญ ทรวดทรง ประธานคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า (อคส.) และคณะ ลงพื้นที่ บริษัท วีออร์แกนนิก จำกัด ตั้งอยู่ ต.คณฑี อ.เมือง จ.กำแพงเพชร ซึ่งพบว่า บริษัท วีออร์แกนนิกฯ แจ้งว่าจะนำมาใช้ผลิตเป็นสารปรับปรุงดิน แต่กลับเปลี่ยนกรรมวิธีการผลิต นำข้าวไปคลุกกับสารชีวภาพต่างๆ โดยไม่ได้ทำการบดข้าวตามที่ทำสัญญาไว้กับ อคส. จึงมีความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่ทำไว้กับรัฐ ซึ่งพบว่าเป็นการกระทำความผิดในลักษณะนี้ประมาณ 3-4 ราย ถือว่าผิดสัญญากับรัฐ โดยนำข้าวไปใช้ผิดวัตถุประสงค์จะสามารถทำกำไรได้มหาศาล
ในวันนั้น พล.ต.ท.ไกรบุญ ระบุว่า ได้ใช้อำนาจตามกฎหมายสั่งการให้บริษัท วีออร์แกนนิกฯ ยุติการดำเนินการ เพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบอย่างละเอียด และมีคำสั่งย้าย นายศิริพงษ์ ทิพย์วรรณ หัวหน้าคลังสินค้า อคส. จ.กำแพงเพชร กลับเข้าส่วนกลางภายใน 24 ชม. และยังจะตรวจสอบเอกสารการอนุมัติขนย้ายข้าวจากต้นทางถึงปลายทางทั้งหมดด้วย
นอกจากนี้ คณะ พล.ต.อ.เดชณรงค์ ได้เข้าตรวจสอบบริษัท เพียรฝันฟาร์ม วัตถุดิบอาหารสัตว์ และท่าข้าวรัตนภัณฑ์ ต.ท่ามะเขือ อ.คลองคลุง ซึ่งบริษัท วีออร์แกนนิกฯ จัดส่งข้าวล็อตดังกล่าวมาจำหน่าย พบว่าสภาพเมล็ดข้าวยังมีลักษณะเต็มเมล็ด ซึ่งไม่สามารถนำไปใช้เป็นสารบำรุงดินได้ตามที่บริษัทกล่าวอ้าง และไม่ได้ทำการขออนุญาตขนย้ายข้าวอย่างถูกต้อง รวมถึงผู้ที่จัดจำหน่ายยังเสี่ยงกระทำผิดฐานหลอกลวงผู้บริโภคอีกด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ได้มีกรณีของ บริษัท ที พี เค เอทานอล จำกัด ซึ่งเข้าร่วมประมูลข้าวสารสต๊อกรัฐบาลเข้าอุตสาหกรรมที่มิใช่คน และสัตว์บริโภค ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งได้เสนอซื้อในราคาสูงสุด 74 คลัง ปริมาณรวม 5.25 แสนตัน แต่ไม่ได้รับการอนุมัติขาย โดย นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ระบุว่า บริษัทดังกล่าวขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้เสนอซื้อตั้งแต่ต้น และยกเลิกการจำหน่ายข้าวสารให้แก่บริษัท ที พี เค เอทานอล รวมถึงมีการอ้างชื่อ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรองประธานกรรมการ นบข. รับคำสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธานกรรมการ นบข. ให้บริษัท ที พี เค เอทานอล จำกัด ขาดคุณสมบัติ
ส่งผลให้ บริษัท ที พี เค เอทานอล ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) คณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว และคณะทำงานดำเนินการระบายข้าว และขอให้ระงับกระบวนการประกวดราคา และการทำสัญญากับบุคคลหรือนิติบุคคล รวมทั้งการดำเนินการตามสัญญาในการประกวดราคาจำหน่ายข้าวสารสต๊อกรัฐบาลเพื่อเข้าอุตสาหกรรมที่มิใช่คนบริโภคไว้ก่อน จนกว่าคดีจะสิ้นสุด
ทำให้ กรมการค้าต่างประเทศ ต้องชะลอการทำสัญญาซื้อขายข้าวเข้าอุตสาหกรรมที่มิใช่คนบริโภค ครั้งที่ 2/2560 หรือข้าวกลุ่ม 2 กับผู้ชนะการประมูลรวม 2 ล้านตัน ที่ได้เปิดประมูลไปเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ไว้ก่อน และชะลอการเปิดประมูลข้าวกลุ่ม 3 ปริมาณ 5.68 แสนตัน ครั้งที่ 2/2560 ที่ตามกำหนดเดิมจะเปิดประมูลในวันที่ 17 ก.ค.ไว้ก่อน รวมปริมาณข้าวกลุ่ม 2 และ 3 ที่จะต้องชะลอการขายปริมาณรวม 2.56 ล้านตัน
ต่อมาเมื่อช่วงเดือน ก.ค.60 คณะกรรมการนโยบายและการบริหารจัดการข้าว คณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว คณะทำงานดำเนินการระบายข้าวในสต๊อกของรัฐ และกรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 - 4 ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด โดยให้เหตุผลว่า คำสั่งระงับกระบวนการของศาลปกครองกลาง ส่งผลให้ภาครัฐต้องสูญเสียงบประมาณในการจัดเก็บข้าวในสต๊อกรัฐ ถึงเดือนละ 163 ล้านบาท อีกทั้งยังมีความเสียหายเกิดขึ้นหากไม่มีการเร่งทำสัญญาขาย ตามนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้ระบายข้าวในสต๊อกรัฐให้หมดภายในเดือน ก.ค.60 ตลอดจนอาจมีผล กระทบในแง่จิตวิทยาต่อตลาดข้าว และส่งผลให้ข้าวฤดูกาลใหม่ที่กำลังจะออกมีราคาตกลง
จนเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 60 ศาลปกครองสูงสุด จะมีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองกลาง ซึ่งส่งผลให้ กรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะผู้รับผิดชอบกระบวนการระบายข้าวฯ สามารถดำเนินการระบายข้าวกลุ่ม 2 และกลุ่ม 3 ปริมาณรวม 2.56 ล้านตันต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า ตลอดระยะเวลา 1 เดือนกว่าที่ผ่านมาภายหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่ง กรมการค้าต่างประเทศ กลับไม่มีการเร่งรัดดำเนินการเพื่อป้องกันผลเสียหายต่อภาครัฐตามที่ได้อ้างในการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองแต่อย่างใด โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า ผู้บริหารของกรมการค้าต่างประเทศ กังวลว่าอาจมีผลผูกพันและมีความผิดต่อตัวเอง หากทำการอนุมัติการเซ็นสัญญาหรือให้มีการประมูลข้าวล็อตที่เหลือ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ได้มีหลายกลุ่ม ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย รวมถึงภาคเอกชน ได้ชี้ให้เห็นข้อพิรุธและความไม่ชอบมาพากลในหลายกรณีของซื้อขายข้าวเข้าอุตสาหกรรมที่มิใช่คนบริโภค ครั้งที่ 2/2560 รวมทั้งการเข้าตรวจสอบของ คณะกรรมการตรวจสอบติดตามและกำกับดูแลการระบายข้าวในสต๊อกของรัฐเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ที่มี พล.ต.อ.เดชณรงค์ เป็นประธานด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้เคยยื่นเรื่องต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ตรวจสอบกรณีที่มีรัฐมนตรีคนหนึ่งในรัฐบาล ใช้เฮลิคอปเตอร์แบบ MI-17 ของกองทัพบก บินจากกรุงเทพฯ ไปยังโรงเรียนเกาะตาล อ.ขาณุวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร เพื่อไปตรวจสอบโรงสีข้าวแห่งหนึ่ง ที่เข้าร่วมประมูลข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาลเข้าสู่อุตสาหกรรมที่มิใช่การบริโภคของคน ครั้งที่ 1/2560 อีกทั้งยังได้มีการหารือกับผู้บริหารของโรงสีดังกล่าว แต่กลับไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดต่อสาธารณะ
แหล่งข่าวในวงการค้าข้าว เปิดเผยด้วยว่า ก่อนหน้านี้มีข่าวว่า รัฐมนตรีคนหนึ่งในรัฐบาลนี้ ได้เรียกบริษัทเอกชนที่ชนะการประมูลข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาลเข้าสู่อุตสาหกรรมที่มิใช่การบริโภคของคน ครั้งที่ 1/2560 บริษัทหนึ่งเข้าเพื่อเรียกรับผลประโยชน์จำนวนกว่าพันล้านบาท แต่บริษัทเอกชนได้ปฏิเสธ เนื่องจากเห็นว่าได้เข้าประมูลและเสนอราคาอย่างถูกต้อง ต่อมารัฐมนตรีคนเดิมยังพยายามต่อรองขอเรียกรับผลประโยชน์เป็นจำนวนลดลงมากึ่งหนึ่งหรือ 500 ล้านบาท แต่บริษัทดังกล่าวก็ปฏิเสธเช่นเดิม ส่งผลให้มีการตัดสิทธิ์บริษัทดังกล่าวออกจากการประมูลข้าวล็อตที่ 1 รวมทั้งกีดกันไม่ให้เข้าร่วมประมูลข้าวสต๊อกรัฐในล็อตที่เหลือด้วย
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน