Hot Topic!
นำร่องพนักงานรัฐวิสาหกิจแจงบัญชีทรัพย์สินสกัดโกง
โดย ACT โพสเมื่อ Sep 19,2017
- - สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ - -
"องคมนตรี" ชี้หน่วยงานรัฐ ต้นตอทุจริต แนะสร้างนโยบายเชิงป้องกัน พร้อมแก้กฎหมายให้สอดคล้องสภาพความเป็นจริง ด้านป.ป.ช.เผยสถิติร้องเรียนรัฐวิสาหกิจ 3.5% ของทั้งหมด ชี้ยอดน้อยแต่ความเสียหายมูลค่าสูง เล็งเพิ่มขอบเขตเจ้าหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สิน กสทช.ประเดิมองค์กรแรก
ในการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดี ด้านการพัฒนาและยกระดับคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)
พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "ธรรมาภิบาลกับการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจ" ตอนหนึ่งถึงปัญหาทุจริตคอร์รัปชันว่า ทุกคนรู้ดีถึงปัญหาทุจริตประเทศไทยว่าบั่นทอน บ้านเมืองแค่ไหน การทุจริตเกิดจากหน่วยงานรัฐเป็นสำคัญ การปราบทุจริตเหมือนปราบยาเสพติด ฟอกเงิน ไม่สามารถใช้นโยบายปราบปรามอย่างเดียวได้ โดยนโยบายป้องกันถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่จะต้องอุดช่องไม่ให้เกิดทุจริต เพื่อไม่ให้ขั้นตอนพัฒนาประเทศต้องสะดุด
"การป้องกันและปราบทุจริตมีหน่วยงานมากมายอย่างโครงสร้างป.ป.ช.เขียนไว้สมบูรณ์มาก แต่ถูกนำมาใช้ไม่รู้ถึง 10% หรือไม่ ทำให้ป.ป.ช.และรัฐบาลถูกวิจารณ์ว่าทำงานช้า แม้ 3-4 ปี ที่ผ่านมาป.ป.ช.จะทำงานหนักมากแต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างไรก็ตามเชื่อว่า ปัญหาทุจริตจะดีขึ้น แต่ต้องใช้เวลาและใช้ความกล้าหาญ ของผู้บริหารให้มากกว่านี้" พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว
ดังนั้นสิ่งที่อยากฝากคือ การแก้ไขกฎหมายให้มีความสอดคล้องกับความเป็นจริงทุกวันนี้หน่วยงาน ที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดคือ ท้องถิ่นเพราะระเบียบใหญ่ ที่นำไปใช้ไม่สอดคล้องกัน จึงควรแก้ไขไม่เช่นนั้นผู้บริหารท้องถิ่นติดคุกกันหมด อย่าไปมองว่าท้องถิ่นทุจริตมากที่สุดขอให้มองด้วยว่า ท้องถิ่นเจอปัญหาอะไรบ้าง จึงต้องแก้ปัญหาให้ท้องถิ่น ไม่ใช่ให้ไปยุบท้องถิ่น เรื่องแบบนี้ต้องใช้เวลาอย่างน้อยคนทำเลวต้องอยู่อย่างหวาดผวาตลอดเวลา
สถิติร้องเรียนน้อยแต่เสียหายสูง
ด้านนายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช.ในฐานะรักษาราชการแทนเลขาธิการป.ป.ช. กล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์การทุจริตในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจว่า ปัจจุบันสำนักงานป.ป.ช.รับเรื่องร้องเรียนกล่าวหาหน่วยงานทั่วประเทศแบ่งเป็นอยู่ระหว่าง ขั้นตอนแสวงหาข้อเท็จจริง 12,649 เรื่อง ไต่สวนข้อเท็จจริง 2,739 เรื่อง เป็นเรื่องส่วนกลาง 2,429 เรื่อง ส่วนภูมิภาค 10,029 เรื่อง
ในส่วนของรัฐวิสาหกิจนั้นมีอยู่ประมาณ 3.5%ของทั้งหมดคือมีเรื่องกล่าวหาร้องเรียน 548 เรื่อง แสวงหาข้อเท็จจริง 429 เรื่อง ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนแล้ว 119 เรื่องแบ่งเป็นข้อร้องเรียนกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจนั้น แบ่งเป็นปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ 62% การจัดซื้อจัดจ้าง20% พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) 10% และอื่น ๆ8 %แม้จะเห็นว่าเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อย แต่ความเสียหายมีสูงเพราะรัฐวิสาหกิจมี งบประมาณค่อนข้างมาก
กำชับผู้บริหารเร่งสร้างความเข้าใจ
นอกจากนี้ข้อมูลการวิจัยจาก ม.หอการค้าไทยปี2560 ได้วิเคราะห์การรับสินบนของเจ้าหน้าที่รัฐตั้งแต่ปี 2553-2560 พบว่า ช่วงก่อนปี 2557 มีเงินพิเศษจ่ายสินบนให้กับนักการเมืองเพื่อให้ได้สัญญา 25-35% แต่ในปี 2557 ลดเหลือ 5-15% และปัจจุบันปี 2560 เฉลี่ย 5-15% เป็นเพราะสภาวการณ์ที่นักการเมืองใช้อำนาจรัฐลดลงกว่าเดิม
"สถานการณ์คอร์รัปชันเป็นอย่างนี้สำนักงาน ป.ป.ช. จึงทำโครงการกับหน่วยงานต่าง ๆเพื่อช่วยกันแก้ไข โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจมีข้อเสนอแนะเพื่อสร้างความเข้าใจกับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่เช่น อย่าเข้าไปเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐทำงานกับบริษัทเอกชนที่ตัวเองมีหน้าที่กำกับดูแล ไม่ว่าตอนดำรงตำแหน่ง หรือตอนพ้นจากตำแหน่งไปแล้วไม่เกิน 2 ปี และห้ามรับของขวัญ ของฝาก ของฟรี ถ้ารับต้องไม่เกินเกณฑ์กำหนดทั่วไป ไม่เกิน 3,000 บาท" นายวรวิทย์ กล่าว
เล็งเพิ่มจนท.ยื่นบัญชีทรัพย์สิน
นายวรวิทย์ กล่าวว่า ภายหลังมีการนำเรื่องประเมินคุณธรรม หรือ ITA มาใช้ พบว่ารัฐวิสาหกิจทำได้สูงถึง 70-80% ต้องรักษาระดับนั้นให้ได้ และทุกวันนี้สนับสนุนให้มีการสร้างศูนย์ต้านทุจริตในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สร้างความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างที่ออกมาใหม่ เป็นต้น นอกจากนี้การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ปัจจุบันมีแค่ผู้บริหารสูงสุดและกรรมการ (บอร์ด)เท่านั้น ที่ต้องยื่นแสดงความโปร่งใสต่อ ป.ป.ช. ก็ขอให้เจ้าหน้าที่เตรียมความพร้อมเอาไว้ เพราะได้ยินมาว่ารัฐบาลต้องการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐยื่นบัญชีทรัพย์สินทุกคน เบื้องต้นให้ลองยื่นมาไว้ที่หน่วยงานก่อนก็ได้เหมือนกับกสทช. เริ่มทำแล้ว จะทำให้องค์กรได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนมากขึ้น
ปตท.ยันยึดยุทธศาสตร์ป.ป.ช.
ขณะที่นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในส่วนของปตท.นั้นมีแนวทางการดำเนินกิจการขององค์กรยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีหลักการใหญ่ คือ เก่ง ดี มีความรับผิดชอบ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของป.ป.ช.ที่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจเห็นพ้องกันว่าต้องมีธรรมาภิบาลและบรรษัทภิบาล
"ต้องสร้างความเข้มแข็งจากภายในองค์กร ปลูกฝังการป้องกันการทุจริต มีคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพราะแม้ว่าระบบจะดีอย่างไร แต่ถ้าใจไม่ไปหรือคนยังมองว่าการทุจริตเป็นเรื่องปกติ แบบนี้ไม่ได้ ดังนั้นต้องสร้าง ค่านิยมให้คนในองค์กรเข้าใจว่าจะปล่อยให้เกิดการทุจริตไม่ได้" นายเทวินทร์ กล่าว
อย่างไรก็ดีปตท.ได้นำแผนยุทธศาสตร์ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตมาปรับใช้การปฏิบัติในองค์กร โดยมุ่งมั่นเสริมสร้างความแข็งแกร่งขององค์กร เพื่อยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย (CPI) ด้วยการต่อต้านคอร์รัปชันเชิงรุก สร้างความแข็งแกร่งจากภายในองค์กร ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการติดตาม ตรวจสอบ เพื่อสร้างสังคมไม่ทน ต่อการทุจริต
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน