Article
โพลล์พระปกเกล้าบอกอะไรเรื่องคอร์รัปชัน
โดย ACT โพสเมื่อ Sep 14,2017
เป็นข่าวดังเมื่อมีคนตีขลุมเอาผลการสำรวจ “ความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความพึงพอใจต่อการให้บริการสาธารณะและการทำงานของหน่วยงานต่างๆ พ.ศ. 2560” ไปใช้โดยขาดความเข้าใจ จนทำให้ผู้คนเกิดความไขว้เขว ความจริงงานวิจัยหัวข้อนี้สถาบันพระปกเกล้ากับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ร่วมกันทำมาเป็นปีที่สิบห้าแล้ว เป็นงานวิจัยเชิงสถิติที่น่าสนใจมากเพราะสามารถสะท้อนให้เห็นว่า “ประชาชนคิดอย่างไรต่อสิ่งที่เขาพบเห็น” ในช่วงเวลาและสภาพแวดล้อมขณะนั้น
จากภาพจะเห็นได้ว่า คะแนนความเชื่อมั่นของประชาชนต่อทั้งสององค์กรในระยะยาว มีการเพิ่ม ขึ้นและลดลงอย่างสอดคล้องไปในทางเดียวกัน กล่าวคือมีคะแนนสูงในช่วงปี 2545 – 48 จากนั้นก็ลดต่ำลง แล้วกลับสูงขึ้นชัดเจนในช่วงปี 2558 - 60 โดย ป.ป.ช. มีแนวโน้มที่ดีและมีความต่อเนื่องมากกว่าที่จะได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชน เมื่อเทียบกับรัฐบาล/ครม. ที่มีการปรับขึ้นลงตามยุคสมัย
การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อรัฐบาล/ครม. ในแต่ละปี อาจเกิดจากปัจจัยที่มากระทบหลายอย่างแต่มักหนีไม่พ้นปัญหารายได้ สินค้าแพงและการคอร์รัปชัน ส่วน ป.ป.ช. ในฐานะองค์กรอิสระที่เป็นองค์กรหลักของประเทศในการตรวจสอบและป้องกันปราบปรามคอร์รัปชัน ดังนั้นหัวใจสำคัญของความเชื่อมั่นจึงอยู่ที่ “ความเป็นอิสระ เป็นกลางและความมีประสิทธิภาพในการป้องกันคอร์รัปชันและดำเนินคดีกับคนโกง” กล่าวคือ เมื่อใดก็ตามที่ประชาชนเห็นว่า ป.ป.ช. ขาดความยุติธรรม ถูกครอบงำ ทำคดีแบบเห็นแก่พวกพ้องหรือผู้มีอำนาจ ล่าช้าหรือไม่สามารถเอาคนผิดมาลงโทษได้โดยเฉพาะคดีใหญ่ที่อยู่ในความสนใจของประชาชน เมื่อนั้นความเชื่อมั่นก็จะลดต่ำลง
ยังเป็นเรื่องยากและซับซ้อนที่จะอธิบายในเวลานี้ว่า ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อสององค์กรนี้มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างไรและเพราะอะไร แต่ที่แน่ๆ คือ หาก ป.ป.ช. อ่อนแอในห้วงเวลาที่ประเทศมีรัฐบาลไม่ซื่อสัตย์ ก็จะเป็นโอกาสที่เปิดกว้างให้เกิดการคอร์รัปชันได้อย่างวิกฤติ สุดท้ายกระแสสังคม (Public Opinion) จะปฏิเสธรัฐบาลที่คอร์รัปชันและจะยิ่งโกรธเกรี้ยวมากขึ้นหากพบว่า ป.ป.ช. หรือกระบวนการเอาผิดคนโกงได้ถูกบิดเบือนแทรกแซง
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน