Hot Topic!

ปฏิรูปตร.อย่าทำแบบขอไปทีต้องรื้อใหญ่ตอบโจทย์มหาชน

โดย ACT โพสเมื่อ Jul 07,2017

 - - แนวหน้า วันที่ 7/07/60 - -


การปฏิรูปตำรวจนับเป็นงานท้าทายสำหรับ 36 อรหันต์คณะกรรมการปฏิรูปวงการสีกากีที่มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นประธานเพราะเป็นความหวังของคนทั้งประเทศและเดิมพันด้วยความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนที่มีต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
          
การที่กระแสสังคมเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจกันเซ็งแซ่ก็ด้วยพฤติกรรมดุจโจรในเครื่องแบบของตำรวจเองตั้งแต่อดีตจนแม้ปัจจุบัน จากการที่ตำรวจมีอำนาจบังคับใช้กฎหมายอยู่ในมือทั้งจับกุม คุมขัง สอบสวน ทำสำนวนคดีสั่งฟ้อง จึงกลายเป็นช่องทางการประพฤติชั่ว อาทิ เก็บส่วย รีดไถหาผลประโยชน์จากสิ่งผิดกฎหมายทั้งหลาย หรือทำตัวไม่ต่างจากผู้มีอิทธิพลโดยหากไม่พอใจใครก็จับกุมยัดข้อหาหรืออุ้มไปทำร้ายทรมานเพื่อเรียกค่าไถ่หรืออาจถึงขั้นทำให้หายสาบสูญ บางครั้งตำรวจค้ายาเสพติดเสียเอง          
และที่เลวร้ายในวงการตำรวจเป็นอย่างมากก็คือข่าวการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่งซึ่งเมื่อต้นทางของตำรวจตั้งแต่ระดับบนมาจากการทุจริตเสียแล้วก็ลองนึกภาพดูก็แล้วกันว่า พฤติการณ์ของตำรวจทั้งองค์กรจะเป็นอย่างไร
          
ทั้งนี้ ตำรวจถือเป็นหน่วยงานต้นทางของกระบวนการ ยุติธรรมที่สำคัญ อีกทั้งองค์กรตำรวจมีกำลังพลทั่วประเทศถึงกว่า 300,000 คน จึงถือเป็นกองทัพดีๆ นี่เอง ดังนั้นหากกองทัพตำรวจถูกใช้ไปในทางที่ชั่วร้ายถือเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของชาติ
          
ยุคหนึ่งสมัยหนึ่งองค์กรตำรวจกลายเป็นเครื่องมือ ทางการเมืองของรัฐตำรวจระบอบทักษิณและกลุ่มคนเสื้อแดง และกลายเป็นสมบัติของผู้มีอำนาจเพียงตระกูลเดียวที่แต่งตั้ง โยกย้ายนายตำรวจตามชอบใจโดยผลักดันคนของตัวเองเข้าไปคุมอำนาจในองค์กรตำรวจทำให้มีตำรวจมะเขือเทศจำนวนไม่น้อยที่ยังฝังรากมาจนทุกวันนี้ ขณะที่นายตำรวจ บางคนถึงกับบินไปให้อดีตนายกฯนักโทษหนีคุกประดับยศ ให้ถึงในต่างแดน ซ้ำติดป้ายขนาดใหญ่ในห้องทำงานว่า "ได้ดีเพราะพี่ให้"
          
ก่อนหน้านี้ "นิด้าโพลล์" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เคยเผยผลสำรวจความเห็นประชาชนทั่วประเทศเรื่อง "การปฏิรูปองค์กรตำรวจ" โดยประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวคิดให้ยกเลิกคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แล้วให้มีสภากิจการตำรวจแห่งชาติเข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแลองค์กรตำรวจเพราะเห็นว่าจะทำให้องค์กรตำรวจเกิดความโปร่งใสและการทำงานมีความยุติธรรมมากกว่าเดิม
          
สำหรับสภากิจการตำรวจแห่งชาติจะประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการในหน่วยงานเกี่ยวกับความมั่นคง หัวหน้าส่วนราชการด้านกระบวนการยุติธรรม กรรมการสิทธิมนุษยชน และผู้ทรงคุณวุฒิที่ผ่านการคัดเลือกจาก สส.และสมาชิกวุฒิสภา (สว.)
          
นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่ยังเห็นด้วยที่จะปฏิรูปองค์กรตำรวจให้เล็กลงและมีการกระจายอำนาจแทนที่จะรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางซึ่งจะทำให้การทำงานเกิดความคล่องตัวและตรวจสอบทุจริตหรือการกระทำผิดได้ง่าย อีกทั้งการรวมศูนย์อำนาจการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจไว้ที่ส่วนกลางเปิดช่องให้มีการทุจริตซื้อขายตำแหน่งและถูก แทรกแซงจากฝ่ายการเมืองได้ง่ายขึ้น
          
ที่สำคัญผลสำรวจของนิด้าโพลล์ก่อนหน้านี้ยังสะท้อน ถึงขนาดว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยที่ประชาชนควรมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ แต่งตั้งโยกย้ายหรือถอดถอนตำรวจ
          
ในเรื่องการกระจายอำนาจองค์กรตำรวจนั้นจำได้ว่า รัฐบาลในอดีตเคยตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจที่มี พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ เป็นประธานซึ่งได้สรุปผลการศึกษาโดยมีสาระสำคัญให้กระจายอำนาจและปรับองค์กรตำรวจที่ใหญ่เทอะทะให้มีขนาดเล็กลงโดยโอนหน่วยงานตำรวจบางหน่วยงานไปสังกัดกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองโอนไปสังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ตำรวจตระเวนชายแดนให้ไป ขึ้นอยู่กับกองทัพ ตำรวจท่องเที่ยวก็ให้โอนไปสังกัดกระทรวง การท่องเที่ยวและกีฬา โดยคงหน่วยงานตำรวจเท่าที่จำเป็น ในการดูแลรักษาความเรียบร้อยในภาพรวม อาทิ กองบัญชาการ ตำรวจสอบสวนกลาง
          
ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. เคยเสนอแนวคิดให้กระจายอำนาจตำรวจไปสู่ท้องถิ่น โดยตำรวจแต่ละจังหวัดขึ้นตรงกับผู้ว่าราชการจังหวัดและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จังหวัด
          
ขณะเดียวกันมีรายงานข่าวถึง กรอบแนวคิดการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจ ที่อาจมีการพิจารณาเรื่องการลดตำแหน่ง ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรตำรวจตั้งแต่ระดับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) ลงมาเพราะปัจจุบันมีองค์กรตำรวจเต็มไปด้วยนายตำรวจระดับนายพลจำนวนมากเกินความจำเป็น รวมทั้งแนวคิดที่อาจให้หน่วยงานตำรวจบางส่วนขึ้นตรงต่อกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.)
          
ที่ผ่านมาปัญหาสำคัญในภาพรวมของวงการตำรวจ ก็คือเป็นองค์กรที่ใหญ่ รวมศูนย์อำนาจและมีอำนาจมาก เกินไปทั้งจับกุม ตั้งข้อหา ทำสำนวนคดีสั่งฟ้องแบบเบ็ดเสร็จสามารถทำคดีจากดำเป็นขาวจากขาวเป็นดำได้ตามใจชอบกลายเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตและใช้อำนาจในทาง เลวร้าย
          
เพราะฉะนั้นทั้งหลายทั้งปวงสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการปฏิรูปตำรวจต้องไม่ทำแบบขอไปทีเพราะเกรงใจกลัวถูกต่อต้านจากกองทัพตำรวจและต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ แต่ต้องจริงจังตอบโจทย์ความคาดหวังของมหาชนที่อยากเห็นองค์กรตำรวจเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เป็นตำรวจของประชาชนอย่างแท้จริงเสียที ไม่ใช่เป็นองค์กรที่ถูกมองว่าเซ็งลี้เก้าอี้อันเป็นต้นตอของโจร ในเครื่องแบบเหมือนที่ผ่านๆ มา