Hot Topic!

6 ก.ย.วันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติกับศาลคดีคอร์รัปชัน

โดย ACT โพสเมื่อ Sep 05,2017

 - - สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ - -

 

          ปัญหาซื้อขายตำแหน่งในวงราชการตำรวจ ปัญหาซื้อขายตำแหน่งในวงราชการอื่นๆ ปัญหาฮั้วประมูลงานในวงราชการระดับสูง ใน อบจ. และอบต. ปัญหาทุจริต คอร์รัปชัน ในรูปแบบ อื่นๆ ทั้งหลาย ล้วนเป็นปัญหาสังคมสูงสุด ในสังคมไทย ต้องได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง และเร่งด่วนเป็นที่สุดเพราะทำให้สังคมไทยอ่อนแออย่างหนัก เป็นต้นเหตุให้สังคมไทย แตกความสามัคคี แยกพวก แยกสี แยกถิ่น แยกภาค เนื่องจากผลประโยชน์ขัดแย้งไม่ลงตัว ทั้งทำลายขวัญและกำลังใจของสุจริตชน ในการประกอบสัมมาอาชีพอย่างรุนแรง เป็นอุปสรรคในทางธุรกิจการค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศเป็นอย่างยิ่ง

 

          กล่าวกันว่า "ถ้าต้องซื้อตำแหน่งด้วยเงิน สามล้านบาท ต้องโกงให้ได้อย่างน้อยสามสิบ ล้านบาท" เป็นเรื่องที่น่ากลัวเป็นที่สุด น่าประหวั่น พรั่นพรึงเป็นอย่างยิ่ง

 

          ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือศาลคดีคอร์รัปชัน (CORRUPTION COURT) ได้จัดตั้งขึ้นแล้วตามเสียงเรียกร้อง ของมวลมหาชน รัฐบาลนี้ โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ เห็นความจำเป็น จงดำเนินการให้ นับว่าเป็นเรื่องที่ดี เป็นการยากยิ่งที่จะให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง  จะจัดตั้งให้ได้ เพราะเป็นองค์กรตรวจสอบ และลงโทษผู้ทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึง นักการเมืองทั้งหลาย ทั้งระดับท้องถิ่น อบจ. และอบต. และทุกองค์กรให้ปฏิบัติหน้าที่ อย่างโปร่งใสและมีคุณธรรม

 

          แม้ว่ามีการจัดตั้งศาลคดีคอร์รัปชัน (CORRUPTION COURT) รวมถึงมีการ ออกกฎหมายในรูปแบบต่างๆ หรือแม้ ใช้มาตรการทางกฎหมายให้ฟ้องจำเลยและ สืบพยานลับหลัง ในดคีอาญาของนักการเมือง หรือบัญญัติกฎหมายให้ไม่ขาดอายุความ หรือไม่มีอายุความ และลงโทษผู้ทุจริตอย่างรุนแรง แม้ห้ามสมัครรับเลือกตั้งเป็นตัวแทนประชาชนตลอดชีวิต ก็ตาม ก็หาเป็นการแก้ไขปัญหาทุจริตซื้อขายตำแหน่งในวงราชการ หรือการทุจริตในกรณีอื่นๆ ได้หมดสิ้น หรือ ทุเลาเบาบางลงไม่ ตราบเท่าที่ยังไม่ได้พิจารณาแก้ไขปัญหาข้อกฎหมาย หรือจุดอ่อน หรือช่องว่างของกฎหมายต่อไปนี้

 

          ประการหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 บัญญัติให้ เจ้าพนักงาน เรียก รับ หรือยอมจะรับสินบน มีความผิด มีโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปี ถึงประหารชีวิต และมาตรา 144 บัญญัติให้ผู้ใด ให้ ขอให้หรือรับว่าจะให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน มีความผิดมีโทษจำคุกไม่เกิน ห้าปี กล่าวคือ มีความผิดและต้องรับโทษ ทั้งเจ้าพนักงานผู้รับสินบนและประชาชน ผู้ติดสินบน คือเป็นความผิดและลงโทษ "ทั้งหนู ทั้งแมว" จึงร่วมกันปกปิด ปิดบัง ซ่อนเร้นวิธีดำเนินการ เพื่อ "หลบหนี ความผิดทั้งคู่" เป็นจุดอ่อนของประมวลกฎหมายอาญาอย่างชัดแจ้ง ต้องได้รับการศึกษาวิเคราะห์และแก้ไขโดยเร่งด่วนที่สุด

 

          หลักการสำคัญในการแก้ไขปัญหาสำคัญดังกล่าว มีหลายวิธี เช่น

 

          1. บัญญัติกฎหมาย หรือแก้ไขกฎหมายให้เอาโทษเฉพาะเจ้าพนักงานผู้รับสินบน ฝ่ายเดียว เพราะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องรักษา กฎหมายอย่างเคร่งครัด และกำหนดให้ฝ่าย ผู้ติดสินบนก็เป็นความผิด แต่ไม่เอาโทษ ตามทฤษฎี เจ้าพนักงาน มีหน้าที่รักษากฎหมายยิ่งกว่าประชาชนทั่วไป หรือ

 

          2. บัญญัติกฎหมาย หรือแก้ไขกฎหมาย ให้กันผู้ติดสินบนไว้เป็นพยาน ไม่ต้องถูก ดำเนินคดี โดยถือว่ายังเป็นผู้กระทำความผิด เพราะเป็นการกระทำมิชอบและผิดศีลธรรม ตามทฤษฎี การกันผู้ร่วมกระทำความผิดไว้เป็นพยานเพื่อปราบปรามลงโทษผู้กระทำความผิดแท้จริง หรือ

 

          3. บัญญัติกฎหมาย หรือแก้ไขกฎหมายให้ฝ่ายเจ้าพนักงานที่รับสินบน หรือฝ่ายผู้ติดสินบน ที่เปิดเผยเสนอข้อมูลหลักฐานการทุจริต ต่อเจ้าพนักงานก่อน ให้ไม่ต้องรับโทษ ตามทฤษฎี "ผู้เปิดเผยความผิดก่อน สมควรได้รับการยกเว้นโทษ" ซึ่งเป็นที่นิยมในหลายประเทศ และ

 

          4. บัญญัติกฎหมายหรือแก้ไขกฎหมาย ให้ประชาชนผู้มีหลักฐานการชำระภาษีประจำปี เป็นผู้เสียหาย ตามกฎหมาย ให้มีอำนาจฟ้อง หรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ในคดีที่มีการทุจริตงบประมาณแผ่นดิน ตามทฤษฎี ประชาชนมีหน้าที่เฝ้าระวังงบประมาณแผ่นดิน

 

          หลักการเหล่านี้ เป็นการถ่วงดุลอำนาจตัดสิน ในการกระทำความผิดระหว่าง เจ้าพนักงานผู้รับสินบน หรือรับซื้อตำแหน่ง หรือรับวิ่งเต้นซื้อตำแหน่ง กับฝ่ายผู้ติดสินบนให้ต้องยั้งคิดมากขึ้น เพราะอาจถูกเปิดเผยข้อมูลง่ายขึ้น และอาจถูกดำเนินคดีง่ายขึ้น ทำให้ทั้งหนูทั้งแมว ต้องยับยั้งชั่งใจ ในการ กระทำความผิดมากขึ้น เป็นผลให้การ ปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน ได้ผลในทางปฏิบัติมากยิ่งขึ้น จึงสมความเพิ่มหลักการ ดังกล่าวบางข้อ ไว้ในพระราชบัญญัติวิธี พิจารณาคดีทุจิตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 เพื่อใช้พิจารณาคดีในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบตามที่จัดตั้งไว้แล้ว เช่นนี้ การป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันจะได้ผลสมบูรณ์และเด็ดขาดอย่างที่สุด

 

          ประการหนึ่ง เดิมเมื่อหลายปีก่อนมีการดำริให้บุคคลผู้เข้ารับราชการใหม่ในชั้นต้น รวมทั้งนักการเมือง ทั้งระดับชาติและท้องถิ่น ที่เข้ามาใหม่ ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินเบื้องต้น ทันทีไว้ก่อน และปีใดได้ทรัพย์สินพิเศษ มากกว่ารายได้รวมประจำปี ต้องแจ้งเพิ่มเติมทันที แต่ขณะนั้นเห็นว่ายุ่งยากในการจัดเก็บเอกสารจำนวนมาก ปัจจุบัน การเก็บเอกสารในรูปแบบดิจิทัล ทำได้โดยง่ายแล้ว สมควรมีระเบียบ ข้อบังคับ หรือบัญญัติกฎหมายให้มีการแจ้งบัญชีทรัพย์สินครั้งแรกหรือชั้นต้น จะเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง และได้ผล ในทางปฏิบัติอย่างเด็ดขาด

 

          ท่านทั้งหลายครับ ถึงเวลาแล้วที่ทุกท่าน ผู้มีความรู้ดีและห่วงใยสังคม จะต้องช่วยกันคิด ช่วยกันเสนอแนะ ช่วยกันทำ เพื่อแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในรูปแบบต่างๆ ให้หมดสิ้นไป จากสังคมไทย และประเทศไทยโดยเร็วที่สุด เพื่อลูกหลาน และคนไทยทั้งมวลครับ

 

 

 

 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน


Follow LINE: http://bit.ly/2vDtGHV
Follow Facebook: http://bit.ly/2x3oArO