Hot Topic!
ไม่จ่ายแป๊ะเจี๊ยะได้ไหม
โดย ACT โพสเมื่อ Jul 18,2017
- - สำนักข่าว กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 18/07/60 - -
ผศ.ดร. ยิ่งยศ เจียรวุฑฒิ ภาควิชาบริหารธุรกิจ วิทยาลัยนานาชาติ ม.มหิดล yingyot.chi@mahidol.ac.th
แป๊ะเจี๊ยะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้วในสังคมไทย พอเป็นข่าวใหญ่โต ก็มีการพูดคุยถึงทางแก้ไข จากนั้นก็เงียบไป เพื่อรอให้เกิดเรื่องเดิมพาดหัวข่าวอีกในปีต่อๆ ไป
ประเด็นคือ โรงเรียนในประเทศไทยมีมากก็จริง แต่เป็นเรื่องปกติที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องการส่งลูกหลานเข้าเรียนในโรงเรียนที่ (ตัวเองคิดว่า) ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้น โรงเรียนที่มีชื่อเสียงหลายแห่งจึงมีคนมาสมัครเรียนมากกว่าที่โรงเรียนจะรองรับได้ การวัดความสามารถของเด็กก็เป็นทางหนึ่งที่โรงเรียนใช้ อีกทางหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือการใช้ "เงิน" หรือที่เรียกกันติดปากว่า "แป๊ะเจี๊ยะ" นั่นเอง
ก่อนจะพูดถึงปัญหาและทางแก้ไข ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าทำไมโรงเรียนจึงต้องการแป๊ะเจี๊ยะ คำตอบง่ายๆ ก็คือ ค่าเล่าเรียนและเงินสนับสนุนจากรัฐไม่เพียงพอต่อการจัดการเรียนการสอน เราต้องยอมรับความจริงที่ว่า การบำรุงรักษาอาคารเรียน การปรับปรุงระบบไอซีทีให้ทันสมัย การว่าจ้างครูชาวต่างชาติเจ้าของภาษา การให้ความช่วยเหลือครูหรือบุคลากรที่เกษียณหรือเจ็บป่วย ฯลฯ เป็นต้นทุนที่เกินความสามารถของโรงเรียนที่ต้องการยกระดับคุณภาพและการให้บริการ เมื่อเงินเป็นเรื่องสำคัญ แต่โรงเรียนไม่สามารถเพิ่มค่าเทอมได้อย่างเพียงพอ โรงเรียนจึงต้องหารายได้ทางอื่นๆ เช่น แป๊ะเจี๊ยะ เป็นต้น
ในทางเศรษฐศาสตร์นั้น แป๊ะเจี๊ย คือ วิธีการเลือกปฏิบัติทางราคา (หรือ Price Discrimination) แก่คน 2 กลุ่มที่มีความสามารถในการจ่ายไม่เท่ากัน ขอยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายๆ ว่าค่าเล่าเรียนของโรงเรียนแห่งหนึ่ง ปีละ 20,000 บาท นักเรียนหนึ่งคนเรียนตั้งแต่ชั้น ป.1 ถึง ม.6 ต้องจ่ายค่าเทอมทั้งสิ้น 240,000 บาท สมมติว่ามีผู้ปกครองอยู่ 2 กลุ่ม (ในความเป็นจริง โรงเรียนสามารถแบ่งผู้ปกครองได้มากกว่า 2 กลุ่ม)
กลุ่มที่หนึ่งสามารถจ่ายได้แค่ 240,000 บาท ในขณะที่กลุ่มที่สองสามารถจ่ายได้ 500,000 บาท การขึ้นค่าเทอมจะทำให้ผู้ปกครองกลุ่มแรกไม่สามารถส่งลูกหลานให้เรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ได้ โรงเรียนนี้ก็จะมีแต่ลูกๆ ของผู้ปกครองกลุ่มที่สองเท่านั้น
การเลือกปฏิบัติทางราคาสามารถทำได้โดยการคิดค่าเทอม 240,000 บาท (สำหรับ 12 ปี) เท่ากันทุกคน แต่เรียกแป๊ะเจี๊ยะจากผู้ปกครองกลุ่มที่สองคนละ 260,000 บาท วิธีนี้ทำให้โรงเรียนได้รายได้รวมสูงขึ้น และไม่ตัดสิทธิลูกหลานของผู้ปกครองกลุ่มแรกด้วย แป๊ะเจี๊ยะได้ผลลัพท์ตามที่โรงเรียนต้องการเนื่องจากโรงเรียนมีอำนาจต่อรองสูงกว่าผู้ปกครองที่ต้องการให้ลูกหลานของตัวเองได้เข้าเรียน
แป๊ะเจี๊ยะมีปัญหาหลายประการได้แก่
1) แป๊ะเจี๊ยะส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คือคนรวยได้เปรียบกว่าคนจน
2) ไม่โปร่งใสและตรวจสอบไม่ได้ เช่น ไม่รู้ว่าเอาเงินไปทำอะไร และไม่รู้ว่าเงินเข้ากระเป๋าใคร (โรงเรียน สมาคมผู้ปกครอง สมาคมศิษย์เก่า สมาคมครู ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ หรือ เลขานุการหน้าห้อง) ข้อนี้อันตรายมากเพราะการให้เงินแบบไม่มีระบบและซ่อนเร้น เช่น การให้ผู้ปกครองเขียนตัวเลขแป๊ะเจี๊ยะในใบสมัคร หรือ การให้เจ้าหน้าที่โทรศัพท์มาระบุตัวเลข สามารถนำไปสู่การคอร์รัปชันได้
3) ความไม่เท่าเทียมกันในกลุ่มผู้ให้แป๊ะเจี๊ยะ เนื่องจากจำนวนแป๊ะเจี๊ยะนั้นเป็นความลับคือไม่มีใครรู้ว่าควรให้เท่าไร รู้แค่ประมาณการจากคนรู้จัก จากอินเทอร์เน็ต หรือจากข่าวลือ
ดังนั้น เมื่อจำนวนแป๊ะเจี๊ยะเป็นความลับ เพื่อความมั่นใจ ผู้ปกครองบางคนจำเป็นต้องให้มากไว้ก่อน ต่อมา จึงรู้ในภายหลังว่าตัวเองให้มากกว่าคนอื่นก็มี
เมื่อเรารู้เหตุผลความจำเป็นและปัญหาของแป๊ะเจี๊ยะแล้ว ผมขอเสนอทางแก้ปัญหาโดยให้โรงเรียนสร้างระบบการรับเงินจากผู้ปกครองอย่างเป็นทางการ (เพราะมีโรงเรียนที่ใช้แนวทางลักษณะนี้แล้ว) ดังนี้
แนวทางที่ 1 : โรงเรียนกำหนดวัตถุประสงค์และจำนวนเงินที่ต้องการในแต่ละปีโดยใช้ชื่อให้เหมาะสมเช่น "กองทุนเพิ่มคุณภาพการศึกษา" เป็นต้น
จากนั้น ให้โรงเรียนประกาศจำนวนเงินให้ชัดเจน โดยหลังจากที่โรงเรียนตัดสินใจรับนักเรียนแล้ว ทุกคนที่ต้องการเข้าเรียนต้องจ่ายเงินจำนวนนี้ ตัวอย่างเช่น ถ้าโรงเรียนสามารถรับนักเรียนได้ปีละ 200 คน และต้องการเงิน 20 ล้านบาท ก็สามารถกำหนดให้ผู้ปกครองจ่ายคนละ 100,000 บาท เข้าบัญชีของโรงเรียนโดยตรงพร้อมการออกใบเสร็จรับเงิน
และหากโรงเรียนมีการเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดของการใช้เงินก้อนนี้ในแต่ละปี ก็จะเป็นการเพิ่มความโปร่งใสให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อด้อยของแนวทางนี้คือปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำ ซึ่งโรงเรียนสามารถกำหนดโควต้าพิเศษสำหรับผู้ที่ขาดทุนทรัพย์ได้
แนวทางที่ 2 : หลังจากโรงเรียนตัดสินใจรับนักเรียนแล้ว จึงขอให้ผู้ปกครองบริจาคเงินเข้าโรงเรียนตามความสามารถ โดยเป็นการโอนเข้าบัญชีของโรงเรียนโดยตรงพร้อมใบเสร็จรับเงิน (ถ้านำไปหักภาษีได้เต็มจำนวนหรือ 2 เท่า 3 เท่า ก็จะกระตุ้นให้บริจาคมากขึ้น)
ข้อดีของแนวทางนี้คือ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และลดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากไม่ได้บังคับว่าต้องบริจาคจำนวนเท่าไร
อย่างไรก็ตาม ข้อเสียคือเมื่อโรงเรียนตัดสินใจรับนักเรียนแล้ว อำนาจต่อรองของโรงเรียนจะลดลง ดังนั้น ผู้ปกครองอาจจะบริจาคเงินน้อยกว่าความสามารถที่ตัวเองมี ส่งผลให้โรงเรียนไม่ได้รับเงินสนับสนุนอย่างที่ตั้งใจไว้
ผู้ปกครองหลายคนยินดีจ่ายแป๊ะเจี๊ยะถ้าเงินจำนวนนี้ถูกนำไปใช้เพื่อเพิ่มคุณภาพการศึกษาซึ่งลูกหลานของตัวเองก็ได้ประโยชน์ด้วย แต่หลายคนไม่ต้องการจ่ายแม้แต่บาทเดียวและเสนอให้ยกเลิกระบบแป๊ะเจี๊ยะและให้รัฐบาลหาทางทำให้โรงเรียนทุกแห่งมีคุณภาพที่ใกล้เคียงกัน (อย่างประเทศฟินแลนด์) ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง แต่ในขณะที่เรายังไปไม่ถึงจุดนั้น
เราต้องยอมรับความจริงว่าโรงเรียนจำนวนมากในประเทศไทยยังคงต้องพึ่งพาความช่วยเหลือด้านการเงินจากผู้ปกครอง (โดยเฉพาะผู้ปกครองที่มีฐานะ) ในขณะที่คนไทยจำนวนมากไม่นิยมบริจาคเพื่อการศึกษา เราต้องเสนอทางออกที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติคือการคำนึงถึงความจำเป็นของรายได้ รวมทั้งวิธีการที่เป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้