Hot Topic!
แก้ทุจริตเชิงโครงสร้าง
โดย ACT โพสเมื่อ Aug 30,2017
- - สำนักข่าวโพสต์ทูเดย์ - -
ข้อน่ากังวลที่สุดของปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น คือการฝังตัวอยู่ในทัศนคติ ค่านิยมของคนในสังคม ยิ่งภายใต้ระบบอุปถัมภ์ พรรคพวกมาก่อนหน้าที่ ความรับผิดชอบ ก็ยิ่งเอื้อให้การคอร์รัปชั่นแพร่ขยายมากยิ่งขึ้น
ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของประเทศไทยในปี 2559 โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใส อยู่ในลำดับที่ 101 จาก 176 ประเทศทั่วโลก โดยมีคะแนนลดลงจากปี 2558
ที่น่าตกใจไปกว่านั้น หากมองดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นย้อนหลังช่วง 20 ปี จากปี 2538 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 34 จากการวัด 41 ประเทศทั่วโลก จนถึงปีปัจจุบันในปี 2559 ซึ่งประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 101 จาก 176 ประเทศทั่วโลก จะเห็นได้ว่าเราอยู่ในกลุ่มรั้งท้ายมาโดยตลอด
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเราให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการเมือง การปกครอง มีการปรับปรุงโครงสร้างทางอำนาจ โดยการสร้างองค์กรเพื่อตรวจสอบ ถ่วงดุล คานอำนาจ การใช้อำนาจรัฐ นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์สร้างค่านิยมใหม่เพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นกันอย่างมากมาย แต่ภาพลักษณ์ด้านคอร์รัปชั่นเรากลับไม่ดีขึ้น
ในโลกที่สื่อสังคมออนไลน์หลากรูปแบบแพร่หลาย ปรากฏคลิปวิดีโอเจ้าหน้าที่รัฐมีพฤติกรรมมิชอบออกมามากมาย คลิปวิดีโอประชาชนผู้ใช้รถ ใช้ถนนทั่วๆ ไปฝ่าฝืนกฎหมาย กระทำผิดกฎจราจรกันออกมาแทบทุกวันและผลสำรวจความเห็นที่คนจำนวนไม่น้อยเห็นดีเห็นงามกับการทุจริตคอร์รัปชั่น หากแบ่งให้ชาวบ้านได้ประโยชน์
เรามิได้มองการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างสากล ในฐานะการกระทำผิดที่ไม่อาจยอมรับได้เลย
สังคมเช่นไรที่มองการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างมีเงื่อนไข ทั้งที่สังคมโดยรวมนั้นคือผู้เสียประโยชน์โดยตรงจากการทุจริตคอร์รัปชั่น สังคมเช่นไรที่ยอมรับได้กับเงื่อนไขที่การคอร์รัปชั่นนั้นจะนำประโยชน์มาให้คนบางส่วน นั่นหมายความว่าคนในสังคมนั้นเองก็พร้อมที่จะกระทำทุจริตคอร์รัปชั่น เพียงเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือพวกพ้อง
การยอมรับเงินซื้อเสียงจากนักการเมือง ผู้ประกอบการรวมกลุ่มกันเพื่อกำหนดราคา การที่เอกชนยินยอมจ่ายเงินให้แก่เจ้าหน้าที่เพื่อให้ชนะประมูลหรือให้ได้งานจากภาครัฐ การยอมจ่ายสินบนให้แก่ตำรวจจราจรเพื่อเลี่ยงการถูกดำเนินคดีหรือเลี่ยงจ่ายค่าปรับที่มีจำนวนเงินมากกว่า การจ่ายเงินแก่ผู้บริหารสถานศึกษาเพื่อให้ลูกหลานได้เข้าเรียนในสถาบันที่มีชื่อเสียง เรายอมรับสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นการทุจริตหรือไม่ การทุจริตที่ทำให้การแข่งขันไม่มีความเป็นธรรม โอกาสของความสำเร็จไม่ได้มาจากความรู้ ความสามารถ ที่แท้จริง แต่วัดจากใครมีฐานะดีกว่ากัน ใครมีเส้นสายมากกว่ากัน
การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นจึงต้องมีหลายๆ แนวทาง บทลงโทษอย่างหนักหน่วงในคดีทุจริตไม่ใช่คำตอบเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องรวมถึงการสร้างบรรทัดฐานทางสังคม ปลูกฝังทัศนคติ ค่านิยม การสร้างกระบวนการตรวจสอบที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม กฎหมายการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของทางราชการจะต้องมีการดำเนินการอย่างจริงจัง
การปฏิรูปองค์กรหรือหน่วยงานใดก็ตามคงไม่เกิดประโยชน์ หากไม่มี การปฏิรูปทัศนติ ค่านิยมของคนในสังคม เราจะอยู่ในสังคมที่แข่งขันกันอย่างเป็นธรรม หรือสังคมที่มือใครยาว เส้นสายใครดี มีเงิน มีอิทธิพลมากกว่า ก็เป็นผู้ชนะ
ความเป็นธรรมที่ทุกฝ่ายร้องต้องการ ควรเริ่มต้นด้วยค่านิยมทัศนคติที่เราปฏิเสธการทุจริตในทุกรูปแบบ
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน
Follow LINE Official : https://goo.gl/uT7yjS
Follow Facebook Fanpage : https://goo.gl/HXgWVU
Follow IG : https://goo.gl/aARAzS