Hot Topic!

ข้อคิดเกี่ยวกับการแก้คอร์รัปชัน

โดย ACT โพสเมื่อ Sep 04,2017

 - - สำนักข่าวไทยโพสต์ - -

 

บัณฑิต นิจถาวร  กรรมการผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริหารไทย(IOD)

 

          คอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ของโลกที่ระบาดไปทั่ว ไม่มีประเทศใดจะปลอดจากการทุจริตคอร์รัปชัน เพียงแต่จะมากหรือน้อย สำหรับประเทศกำลังพัฒนา การทุจริตคอร์รัปชันเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศที่สามารถฉุดรั้งประเทศไม่ให้ก้าวหน้าได้

 

          กรณีของไทย ประเด็นนี้ก็ประจักษ์แจ้งชัดเจนคือ ช่วงสิบปีที่ผ่านมาที่การเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศได้ลดต่ำเหลือเฉลี่ยร้อยละ 3% ต่อปี ก็เป็นช่วงเดียวกับที่ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จากอันดับภาพลักษณ์คอร์รัปชันที่ 59 ของโลกเมื่อปี 2005 เพิ่มเป็นอันดับที่ 102 ในปี 2013 และอันดับที่ 101 ในปี 2016

 

          ที่น่าสนใจ คือ ช่วงสิบปีที่ผ่านมาก็เป็นช่วงที่การเมืองไทยมีรัฐบาลที่มาจากทุกฝ่าย คือ จากทุกค่ายการเมือง แต่ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันของประเทศก็ไม่ได้แสดงแนวโน้มดีขึ้น นอกจากนี้ปัญหาคอร์รัปชันที่รุนแรงขึ้น ความเหลื่อมล้ำในประเทศก็มีมากขึ้นเช่นกัน

 

          ด้วยเหตุนี้ ปัญหาคอร์รัปชันอย่างของไทยจึงเป็นปัญหาระบบ (systemic) ที่การทุจริตคอร์รัปชันมีไปทั่ว และฝังอยู่ในพฤติกรรมของคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจหรือภาคราชการ มีการให้สินบน วิ่งเต้น ใช้เส้นสาย ไม่เกรงกลัวผลประโยชน์ขัดแย้ง คือ ใช้อำนาจจากตำแหน่งหน้าที่หาประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง เหล่านี้เกิดขึ้นแพร่หลายจนเหมือนเป็นเรื่องที่ยอมรับกัน

 

          ดังนั้น เมื่อปัญหาคอร์รัปชันเป็นปัญหาระบบ การแก้ไขปัญหาจะพึ่งแต่องค์กรราชการเป็นผู้แก้ปัญหาอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะคอร์รัปชันไม่ใช่ปัญหาการทำผิดกฎหมายเป็นครั้งคราว แต่เป็นปัญหาพฤติกรรมของสังคม ของระบบที่คนส่วนมากเกี่ยวข้อง ทำให้การแก้ต้องมุ่งไปที่การเปลี่ยนพฤติกรรมคนในสังคม และต้องอาศัยบทบาทร่วมกันของคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นภาคการเมือง ภาคราชการ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเพื่อให้สังคมเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่เรียกหรือจ่ายสินบน ไม่ทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ใช้เส้นสายวิ่งเต้น และไม่ใช้อำนาจตามหน้าที่หาประโยชน์ ดังนั้นโจทย์ของการแก้คอร์รัปชันก็คือจะสร้างระบบแรงจูงใจในสังคมอย่างไรให้คนในสังคมเปลี่ยนพฤติกรรม จากการทุจริตคอร์รัปชันหรือใช้ตำแหน่งหน้าที่ และอำนาจทางเศรษฐกิจหาประโยชน์อย่างผิดกฎหมาย เป็นพฤติกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมายที่ทุกคนทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา

 

          ปัจจุบันแม้ปัญหาจะดูแก้ยากและมืดมน แต่ก็มีหลายประเทศที่สามารถแก้ไข ลดทอนและก้าวข้ามปัญหานี้ได้ คือ จากสังคมที่เคยมีปัญหาคอร์รัปชันรุนแรง มาเป็นสังคมที่มีคอร์รัปชันน้อยลง ตัวอย่างความสำเร็จนี้มีให้เห็นในหลายประเทศ รวมถึงในเอเชีย เช่น กรณีฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวันและเกาหลีใต้ ทั้งสี่ประเทศนี้ล้วนเคยมีปัญหาคอร์รัปชันรุนแรง แต่ก็สามารถแก้ไขและลดทอนความรุนแรงของปัญหาได้ และถ้ามีข่าวการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศเหล่านี้ เรามักได้ยินข่าวการแก้ไขปัญหาหรือการลงโทษเอาผิดกับผู้ที่ทุจริตคอร์รัปชันอย่างเข้มแข็ง จริงจังตามมา เช่น ล่าสุดกรณีเกาหลีใต้ที่แม้แต่ประธานาธิบดีของประเทศก็ต้องถูกจับกุมและต้องโทษเรื่องคอร์รัปชัน

 

          ความสำเร็จของประเทศเหล่านี้จึงเป็นความหวังให้กับประเทศอย่างไทยที่มีปัญหาคอร์รัปชันรุนแรง ว่าปัญหาจะสามารถลดทอนและแก้ไขได้ ถ้ามีการดำเนินการแก้ไขที่ถูกต้อง และถ้าเราดูวิธีการที่สี่ประเทศนี้ได้ใช้ในการแก้ปัญหา เราจะเห็นว่าความสำเร็จของการแก้ปัญหาเกิดจากบทบาทร่วมกันของคนจากหลายฝ่ายที่ร่วมกันแก้ปัญหา ไม่ใช่เป็นผลงานหรือความรับผิดชอบของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง  แต่เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายในสังคมมีบทบาท เพราะต้องการลดคอร์รัปชัน และเท่าที่ได้ศึกษากรณีของประเทศเหล่านี้ ก็ชัดเจนว่ามีเงื่อนไขสำคัญอยู่ห้าเงื่อนไขที่ประเทศต้องมี ถ้าจะให้การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของประเทศประสบความสำเร็จ

 

          หนึ่ง ต้องจับปลาตัวใหญ่ หมายถึง ต้องสามารถนำคนใหญ่คนโตของบ้านเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชันมาลงโทษจำคุกให้ได้ เรื่องนี้เป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้การแก้ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศประสบความสำเร็จ เพราะถ้าคนใหญ่คนโตของบ้านเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชันไม่ถูกจับกุมดำเนินคดีลงโทษ คนทั้งประเทศก็จะไม่เชื่อว่าปัญหาคอร์รัปชันของประเทศแก้ไขได้ ดังนั้น ถ้าจะแก้คอร์รัปชันให้สำเร็จ เงื่อนไขนี้ต้องมีเป็นอันดับแรก เป็นประเด็นความเข้มแข็งของการบังคับใช้กฎหมายที่ต้องมี เพราะเป็นตัวชี้ขาดว่าการแก้ไขคอร์รัปชันของประเทศจะสำเร็จหรือไม่ คือ ผู้ที่ทุจริตคอร์รัปชันไม่ว่าจะใหญ่โตแค่ไหนต้องถูกจับกุมลงโทษเมื่อทำผิด ไม่มีข้อยกเว้น

 

          สอง เศรษฐกิจของประเทศจะต้องยืนอยู่บนพื้นฐานของการแข่งขันและกลไกตลาด คือ มีการแข่งขันและกลไกตลาดเป็นตัวจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจของประเทศ ตรงกันข้าม ถ้าการจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจของประเทศเป็นระบบผูกขาดหรือแข่งขันโดยคนส่วนน้อย หรือไม่มีการแข่งขัน โอกาสที่การทุจริตคอร์รัปชันจะเกิดก็มีมาก เพราะจะมีการใช้อำนาจเงินซื้อระบบให้เกิดการผูกขาด ไม่ให้มีการแข่งขัน เพื่อนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชัน

 

          สาม ระบบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐต้องเป็นระบบที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีบุคคลภายนอกเข้าร่วมเป็นหูเป็นตาเพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปตามระเบียบและขั้นตอนที่ควรจะเป็น เพื่อลดความเสี่ยงของการทุจริตคอร์รัปชัน ระบบการจัดซื้อจัดจ้าง คือกลไกการจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งแต่ละปีจะเป็นวงเงินที่มหาศาล ถ้าไม่โปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ หรือไม่มีการสอบทานโดยบุคคลภายนอก โอกาสที่การทุจริตเกิดขึ้นก็มีมาก ทำให้ประเทศสูญเสียทรัพยากรและโอกาสทางเศรษฐกิจ

 

          สี่ บทบาทของภาคเอกชนที่บริษัทธุรกิจจะต้องมีส่วนร่วมในการป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน โดยบริษัทต้องมีมาตรฐานการทำธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี มีจริยธรรมในการทำธุรกิจและมีนโยบายและระบบที่จะป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันไม่ให้เกิดขึ้นในการทำธุรกิจของบริษัท ประเด็นนี้สำคัญมาก เพราะภาคธุรกิจคือด้านอุปทานหรือผู้ให้ในสมการคอร์รัปชัน ถ้าผู้ให้ปฏิเสธหรือมีพฤติกรรมที่จะไม่ให้ โอกาสของการเกิดการทุจริตคอร์รัปชันก็จะลดลง

 

          ห้า ประเทศมีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งที่จะทำหน้าที่ส่งเสียง ตรวจสอบ และเฝ้าระวังการทุจริตคอร์รัปชันในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ข้าราชการประจำ หรือบริษัทธุรกิจ ภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งจะเป็นพลังสำคัญในการเปิดโปงการทุจริตคอร์รัปชัน นำไปสู่การจับกุมลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม เกาหลีใต้เป็นประเทศที่โดดเด่นมากในเรื่องนี้ ที่ภาคประชาสังคมเข้มแข็ง สามารถผลักดันการตรวจสอบนักการเมืองจนนำไปสู่การเอาผิดและการดำเนินคดีกับบุคคลในระดับประธานาธิบดีได้ ดังนั้น ถ้าสังคมเข้มแข็ง ผู้ทุจริตคอร์รัปชันก็จะถูกเปิดโปง

 

          ทั้งหมดนี้ คือ ห้าเงื่อนไขที่ประเทศต้องมีในการแก้คอร์รัปชันให้สำเร็จ ทำให้การแก้ไขปัญหาในบ้านเราควรต้องพยายามสร้างเงื่อนไขทั้งห้าเงื่อนไขนี้ให้เกิดขึ้น เพื่อให้การแก้ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศประสบความสำเร็จ

 

          ที่น่ายินดีคือ ช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมา ได้มีความพยายามที่จะสร้างเงื่อนไขเหล่านี้ให้เกิดขึ้นครบถ้วนในสังคมไทย เช่น ภาคเอกชน ปี 2010 มีการจัดตั้งโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตให้เป็นเสาของการแก้ไขปัญหาจากฝั่งภาคเอกชน ซึ่งก็คือเงื่อนไขที่สี่ ที่สนับสนุนให้บริษัทธุรกิจมีนโยบายและแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการต่อต้านการทุจริตในการทำธุรกิจ คือ ทำธุรกิจอย่างสะอาด ไม่มีการจ่ายหรือให้สินบน ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทกว่า 840 บริษัทได้เข้าร่วมโครงการอย่างสมัครใจ

 

          ในฝั่งของภาคประชาสังคม ซึ่งก็คือเงื่อนไขที่ห้า มีการจัดตั้งองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแห่งประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยเริ่มจากการจัดตั้งเป็นภาคีในปี 2011 ให้เป็นเสาของการแก้ปัญหาที่มาจากฝั่งภาคประชาสังคม เน้นผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิธีปฏิบัติงานของภาคราชการเพื่อลดคอร์รัปชัน แก้ไขกฎหมายและเปิดโปงการทุจริตคอร์รัปชันในภาคราชการ ตามด้วยงานของมูลนิธิต่อต้านการทุจริตที่นำแนวทางการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันลงไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริงในระดับจุลภาค คือ ในระดับหมู่บ้าน

 

          ในส่วนของระบบการจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใส ซึ่งก็คือเงื่อนไขที่สาม ได้มีการยกร่างและออก พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ที่กำลังจะเริ่มนี้ เพื่อให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐของประเทศมีมาตรฐานและมีความโปร่งใสทัดเทียมสากล เพื่อลดความเสี่ยงของการทุจริตคอร์รัปชัน มีการนำสัญญาคุณธรรมมาใช้ในโครงการลงทุนของหน่วยงานราชการเพื่อลดความเสี่ยงของการทุจริตคอร์รัปชัน และในส่วนของระบบเศรษฐกิจเอง ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่สอง แม้ประเทศไทยจะเป็นระบบเศรษฐกิจเปิดตามหลักทุนนิยม แต่ประเด็นการแข่งขันและความโปร่งใสก็เป็นเรื่องที่สามารถปรับปรุงได้อีกมากเพื่อลดโอกาสที่จะเกิดการผูกขาดโดยธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีผู้เล่นน้อยราย

 

          แต่เงื่อนไขที่ประชาชนฝากความหวังไว้สูงที่จะลดคอร์รัปชันก็คือเงื่อนไขที่หนึ่งที่สำคัญที่สุด ที่การบังคับใช้กฎหมายจะต้องเข้มแข็งตลอดห่วงโซ่ของกระบวนการยุติธรรมให้สามารถนำคนทุจริตคอร์รัปชันมาลงโทษได้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะปลาตัวใหญ่ที่คอร์รัปชัน แต่ยังมีหน้ามีตาอยู่ในสังคม เพราะยังไม่ถูกกล่าวโทษจับกุม

 

          ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้ แต่การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน แม้จะมีเงื่อนไขเหล่านี้ก็จะไม่ประสบความสำเร็จถ้าปราศจากความตั้งใจจริงของภาครัฐที่จะผลักดันการแก้ไขปัญหาให้เกิดขึ้นจริงจัง โดยเฉพาะรัฐบาลที่ต้องเป็นผู้นำ เอาจริง และเป็นตัวอย่างของการแก้ไขปัญหา โดยการออกนโยบาย มาตรการ และเข้มแข็งในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนในสังคมเปลี่ยนพฤติกรรม สร้างให้เกิดจิตสำนึก ความเกรงกลัวและความละอายต่อบาป

 

          ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งที่ปัญหารุนแรงขึ้นเพราะทั้งนักการเมืองและข้าราชการที่ทุจริตไม่ได้มีจิตสำนึกหวงแหนในทรัพย์สินหรือผลประโยชน์ของชาติ กลับมองว่าเป็นสมบัติสาธารณะไม่มีเจ้าของ ไม่มีใครรักษา มีไว้ให้ถลุง จึงมุ่งแต่จะหาประโยชน์จากสมบัติของประเทศ เช่น งบประมาณแผ่นดินและทรัพย์สินของหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ จนสร้างความเสียหายมากมายให้กับประเทศ

 

          การแก้คอร์รัปชันจึงต้องทำทั้งสองด้าน ทั้งด้านอุปทานที่มาจากพฤติกรรมธุรกิจของภาคเอกชน และด้านอุปสงค์ที่มาจากพฤติกรรมในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการและฝ่ายการเมือง สนับสนุนโดยเงื่อนไขทั้งห้าด้านที่ได้พูดถึง ซึ่งน่าจะทำให้การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของประเทศมีโอกาสที่จะสำเร็จมากขึ้น.

 

          "เมื่อปัญหาคอร์รัปชันเป็นปัญหาระบบ การแก้ไขปัญหาจะพึ่งแต่องค์กรราชการเป็นผู้แก้ปัญหาอย่างเดียวคงไม่ได้เพราะคอร์รัปชันไม่ใช่ปัญหาการทำผิดกฎหมายเป็นครั้งคราวแต่เป็นปัญหาพฤติกรรมของสังคม ของระบบที่คนส่วนมากเกี่ยวข้อง ทำให้การแก้ต้องมุ่งไปที่การเปลี่ยนพฤติกรรมคนในสังคมและต้องอาศัยบทบาทร่วมกันของคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นภาคการเมือง ภาคราชการ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเพื่อให้สังคมเปลี่ยนพฤติกรรมไม่เรียกหรือจ่ายสินบน ไม่ทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ใช้เส้นสายวิ่งเต้นและไม่ใช้อำนาจตามหน้าที่หาประโยชน์"

 

 

 

 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน


Follow LINE: http://bit.ly/2vDtGHV
Follow Facebook: http://bit.ly/2x3oArO