Hot Topic!

ห่วงทุจริต-รับส่วยอุปสรรคสำคัญปฏิรูปตำรวจ

โดย ACT โพสเมื่อ Jul 11,2017

- - ผู้จัดการรายวัน 360 องศา วันที่ 10/06/60 - -
          
ผู้จัดการรายวัน360 - "บิ๊กสร้าง" ลั่นตั้งใจทำงาน 100 เปอร์เซ็นต์ ถก กก.ปฏิรูปตำรวจนัดแรก 12 ก.ค. นี้ วางกรอบการทำงาน-ตั้งคณะอนุกรรมการด้านต่างๆ พร้อมรับฟังความเห็นประชาชน "องอาจ" ฝาก 3 แนวทางปฏิรูป ตร. ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ยุติธรรม เท่าเทียม ไม่เรียกรับผลประโยชน์โดยมิชอบ "ดุสิตโพล" ชี้ควรปฏิรูป ตำรวจตั้งนานแล้ว เป็นปัญหาที่สะสมมานาน ห่วงทุจริต-รับส่วย เป็นอุปสรรคการปฏิรูป
          
ผู้จัดการรายวัน360 - ฟังความเห็นประชาชน "องอาจ" ฝาก 3 แนวทางปฏิรูป ตร. ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ยุติธรรม เท่าเทียม ไม่เรียกรับผลประโยชน์โดยมิชอบ "ดุสิตโพล" ชี้ควรปฏิรูปตำรวจตั้งนานแล้ว เป็นปัญหาที่สะสมมานาน ห่วงทุจริต-รับส่วย เป็นอุปสรรคการปฏิรูป

วานนี้ (9 ก.ค.) พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) กล่าวถึง การประชุมคณะกรรมการฯ นัดแรก ในวันที่ 12 ก.ค. ที่กองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) ถ.แจ้งวัฒนะ ว่า จะมีการหารือถึงกรอบการทำงาน และแบ่งคณะกรรมการฯ ออกเป็นชุดคณะ อนุกรรมการฯ ด้านต่างๆ เช่น คณะอนุกรรมการด้านองค์กร ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้าน แต่งตั้งโยกย้ายที่ดูเรื่องการบริหารบุคคล และคณะอนุฯ รับฟังความคิดเห็นประชาชน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้นำโมเดลใดมายึดในการดำเนินการ เพราะเป็นเรื่องของเนื้อหาที่มีรายละเอียด ซึ่งต้องรอให้มีการเริ่มดำเนินการหารือกันก่อน เมื่อถามถึงกรณีเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ ออกแถลงการณ์ขอให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. และ พล.อ.บุญสร้าง ทบทวนวิธีการทำงานจากที่แบ่งช่วงเวลา 2-3-4 เป็น 4-3-2 แทน พร้อมกับขอให้รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ก่อนร่างกฎหมายนั้น พล.อ.บุญสร้าง กล่าวยืน

ยันว่าคณะกรรมการฯจะแบ่งการทำงานเป็นช่วงเวลา 2-3-4 ตามที่ได้มีการแถลงรายละเอียดไปก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ เราต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอยู่แล้ว โดยมีคณะอนุฯ รับฟังความคิดเห็นจากประชาชน อย่างไรก็ตาม ตนและคณะกรรมการฯ ทุกคน จะตั้งใจทำงาน 100 เปอร์เซ็นต์ และเท่าที่ดู คณะกรรมการฯ ทุกคนก็เป็นคนดี เราตั้งใจทำงานเพื่อประเทศ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนคาดหวังมานาน
ฝาก 3 แนวทางปฏิรูปตำรวจ
          
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวว่า การที่รัฐบาลเร่งดำเนินการเรื่องการปฏิรูปตำรวจขณะนี้ นอกจากเป็นไปตามบทบัญญัติ รธน.แล้ว ยังมีเสียงเรียกร้องจากผู้คนจำนวนมากให้มีการปฏิรูปตำรวจ เพราะตำรวจเป็นข้าราชการที่ทำงานใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดหน่วยงานหนึ่ง ประชาชนจึงสัมผัสได้
ถึงการทำงานในแง่ลบหลากหลายรูปแบบ ถึงแม้ตำรวจจะพยายามทำงานในเชิงบวก แต่ก็ยังไม่สามารถลบภาพออกไปจากความรู้สึกของคนไทยได้
          
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประชาชนรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมในการติดต่องานกับตำรวจ ทั้งการเรียกรับผลประโยชน์โดยมิชอบหลากหลายช่องทาง มีการเลือกปฏิบัติ ระหว่างคนรวย กับคนจน นอกจากนั้น ยังพบความล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่จนก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรม จึงขอฝากคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ หาทางแก้ไข ให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม ดังนี้

1. ละเว้นการเรียกรับผลประโยชน์โดยมิชอบทุกรูปแบบ 2. อำนวยความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติ และ 3. ดำเนินการให้คดีความต่างๆ เป็นไปอย่างรอบคอบ รวดเร็ว และเป็นธรรม

"การดำเนินการเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ควรยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทำงานอยู่บนพื้นฐานของการเป็นตำรวจของประชาชน เพื่อประชาชน มากกว่าทำงานเพื่อให้เจ้านายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติพึงพอใจแต่เพียงอย่างเดียว" นายองอาจ กล่าว
ตร.ชั้นผู้น้อย-ปชช.ต้องมีส่วนร่วม
          
นายสุริยะใส กตะศิลา  รองคณบดีวิทยาลัย นวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ. สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจทั้ง 36 คน ที่ ครม.แต่งตั้งขึ้นนั้น มีสถานะพิเศษ เพราะเป็นครั้งแรกที่มีบัญญัติเรื่องการปฏิรูปตำรวจไว้ใน รธน. คณะกรรมการชุดนี้จึงถูกคาดหวังสูงจากประชาชน อีกทั้งเป็นเรื่องเร่งด่วนลำดับต้นๆ ที่สังคมอยากเห็น ถ้าครั้งนี้ทำไม่สำเร็จ ก็เป็นเรื่องยาก ที่จะคาดหวังอะไรได้อีก
          
ทั้งนี้ จุดที่ต้องจับตาคือ กระบวนการทำงาน และการกำหนดประเด็น หรือการตั้งโจทย์พิจารณา เพราะถ้าออกแบบผิด หรือตั้งโจทย์ผิด ก็เหมือนกลัดกระดุมเม็ดแรกผิดไปด้วย โดยเฉพาะกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่กำหนดไว้ใน รธน. ก็ต้องมีความขัดเจน รวมทั้งการรับฟังตำรวจชั้นผู้น้อย หรือชั้นประทวน ก็ควรมีส่วนร่วมในเรื่องนี้ด้วย ในส่วนการกำหนดประเด็นและเนื้อหานั้น แนวทางที่นายกฯ พล.อ. ประยุทธ์ ชี้แนะไว้ ก็ถือว่ามาถูกทาง คือการปฏิรูประดับโครงสร้าง สตช. เช่น การกระจายอำนาจให้ยึดโยงกับจังหวัด และท้องถิ่น การแยกอำนาจสอบสวนให้มีความเป็นอิสระ น่าเชื่อถือ การพิจารณาอัตรานายพลที่มีมากเกินจำเป็น เพราะนี่เป็นต้นเหตุของปัญหาใน สตช.
ชี้ทุจริต รับส่วย อุปสรรคปฏิรูป ตร.
          
สวนดุสิตโพล สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง "ปฏิรูปตำรวจ" ในทัศนะของประชาชน ซึ่งจากที่ ครม.ผ่านความเห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ มีกรรมการทั้งหมด 36 คน โดยมี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน ทำให้หลายฝ่ายต่างจับตามองการปฏิรูปตำรวจครั้งนี้ ว่าจะดีขึ้น หรือไม่ เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนต่อการปฏิรูปตำรวจ และผลสำรวจจำนวนทั้งสิ้น 1,082 คน ระหว่างวันที่ 5-8 ก.ค. 60 สรุปผลได้ ดังนี้
          
ประชาชนคิดอย่างไร กับการปฏิรูปตำรวจ อันดับ 1 ควรปฏิรูปมานานแล้ว เป็นปัญหาที่สะสมมานาน 77.45% อันดับ 2 การปฏิรูปจะช่วยให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และภาพลักษณ์ดีขึ้น 72.18% อันดับ 3 ตำรวจมีทั้งดี และไม่ดีขึ้นอยู่กับจิตสำนึกแต่ละคน 62.66%
          
สิ่งที่เป็นปัญหา-อุปสรรคของตำรวจ ณ วันนี้ที่ประชาชนอยากให้ปฏิรูป คือ อันดับ 1 การทุจริตคอร์รัปชัน รับส่วย สินบน 81.98% อันดับ 2 ใช้อำนาจหน้าที่ไม่เป็นธรรม สองมาตรฐาน คนจนถูกจับ คนรวยพ้นคุก  74.77% อันดับ 3 การซื้อขายตำแหน่งแต่งตั้งโยกย้าย 65.43%         เมื่อถามว่า จากที่มีการแต่งตั้ง พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ มีข้าราชการตามตำแหน่ง 5 คน และมีคณะกรรมการอีก 30 คน โดยแบ่งเป็นข้าราชการตำรวจ 15 คน และไม่ใช่ตำรวจอีก 15 คน รวม 36 คน ประชาชนคาดหวังว่า การปฏิรูปตำรวจจะสำเร็จหรือไม่  อันดับ 1 คาดว่า น่าจะสำเร็จ 38.73% เพราะรัฐบาล คสช. ให้ความสำคัญ มีอำนาจเด็ดขาด คงจะดำเนินการอย่างจริงจัง เห็นแนวทางการปฏิรูปที่ชัดเจนมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา ฯลฯ อันดับ 2 คาดว่าน่าจะไม่สำเร็จ 36.29% เพราะตำรวจมีระบบโครงสร้างแบบรวบอำนาจ มีระบบเส้นสาย ควบคุมดูแลไม่ทั่วถึง ตำรวจทั่วประเทศมีจำนวนมาก แก้ยาก เป็นพฤติกรรมส่วนบุคคล ฯลฯ อันดับ 3 ไม่แน่ใจ 24.98% เพราะคงต้องใช้เวลาอีกนานในการปฏิรูปให้สำเร็จ ต้องดำเนินการไปตามระบบ บางเรื่องน่าจะแก้ไขได้ แต่บางเรื่องก็อาจยากเกินไป ฯลฯ        เมื่อถามว่า สิ่งที่ประชาชนอยากฝากบอกคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ คือ อันดับ 1 ขอให้ทำงานอย่างเต็มที่ อยากเห็นผลงานที่เป็นรูปธรรมชัดเจน 63.59% อันดับ 2 ปรับปรุงภาพลักษณ์ตำรวจให้ดีขึ้น ทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น 60.44% อันดับ 3 ดูแลตำรวจทุกระดับชั้นอย่างเท่าเทียมกัน 56.56%.