Hot Topic!
เปิดลำดับเหตุการณ์สำคัญคดีปลูกปาล์มอินโดฯก่อนกรณีค่านายหน้า32ล.ดอลลาร์
โดย ACT โพสเมื่อ Sep 15,2017
- - สำนักข่าวอิศรา - -
โครงการปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซียของบริษัท พีทีที.กรีน เอเนอร์ยี่ฯ (PTT.GE) ในเครือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กำลังถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลังจากต้นเดือน ส.ค. 2560 ที่ผ่านมา น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. พร้อมคณะทำงานเดินทางไปสอบปากคำ Mr.Burhan (เจ้าของโครงการ PT.KPI) และพยานรายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วยตัวเอง
ขณะเดียวกันสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานแล้วว่า บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด (บริษัทลูกของ Deloitte Touche Tohmatsu ผู้สอบบัญชีระดับโลก) ตรวจสอบพบความไม่ชอบมาพากลในการดำเนินโครงการนี้หลายประการ และนำเรื่องเรียนต่อผู้บริหารระดับสูงใน ปตท. ช่วงเดือน มิ.ย. 2560 ที่ผ่าน
โดยเฉพาะประเด็น ‘ค่านายหน้า’ การซื้อขายที่ดินในโครงการ PT.Az Zhara (มี Mr.Agustiar เป็นเจ้าของ) และ PT.KPI (มี Mr.Burhan เป็นเจ้าของ) ที่ทำสัญญากับ KSL เอกชนที่ปรึกษาจดทะเบียนในประเทศโดมินิกัน และมี 2 คนไทยเกี่ยวข้องในการลงนาม โดยได้รับเงินอย่างน้อย 32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และพบเส้นทางการเงินที่ไหลไปยังคนไทยรายอื่น และเอกชนต่างประเทศ ผ่านธนาคารในฮ่องกง รวมถึงรายละเอียดเช็คบางส่วนที่แฟกซ์ถึงร้านค้าใจกลางเมือง กทม. อีกจำนวนหลายล้านเหรียญสหรัฐฯด้วย (อ่านประกอบ : ขมวดเส้นทางเงินซับซ้อน!ค่านายหน้าคดีปลูกปาล์มอินโดฯผ่านแบงก์ฮ่องกง-ถึงร้านค้าใน กทม.)
เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจประเด็นต่าง ๆ มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ลำดับเหตุการณ์สำคัญตามข้อมูลของบริษัท ดีลอยท์ฯ ให้ทราบ สรุปได้ดังนี้
@ปี 2549
โครงการนี้เริ่มต้นขึ้นช่วงเดือน พ.ย. 2549 (ใช้ชื่อตอนแรกว่า โครงการพัฒนาธุรกิจน้ำมันปาล์ม) โดยคณะกรรมการ (บอร์ด) ปตท. อนุมัติหลักการลงทุนในธุรกิจปลูกปาล์ม ในประเทศอินโดนีเซีย
@ปี 2550
ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ม.ย. 2550 บอร์ด ปตท. ดึงนายนิพิฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา มาปฏิบัติงาน Secondment PTT ตำแหน่งผู้ช่วยสังกัดกรรมการผู้จัดการใหญ่ ตามคำสั่ง ปตท. ที่ 60/2550
เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2550 บอร์ด ปตท. เห็นชอบให้จัดตั้ง Holding Company และสอบทานข้อมูลบริษัทเป้าหมายทั้ง 5 แห่ง (โครงการ PT.Az Zhara PT.MAR Pontianak PT.MAR Banyausin PT.FBP และ PT.KPI) พร้อมเจรจาราคาและเงื่อนไข
หลังจากนั้นได้เริ่มต้นโครงการ PT.MAR Pontianak และ PT.Az Zhara โดยเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2550 บอร์ด ปตท. ให้ความเห็นชอบดำเนินการลงทุนใน PT.Az Zhara และ PT.MAR Pontianak ทั้งนี้บอร์ด ปตท. ได้อ้างข้อมูลที่ JP Morgan (บริษัทประเมินหลักทรัพย์และธุรกิจระดับโลก) วิเคราะห์ว่า ราคาหุ้นของทั้งสองโครงการ สูงกว่าราคาที่ ปตท. จะซื้อ
ต่อมาเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2560 ปตท. มีคำสั่งตั้งโครงการพัฒนาธุรกิจปาล์มน้ำมัน โดยแต่งตั้งนายนิพิฐ เป็น ผอ.โครงการ สังกัดรองกรรมการผู้จัดการใหญ่การเงินและบัญชีองค์กร
เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2550 บอร์ด ปตท. เห็นชอบการตั้ง Holding Company โดยมี ปตท. ถือหุ้น 100% ที่ประเทศสิงคโปร์
ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2550 จดทะเบียนบริษัท PTT.GE Singapore เป็น Holding Company โดย ปตท. ถือหุ้น 100%
หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2550 เริ่มต้นโครงการ PT.MAR Bonyuasin โดยบอร์ด ปตท. อนุมัติกรอบลงทุนในพื้นที่ไม่เกิน 500,000 เฮกตาร์ (1 เฮกตาร์ ประมาณ 6 ไร่) ในเวลา 5 ปี กำหนดราคาการใช้สิทธิบนที่ดินเปล่า (Greenfield) ไม่เกิน 600 เหรียญสหรัฐฯ/เฮกตาร์ และอนุมัติซื้อหุ้น PT.SHS (คือ PT.MAR Banyuasin) วงเงิน 21.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
@ปี 2551
เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2551 บอร์ด ปตท. อนุมัติซื้อสินทรัพย์ PT.SHS (คือ PT.MAR Banyuasin) และอนุมัติเงินพัฒนาโครงการ 44 MUSD ในระยะเวลา 7 ปี และอนุมัติหลักเกณฑ์การลงทุน และเงินลงทุนจำนวน 315 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับซื้อสิทธิบนที่ดินเปล่า อีก 3-3.5 แสนเฮกตาร์ ที่ราคาไม่เกิน 900 เหรียญสหรัฐฯ/เฮกตาร์
ต่อมาเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2551 บอร์ด ปตท. เห็นชอบเข้าลงทุนในโครงการ PT.MAR Banyuasin 70% วงเงิน 86.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
@ปี 2555
เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2555 บอร์ด ปตท. อนุมัติกรอบการขยายบริเวณเพาะปลูกและพัฒนาโครงการส่วนขยายของ PT.Az Zhara (ต่อมาคือโครงการ PT.KPI) และโครงการอื่น ๆ ในอินโดนีเซียอีกไม่เกิน 2 แสนเฮกตาร์
ทั้งหมดคือลำดับเหตุการณ์สำคัญกรณีปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซีย ก่อนปมปัญหาค่านายหน้าซื้อขายที่ดินที่พบว่า มีคนไทยเข้าไปเกี่ยวข้องดังกล่าว
ปัจจุบันอยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงในชั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังนั้นผู้ถูกกล่าวหาทุกรายจึงยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน