Hot Topic!
ปิดช่อง'งบ'รั่วไหล บัตรรักษาขรก
โดย ACT โพสเมื่อ Jul 30,2017
-- สำนักข่าว ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 30/07/2560 --
การทุจริตเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ ถือเป็นเป้าหมายต้นๆ ที่ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กล่าวถึงตั้งแต่รับตำแหน่ง รมว.กระทรวงการคลัง และพยายามหาทางปิดช่องรั่วไหลการใช้งบประมาณที่เพิ่มอย่างรวดเร็ว จากปี 2547 ใช้จ่ายอยู่ที่ 2.60 หมื่นล้านบาท เพิ่มกว่าเท่าตัวเป็น 5.49 หมื่นล้านบาทในปี 2551 และเป็น 7.10 หมื่นล้านบาทในปี 2559 และมีแนวโน้มจะเพิ่มเป็นแสนล้านบาทในไม่กี่ปี หากรัฐไม่มีมาตรการควบคุม ขณะที่งบประมาณได้รับปีละ 6 หมื่นล้านบาท คงที่มาตั้งแต่ปี 2556
เปรียบเทียบรายจ่ายทั้ง 3 กองทุน ตามรายงานของมูลนิธิภิวัฒน์สาธารณะสุขไทย (ภวส.)ณ สิ้นปี 2559 ยังพบว่างบรักษาพยาบาลข้าราชการ 7.1 หมื่นล้านบาท เทียบจำนวนผู้มีสิทธิ์ 4.3 ล้านคน (ต่อปีใช้งบมากสุดที่รายละ 1.42 หมื่นบาท), กองทุนหลักประกันสุขภาพใช้งบ 1.28 แสนล้านบาท จำนวนผู้มีสิทธิ 48.7 ล้านคน (ต่อรายต่อปี 3,109 บาท) และกองทุนประกันสังคม (สมทบ 3 ฝ่ายลูกจ้าง, นายจ้างและงบรัฐ 33%) งบ 2.3 หมื่นล้านบาท จำนวนผู้มีสิทธิ 13.6 ล้านคน (ต่อรายต่อปีใช้ 3,160 บาท)
ประเด็นการใช้จ่ายงบที่สูงขึ้น นอกจากโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัย ผลศึกษาร่วมกันระหว่างสำนักงาน ป.ป.ท., ป.ป.ช., กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และกรมบัญชีกลาง ยังชี้ว่ามีมูลเหตุจากการทุจริตที่ทำเป็นกระบวนโยงใยเกี่ยวข้องใน 3 กลุ่มใหญ่คือ 1.กลุ่มผู้ใช้สิทธิและเครือญาติ 2.กลุ่มสถานพยาบาลและบุคลากรในสถานพยาบาล และ 3 กลุ่มบริษัทจำหน่ายยา
โดยพฤติกรรม 1.ช็อปปิ้งยา การใช้สิทธิโดยทุจริตของผู้มีสิทธิและเครือญาติ ทั้งที่เป็นผู้ป่วยหรือไม่มีอาการป่วย ด้วยการตระเวนไปใช้สิทธิ (เวียนเทียนสิทธิ) ตามโรงพยาบาลต่างๆ หลายๆ แห่งในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน และขอรับยาเกินความจำเป็นทางการแพทย์ บางรายนำยาที่ได้ไปจำหน่ายต่อ ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลปีละกว่า 6- 7 หมื่นล้านบาท จำนวนนี้ 40-50% เป็นค่ายาหรือกว่า 30,000 ล้านบาท
2.พฤติกรรมยิงยา การจ่ายยาของบุคลากรในสถานพยาบาลโดยทุจริต เช่นสั่งจ่ายยาเกินความจำเป็นของผู้ป่วย, สั่งจ่ายยาเพิ่มเติมที่ไม่เกี่ยวกับโรคของผู้ป่วย, บันทึกข้อมูลสั่งจ่ายยาสูงกว่าที่จ่ายจริง เช่น หมอสั่งจ่าย 300 เม็ด เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล 500 เม็ด หรือสั่งจ่ายยาโดยไม่มีการรักษาโดยมีเป้าหมายจ่ายยาออกไปมากๆ เพื่อทำยอดจำหน่ายยา กรณีนี้เป็นการสมคบระหว่างบริษัทจำหน่ายยา สถานพยาบาลและบุคลากรในสถานพยาบาล ในรูปแบบค่าคอมมิสชันหรือเปอร์เซ็นต์ยา การเสนอผลประโยชน์ให้จากยอดจำหน่ายในหลายรูปแบบ อาทิ ตัวเงิน ยาแถม และการดูงานต่างประเทศ
ปมทุจริตในกระบวนการเบิกยาดังกล่าว ทำให้เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อาศัยอานาจตามมาตรา 19 (11) แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทำหนังสือเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) หนึ่งในข้อเสนอก็คือ ให้มีศูนย์ประมวลข้อมูลสารสนเทศด้านยาโดยเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลทุกสังกัด และกรมบัญชีกลางเพื่อตรวจสอบการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตโดยในระหว่างที่ยังไม่มีศูนย์ประมวลดังกล่าว ให้กรมบัญชีกลางออกมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายผู้ป่วยนอกและกำหนดหลักเกณฑ์การจัดซื้อยาเพื่อป้องกันการซื้อยาโดยมีผลประโยชน์ต่างตอบแทน
ทั้งนี้ก่อนหน้านี้กระทรวงคลังเคยมีนโยบายจะให้บริษัทประกันชีวิตรับไปบริหารจัดการแทน แต่กระแสส่วนใหญ่คัดค้าน กังวลว่าอาจกระทบสิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการลดไปจากเดิม เนื่องจากงบส่วนหนึ่งต้องจ่ายเป็นค่าบริหารให้กับบริษัทประกัน ก่อนที่กระทรวงจะมีคาสั่งให้กรมบัญชีกลาง ศึกษาการออกบัตรสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ (ขรก.) และเมื่อวันที่ 4 กรกฎา คมที่ผ่านมา ครม.ได้อนุมัติงบประมาณ 124 ล้านบาท เพื่อจัดทำบัตรดังกล่าว 4.5 ล้านใบให้กับข้าราชการและบุคคลในครอบครัวของข้าราชการ
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าหลังจากวันที่ 1 ตุลาคม 2560 ที่มีการนำบัตรสวัสดิการรักษาขรก.มาใช้ เชื่อจะช่วยอุดช่องโหว่การทุจริต การเวียนเทียนยา สวมสิทธิ์หรือเบิกจ่ายยาเกินได้แน่นอน และน่าจะช่วยลดรายจ่ายงบประมาณลงได้ หลังจากปี 2559 ใช้สูงถึง 7.1 หมื่นล้านบาท (เพิ่ม 4,500 ล้านบาทจากปีงบประมาณ 2558)
นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า บัตรรักษาขรก. ได้นำหลักการของบัตรเครดิตมาประยุกต์ใช้ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการตรวจสอบและพิสูจน์ตัวบุคคล โดยผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวสามารถใช้บัตรดังกล่าว เพื่อประกอบการใช้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลในระบบเบิกจ่ายตรงได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอการประมวลผลข้อมูลตามระบบเดิมบัตรนี้ยังใช้เป็นเครื่องมือประกอบการตรวจสอบการทำธุรกรรมการชำระเงินค่ารักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลเรียกเก็บจากกรมบัญชีกลางในระบบเบิกจ่ายตรง ทาให้กรมบัญชีกลางสามารถรับรู้ข้อมูลและค่าใช้จ่ายการเข้ารับบริการทางการแพทย์ของผู้ป่วยได้ทันทีภายในวันเดียวกัน และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบการเบิกค่ารักษาพยาบาลในระบบเบิกจ่ายตรง
"เทียบจากปัจจุบันที่ยังใช้บัตรประจำตัวข้าราชการ เมื่อมีการใช้สิทธิรักษาพยาบาล ทางโรงพยาบาลจะโอนข้อมูลค่าใช้จ่ายมายังกรมบัญชีกลาง เพื่อขอเบิกจ่ายเงินซึ่งกว่าจะตรวจสอบความถูกต้องต้องใช้เวลานาน แต่ในระบบใหม่ บัตรรักษา ขรก. ข้อมูลจะเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของกรมบัญชีกลาง จึงสามารถประมวลได้ว่าข้าราชการรายนั้นใช้สิทธิไปแล้วเท่าใด มีการตระเวนไปใช้โรงพยาบาลอื่นหรือเบิกจ่ายรักษาแล้วมากี่ครั้ง สามารถที่จะตรวจสอบได้ใน ทันที"
อย่างไรก็ดี เครือข่ายปฏิรูประบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ (คสร.) ที่มี น.พ.มงคล ณ สงขลา เป็นประธานได้ตั้งข้อสังเกตว่า บัตรดังกล่าวจะแก้ปัญหาทุจริตรักษาพยาบาล การเวียนเทียนรับยาได้จริงไหม และคำตอบที่อธิบดีกรมบัญชีกลางบอกว่าไม่ต้องรอการตรวจสอบค่าใช้จ่าย ธุรกรรมเสร็จภาย ในวันเดียว จะทำได้อย่างไรสำหรับคนไข้ซึ่งใช้การเบิกจ่ายตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม ที่ต้องรอแพทย์สรุปผลรักษาและค่าใช้จ่ายทั้งหมด รวมถึงจะมั่นใจได้อย่างไรว่างบ 124 ล้านบาท ที่ใช้จัดทำบัตรจะไม่บานปลายหรือต้องใช้งบเพิ่มเติมอีก
"บัตรรักษาฯขรก." จะแก้ปัญหาทุจริตงบรักษาพยาบาลและค่ายาที่บานปลายได้หรือไม่ หรือจะยิ่งสิ้นเปลืองงบตามที่ คสร.ตั้งข้อสังเกตหรือไม่? ไม่เกินปีงบประมาณ 2561 คงได้คำตอบ