Hot Topic!
เอกชนชู'ซิติเซน ฟีดแบ็ค' ต้านคอร์รัปชันผ่าน 'คิวอาร์โค้ด'
โดย ACT โพสเมื่อ Sep 18,2017
- - สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ - -
4 องค์กรภาคเอกชน ประกอบด้วยแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) ร่วมกับสมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย(TMRS) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย ) และ Head Social Enterprise เปิดตัวโครงการต้นแบบ Citizen Feedback ให้เอกชน ประชาชน ประเมินบริการภาครัฐ และให้ข้อมูลทุจริตคอร์รัปชันผ่านคิวอาร์โค้ด (QR code)
กรุงเทพธุรกิจ "บัณทิต นิจถาวร" เลขาธิการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) แถลงว่า ที่ผ่านมาภาคธุรกิจในประเทศมีบทบาทมากขึ้นในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันผ่าน CAC ที่มีเป้าหมายให้ธุรกิจเอกชนมีการทำธุรกิจแบบโปร่งใส นับตั้งแต่เริ่มโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2553 มีจำนวนบริษัทเอกชนเข้ามาร่วมแล้ว 852 แห่ง กว่าครึ่งหนึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และมีจำนวนบริษัทที่ผ่านการยอมรับจากโครงการว่ามีนโยบาย แนวปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตตามมาตรฐานของ CAC แล้ว 262 บริษัท
"ความตระหนักรู้ของภาคธุรกิจในเรื่องการต่อต้านการทุจริตมีมากขึ้น เห็นได้จากจำนวนบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ แต่ละไตรมาสจะขอเข้ามาประมาณ 50-60 แห่ง ซึ่งบริษัทที่เข้าร่วมก็ต้องมีมาตรฐานการทำงานที่ผ่านการยอมรับภายใน18 เดือน นอกจากนี้ยังเห็นว่ามีกรรมการบริษัท รวมถึงองค์กรต่างๆ เข้าร่วมกิจกรรม และโครงการที่เกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริต การกำกับดูแลกิจการที่ดี (CG)มากขึ้น"
อย่างไรก็ตามภาคธุรกิจยังมีประเด็นที่ท้าทาย จากความเสี่ยงเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน และความไม่โปร่งใสจากการติดต่อราชการ แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลมีความพยายามในการผลักดันการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง แต่ก็ยังมีปัญหาให้เห็นอยู่ จึงควรจะต้องมีการติดตามปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยให้เอกชนและประชาชนมีส่วนร่วมในการรายงานปัญหา และประเมินการบริการของภาครัฐ
แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) ร่วมกับสมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย(TMRS) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย ) และ Head Social Enterprise เปิดตัวโครงการต้นแบบ "Citizen Feedback" ให้เอกชน ประชาชน แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความพึงพอใจ และความโปร่งใสของการใช้บริการของหน่วยงานรัฐ ผ่านแบบสอบถามออนไลน์ที่พัฒนาโดยภาคเอกชนบนสมาร์ทโฟน โดยวิธีสแกน คิวอาร์โค้ด (QR code) ภายใโต้สโลแกน "สังคมดี๊ดี สองนาทีง่าย"
โดยโครงการนี้เกิดขึ้นจากการที่ CAC ได้ศึกษาวิธีการที่สามารถช่วยลดปัญหาการเรียกรับสินบนในต่างประเทศได้ และพบว่าวิธีหนึ่งที่หลายๆ ประเทศซึ่งมีปัญหาการทุจริตสินบนรุนแรงนำมาใช้ได้ผลดี คือการสร้างระบบที่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นต่อบริการภาครัฐที่ได้รับ ซึ่งรวมถึงการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการถูกเรียกรับสินบนโดยเจ้าหน้าที่รัฐด้วย
อย่างไรก็ตามในช่วงแรกโครงการต้นแบบจะเริ่มทดสอบระบบกับหน่วยงานภาครัฐ5 แห่งระหว่างวันที่ 18 ก.ย. 2560 ถึง 13 ต.ค.2560 ได้แก่ 1) ฝ่ายทะเบียน กรมขนส่งทางบก 2) ศูนย์รับขอใบอนุญาตสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา 3) สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร 4) สำนักงานที่ดินสาขาห้วยขวาง และ 5) สำนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี โดยการประสานงานผ่านสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)
โครงการนี้สร้างพื้นที่ให้ประชาชนทั่วไปสามารถสะท้อนความเห็นเกี่ยวกับบริการที่ได้รับจากหน่วยงานรัฐ โดยวิธีสแกน QR Code ที่ติดตั้งอยู่ที่หน่วยงานที่ไปใช้บริการ นำไปสู่การตอบแบบสอบถามออนไลน์สั้น ๆ ที่ใช้เวลาเพียงสองนาที โดยผู้ตอบสามารถให้คะแนนความพึงพอใจของบริการที่ได้รับ ระบุถึงความประทับใจ และอุปสรรคที่พบจากการใช้บริการ รวมถึงให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจ่ายสินบนด้วย ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามสามารถให้ข้อมูลได้อย่างเต็มที่ เพราะไม่ต้องเปิดเผยตัวตน และสามารถติดตามผลการประเมินได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังจะทำให้ประชาชนเห็นว่าการแสดงความคิดเห็นสามารถมีส่วนทำให้เกิดการสร้างมาตรฐานและการปรับปรุงการให้บริการภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ข้อมูลจากประชาชนผู้รับบริการจะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของหน่วยราชการอย่างสร้างสรรค์ และเมื่อบริการของภาครัฐมีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส เงื่อนไขการทุจริตคอร์รัปชันจากการให้บริการภาครัฐก็จะลดลง
"ในช่วงแรกเราเริ่มกับหน่วยงานนำร่องที่เป็นองค์กรที่มีประชาชนไปติดต่อ และใช้บริการจำนวนมาก หลังจากการเก็บข้อมูล ประเมินเมิน นำเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐ ปรับปรุงสิ่งที่ยังเป็นข้อจำกัด ก็จะขยายผลให้กับหน่วยงานอื่นๆ โดยอาจจะเลือกเป็นหน่วยงาน เป็นพื้นที่ หรือเฉพาะอุตสาาหกรรม ซึ่งสเต็ปต่อไปน่าจะเริ่มได้ภายในปีหน้า"
นอกจากโครงการ Citizen Feedback แล้วทาง CAC อยู่ระหว่างการพัฒนาอีกหลายโครงการ เพื่อส่งเสริมการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ประกอบด้วย โครงการสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี)โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นการต่อยอดจากโครงการของCACเดิมที่มีอยู่ ซึ่งบริษัทที่เข้าร่วมก็มีทั้งบริษัทขนาดกลาง และบริษัทขนาดใหญ่ แต่ต่อไปจะส่งเสริมให้บริษัทขนาดเล็กที่เป็นเอสเอ็มอีเข้าร่วมด้วย แต่ก็จะมีการกำหนดมาตรฐานต่างๆ ให้แตกต่างจากเดิม เหมาะสำหรับเอสเอ็มอี คาดว่าจะเริ่มได้ภายในปีหน้า
อีกโครงการคือ การทำฉลากรับรองกิจการที่มีกำกับดูแลกิจการที่ดี มีความโปร่งใส ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน พร้อมกับสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคมว่าควรจะสนับสนุนกิจการเหล่านี้ได้อย่างไร ทั้งการเป็นลูกค้า การใช้บริการ รวมถึงการลงทุน ซึ่งจะทำให้ฉลากนี้เป็นที่ต้องการของภาคธุรกิจ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ต้องใช้เวลา และดำเนินการอย่างรอบคอบ
สมาคมวิจัยฯชี้ข้อมูลเป็นกลาง-เชื่อถือได้
กรุงเทพธุรกิจ ด้าน "อาภาภัทร บุญรอด" ประธานสมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย (TMRS) ซึ่งประกอบด้วยบริษัทวิจัยการตลาดชั้นนำในประเทศไทย บอกว่า สมาคมวิจัยการตลาด ฯ จะทำหน้าที่เก็บรวบมรวมข้อมูล วิเคราะห์ และประมวลผลจากแบบสอบถาม ซึ่งทำให้สามารถมั่นใจได้ถึงความเป็นกลาง และเชื่อถือได้ของข้อมูล
ข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามจะถูกนำไปวิเคราะห์และนำเสนอในรูปแบบของสถิติ เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบระดับความพึงพอใจและความโปร่งใสของแต่ละหน่วยงานได้อย่างต่อเนื่อง โดยผลการวิเคราะห์จะถูกนำเสนอให้หน่วยงานที่ถูกประเมิน รวมถึงเผยแพร่ผ่านสื่อสาธารณะเป็นประจำ เพื่อเป็นข้อมูลให้หน่วยงานต่างๆ สามารถปรับปรุงการให้บริการให้เป็นที่พึงพอใจของประชาชนผู้ใช้บริการมากขึ้น
นอกจากนี้ ข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบจากผู้เชี่ยวชาญในภาคเอกชน จะช่วยให้รัฐบาลทราบถึงระดับความพึงพอใจของประชาชนที่มาใช้บริการหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ นำไปสู่การสร้างระบบแรงจูงใจเพื่อให้เกิดการปรับปรุงคุณภาพของการให้บริการ รวมถึงป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันที่อาจเกิดขึ้นจากการให้บริการของภาครัฐ นำไปสู่ระบบการให้บริการของภาครัฐที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใส
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน