Hot Topic!
เครื่องมือรัฐกำจัดโกง พิมพ์เขียวขับเคลื่อนกลไกยุติธรรม
โดย ACT โพสเมื่อ Jul 03,2017
- - สำนักข่าว ไทยรัฐ วันที่ 3/07/60 - -
ประกอบด้วยด้านการเมือง ด้านความเหลื่อมล้ำ ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาและสาธารณสุข ด้านสื่อสารมวลชน ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านการต่างประเทศ ด้านการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน ด้านการปฏิรูปและด้านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
ซึ่งคณะอนุกรรมการพิจารณาบูรณาการข้อคิดเห็นข้อเสนอเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองสรุปผลส่งให้คณะกรรมการบริการราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธาน
โดยข้อมูลความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในแต่ละด้าน อาทิ ด้านการเมือง ต้องการให้ส่งเสริมการเมืองภาคประชาชน ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่ถูกต้อง การวางระบบการเลือกตั้งที่มีกฎกติกาเป็นที่ยอมรับ ดำเนินการตามโรดแม็ป การยอมรับผลการเลือกตั้ง การสร้างความเข้าใจและใช้กลไกรัฐสภาแก้ปัญหา
ด้านความเหลื่อมล้ำ ร่วมถึงการครอบครองที่ดิน การบริหารจัดการน้ำ โดยต้องการให้ปฏิรูปการบริหารจัดการน้ำ การจัดสรรที่ดินให้ประชาชน การจำกัดสิทธิ์ในการถือครองที่ดินของกลุ่มทุนทั้งในและต่างประเทศ
ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ต้องการให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเหมาะสมเสมอภาคไม่เลือกปฏิบัติ กระบวนการยุติธรรมควรยึดหลักนิติธรรม เสมอภาค รวดเร็ว เป็นธรรมทบทวนกฎหมายให้ทันสมัย สอดคล้องความเป็นจริงของสังคมและกติกาสากลระหว่างประเทศ
ด้านการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน ต้องการให้ปลูกฝังค่านิยมป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันการส่งเสริมกลไกของรัฐให้มีประสิทธิภาพปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพและปราศจากการแทรกแซง
ข้อมูลจากการรับฟังในแต่ละด้านจำแนกและจัดกลุ่มทั้งเป็นกลุ่มที่รัฐบาลดำเนินการแล้วหรือกำลังดำเนินการกลุ่มที่สามารถดำเนินการ ได้และเกิดผลทันที กลุ่มที่สามารถดำเนินการได้แต่ผลที่เกิดขึ้นอาจต้องใช้เวลา
กลุ่มที่ต้องการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อนำไปสู่การดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป อาทิ การปฏิรูปด้านการศึกษาทั้งระบบ ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เช่น การสร้างความไว้วางใจความน่าเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรม ด้านการเมือง เช่น รูปแบบประชาธิปไตยที่เป็นอัตลักษณ์ของไทย
กลุ่มที่ควรเร่งดำเนินการและสร้างความรับรู้ ความเข้าใจ เพื่อไม่ให้นำไปสู่ความขัดแย้งอีก เช่น ด้านการเมือง การสร้างความเข้าใจเรื่องการปรองดองก่อนการเลือกตั้ง การเคารพกฎกติกาการเลือกตั้ง พรรคการเมืองยอมรับผลการเลือกตั้ง การใช้กลไกรัฐสภาในการแก้ไขปัญหา การส่งเสริมจริยธรรมของนักการเมือง
ซึ่งเป็นประเด็นที่สามารถนำไปจัดทำเป็น "สัญญาประชาคม" เพื่อสร้างการยอมรับและความเห็นร่วม ที่จะก่อให้เกิดการสร้างความสามัคคีปรองดองได้อย่างเป็นรูปธรรม หากปล่อยเอาไว้อาจนำไปสู่ความขัดแย้ง
ทั้งหมดเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง มี พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. เป็นประธาน จะไปยกร่างสัญญาประชาคม โดยพิจารณาความเหมาะสมนำประเด็นใดประเด็นหนึ่งจากกลุ่มต่างๆไปทำสัญญาประชาคมต่อไป
แนวทางในการสร้างความสามัคคีปรองดองเพื่อให้บรรลุความสำเร็จ ตามแนวคิดการจัดทำสัญญาประชาคม จะต้องเกิดจากการมีส่วนร่วม ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในทุกมิติ ไม่เน้นเฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ควรเน้นกระบวนการเข้าถึงและการมีส่วนร่วมของประชาชนการสร้างจิตสำนึกในการยอมรับกฎ กติกา กฎหมาย
แต่การขับเคลื่อนการปฏิรูปทุกด้านให้สำเร็จตามเป้าหมายจะต้องอาศัยกฎหมายเป็นเครื่องมือเครื่องมือแต่ละชิ้นมีโฉมหน้าอย่างไร โปรดติดตามการทำงานของคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อกำกับการปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน
ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ปรับปรุง ยกเลิก กฎ กติกากฎหมายที่หมดความจำเป็น ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ เป็นอุปสรรคขวากหนามต่อการดำรงชีพของประชาชน หรือเสนอกฎ กติกา กฎหมายใหม่ ให้สอดคล้องรวมถึงสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูป
ฉะนั้น คณะกรรมการฯจึงแยกสายเป็นคณะอนุกรรมการปรับปรุงยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการประกอบอาชีพของประชาชนคณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายที่สร้างภาระแก่ประชาชน คณะอนุกรรมการติดตามกฎหมายให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และการปฏิรูปประเทศคณะอนุกรรมการกำกับการเสนอร่างกฎหมาย
และคณะอนุกรรมการจัดทำกฎหมายใหม่หรือสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อการปฏิรูป มี นายบรรเจิด สิงคะเนติ เป็นประธาน โดยได้เปิดมุมมองให้เห็นโครงสร้างการปรับปรุง ยกเลิก หรือเสนอกฎหมายใหม่ในภาพกว้างๆผ่านการให้สัมภาษณ์ ทีมข่าวการเมือง ว่าผมยังเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการบูรณาการและขับเคลื่อนการปฏิรูปเชิงระบบและโครงสร้าง ภายใต้ ป.ย.ป.
มีประเด็นร้อนที่ต้องทำคือ ความเหลื่อมล้ำในเรื่องที่ดิน สิ่งแวดล้อมกระบวนการยุติธรรม การศึกษา ผมดูเรื่องกระบวนการยุติธรรม ระบบสอบสวน ยุติธรรมชุมชน การเข้าถึงความยุติธรรมของจำเลย ซึ่งจะไปเชื่อมกับชุดของนายบวรศักดิ์
ในวันที่ 4 ก.ค. นี้ จะสรุปว่าระบบสอบสวนจะเป็นอย่างไร ภารกิจเกี่ยวกับการสอบสวนของหน่วยงานอื่นจะเป็นอย่างไร เบื้องต้นได้วางระบบให้ตำรวจยังเป็นหลักในระบบสอบสวน ดูข้อเท็จจริงและแจ้งข้อกล่าวหาและควรให้ผู้ช่วยอัยการเข้าไปคุมด้วยเพื่อให้การแจ้งข้อกล่าวหาไม่ได้อยู่ในกำมือของคนคนเดียว
จากนี้ไปจะมีอัยการเข้ามาถ่วงดุลเพื่อแก้ปัญหาใหญ่ของประเทศโดยไม่ปล่อยให้ผู้ที่เข้าสู่ตำแหน่งโดยใช้เงินสูงและการโยกย้ายแต่ละครั้งอยู่ภายใต้การเมือง เป็นคนชี้ข้อกล่าวหาถ้าวางระบบได้ปัญหาใหญ่ของประเทศจะค่อยๆลดลง ประชาชนจะได้รับความยุติธรรม
ขณะเดียวกัน ผมยังดูแลการออกแบบ พ.ร.บ.การจัดทำประมวลกฎหมายว่าจะมีหลักการทำอย่างไร เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมายได้ง่ายและเข้าใจแถมยังได้รับมอบหมายให้ช่วยกระทรวงยุติธรรมผลักดันกฎหมายที่เติมเขี้ยวเล็บให้ประชาชนเพื่อฟ้องรัฐที่มีหน้าที่แล้วรัฐไม่ทำ
และยังมีกฎหมายอีกฉบับ ซึ่งเป็นกลไกในการส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม รณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน ชี้เบาะแสการทุจริตโดยได้รับความคุ้มครองจากรัฐขณะนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ยกร่างเสร็จ แล้วแต่ภาคประชาชนมีความเห็นไม่ตรงกัน
ขั้นตอนต่อไปคณะอนุกรรมการกำกับการเสนอร่างกฎหมาย ซึ่งมี นายคำนูณ สิทธิสมาน เป็นประธาน จะไปจัดวงเสวนาให้ได้ข้อสรุป ก่อนส่งให้ชุดของนายบวรศักดิ์ และชงเข้า ครม. ซึ่งส่วนใหญ่จะดูเรื่องด่วนและสำคัญ ส่งผลต่อประชาชน โดยหลักจะไม่ยกร่างกฎหมายเองแต่ไปจี้ว่าอยู่ตรงไหนส่วนใหญ่ติดปัญหาอยู่ในกระทรวง ทบวง กรม เพื่อไปกระตุ้นให้เกิดการไหลเวียนของเส้นเลือด
ทีมข่าวการเมืองถามว่า สังคมให้ความสนใจการปฏิรูปด้านการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน วันนี้ควรจะออกกฎหมายอะไรมาเพิ่มเขี้ยวเล็บเพื่อให้การปฏิรูปด้านนี้สำเร็จตามที่สังคมคาดหวัง นายบรรเจิด บอกว่ารัฐธรรมนูญได้วางมาตรการและกำหนดคุณสมบัติไม่ให้คนโกงเข้ามาสู่อำนาจ
ปัญหาใหญ่ของการปราบการทุจริตไม่ได้อยู่ที่อัตราโทษสูง
แต่อยู่ที่ประสิทธิภาพของการลงโทษทางอาญาทางการเมือง ทางวินัยและแพ่ง วันนี้เราเน้นการเพิ่มโทษทางอาญาจนเกือบติดเพดานหลักสากล
ความเห็นส่วนตัวขอเสนอว่าอย่าไปเน้นแค่โทษทางอาญา ถ้ามุ่งเอาเฉพาะโทษอาญา 10 ปีก็ไม่เสร็จ
ต้องเน้นโทษทางวินัยทางแพ่งและทางการเมืองด้วยเพื่อให้ 4 ขาของการลงโทษมีประสิทธิภาพ
สมมติมีข้าราชการคนหนึ่งในสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทำผิด พอไปร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ป.ป.ช.จะต้องแจ้งหน่วยต้นสังกัดให้ดำเนินการตรวจสอบเอาผิดทางวินัยก่อน ตามด้วยแพ่งยึดทรัพย์ อายัดทรัพย์ โทษทางอาญาอยู่อีกชั้นหนึ่ง
ถ้าฝ่ายการเมืองทำผิดก็เอาโทษทางการเมืองและโทษทางแพ่งก่อน โทษทางอาญามารองรับทีหลัง
วันนี้ทำอย่างไรถึงจะมีกลไกบูรณาการลงโทษร่วมกัน 4 แท่งเพื่อแก้ปัญหาประสิทธิภาพการลงโทษที่ล่าช้า ถ้าการลงโทษไม่มีประสิทธิภาพต่อให้มีโทษประหารชีวิตก็ไร้ความหมาย
เพราะคนโกงกลัวการลงโทษที่รวดเร็ว.