Hot Topic!
จับ5โครงการนำร่องเข้าCoSTเพิ่มความโปร่งใสจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
โดย ACT โพสเมื่อ Sep 08,2017
- - สำนักข่าวแนวหน้า - -
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่ากระทรวงการคลังได้นำร่อง 5 โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ภาครัฐที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท เข้าโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐของประเทศไทย (CoST) โดยสร้างกลไกและมาตรฐานของการเปิดเผยข้อมูล เพื่อเพิ่มความโปร่งใสในทุกๆ ขั้นตอน
การดำเนินการ CoST เป็นมาตรฐาน ของประเทศอังกฤษที่ธนาคารโลกแนะนำให้ประเทศไทยดำเนินการซึ่งขณะนี้มี 17 ประเทศในโลกนำร่องในโครงการนี้ถือว่าประเทศไทยมีความตื่นตัวเรื่องความโปร่งใส การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอย่างมาก เป็นการสนับสนุนการทำสัญญาคุณธรรมที่ พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างใหม่ที่เริ่มใช้ในวันที่ 23 สิงหาคม 2560 ที่บังคับให้การจัดซื้อจัดจ้างต้องทำสัญญาคุณธรรมทั้งหมด
นายสมชัยกล่าวว่า ในส่วนของ CoST ที่จะใช้กับโครงการก่อสร้างภาครัฐ ในอนาคตอันใกล้นี้จะขยายไปที่โครงการก่อสร้างที่เกิน 100 ล้านบาท เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและลดการทุจริตเพิ่มมากขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
"CoST เป็นการปฏิรูประบบการจัดซื้อ จัดจ้างครั้งสำคัญของประเทศ กรมบัญชีกลาง จึงพร้อมที่จะพัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้าง ให้มีความโปร่งใส ทันสมัย เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพเทียบเท่าสากล โดยหวังว่าจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวหน้าต่อไป" นายสมชัยกล่าว
นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่าการนำระบบ CoST มาใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐจะเพิ่มความ โปร่งใสในทุกๆ ขั้นตอนที่เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างภาครัฐ และเป็นการปฏิรูประบบ การจัดซื้อจัดจ้างครั้งสำคัญของประเทศ โดยมีโครงการนำร่องและได้รับการตรวจสอบ ข้อมูลโดยคณะทำงานตรวจสอบข้อมูลจำนวน 5 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปีงบประมาณ 2554-2560) ของบริษัทท่าอากาศยานไทย มูลค่า 16,655 ล้านบาท 2.โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร ของการทางพิเศษ แห่งประเทศไทย มูลค่า 31,244 ล้านบาท 3.โครงการบรรเทาอุทกภัย อ.หาดใหญ่ (ระยะที่ 2) ของกรมชลประทาน กระทรวง เกษตรและสหกรณ์ วงเงิน 3,712.19 ล้านบาท 4.โครงการก่อสร้างทางวิ่งทางขับท่าอากาศยาน เบตง จ.ยะลา ของกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม วงเงินสัญญา 1,316.73 ล้านบาท และ 5.โครงการก่อสร้างอาคารสถาบันโรคผิวหนัง พร้อมรื้อถอนของ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข วงเงินสัญญา 947 ล้านบาท
คณะทำงานตรวจสอบข้อมูล ได้ดำเนินการตรวจสอบความครบถ้วนและถูกต้องของข้อมูลที่เปิดเผยตามแนวทาง CoST และจะรายงานผลการตรวจสอบข้อมูล ที่เปิดเผยต่อสาธารณะบนเว็บไซต์ CoST ของ กรมบัญชีกลาง ประมาณเดือนตุลาคม 2560
"การนำ CoST มาใช้ในการจัดซื้อ จัดจ้างกับหน่วยงานของรัฐเป็นเรื่องใหม่ ที่ยังไม่เคยมีการดำเนินการในประเทศไทยมาก่อน ทั้งการเปิดเผยข้อมูลโครงการก่อสร้างของหน่วยงานของรัฐ การกำหนดให้มีคณะทำงานตรวจสอบข้อมูลเพื่อ ตรวจสอบและแปลข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่ง่ายต่อการเข้าใจของประชาชนทั่วไป" อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าว
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน