Hot Topic!
พัฒนาการ'แป๊ะเจี๊ยะ'สู่ระบบ'นายหน้า'
โดย ACT โพสเมื่อ Jun 28,2017
- - สำนักข่าว คม ชัด ลึก วันที่ 28/06/60 - -
นลิน สิงหพุทธางกูร NOW26
นลิน สิงหพุทธางกูร NOW26
"ปัญหาแป๊ะเจี๊ยะ ถ้าไม่แก้ไขอย่างเอาจริงเอาจัง จำนวนเงินจะสูงขึ้นทุกปีๆ เป็นความได้เปรียบเสียเปรียบทางการศึกษา และทำให้มีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพิ่มมากขึ้น"
เสียงเตือนจากนักวิชาการด้านการศึกษา ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนปัญหาการเรียกรับเงิน กินเปล่า หรือ "แป๊ะเจี๊ยะ" ในระบบการศึกษาไทย ที่หากปล่อยไว้จะส่งผลให้เกิดวิกฤติด้านอื่นๆ ที่ร้ายแรงตามมา
"แป๊ะเจี๊ยะ" เป็นคำในภาษาจีนใช้ในระบบการค้า หมายถึง การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เพื่ออำนวยความสะดวก เดิมใช้ในระบบโรงเรียนเอกชน แต่ตอนหลังลุกลามเข้าสู่โรงเรียนรัฐบาล
"มันกลายพันธุ์จนเป็นวัฒนธรรมย่อยของตัวโครงสร้างและตัวระบบการศึกษา แก้อย่างไรก็ไม่หมด ตราบใดที่โรงเรียนยังมีความเหลื่อมล้ำสูงต่ำกัน 20 กว่าเท่า คุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในเมืองกับชนบทต่างกัน 3 ชั้นปี นี่เป็นรายงานการศึกษาของธนาคาร โลก สมมุติว่าเด็กจบ ม.6 ด้วยกัน เด็กต่างจังหวัดจะมีความรู้แค่ ม.3 แต่เด็ก ม.6 โรงเรียนในเมืองหรือในกรุงเทพฯ จะมีเนื่อหาความรู้เทียบเท่า ม.6 จริงๆ"
"ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงเหล่านี้ทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องการคุณภาพการศึกษาให้แก่บุตรหลานของตัวเอง เพื่ออนาคตที่ดีกว่า เพื่อสังคมที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในอนาคต และตอบโจทย์การสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ทั้งยังป้องกันลูกหลานของตนเองให้พ้นจากปัญหายาเสพติด และเรื่องเพศ โรงเรียนพวกนี้มีสิ่งแวดล้อมดีมาก ถ้าเป็นแบบนี้พ่อแม่ผู้ปกครองทุกคนจะบอกว่าเท่าไหร่เท่ากัน" ศ.ดร.สมพงษ์ ระบุ
ว่ากันว่าบางทีระเบียบสำนักงานคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เรื่อง "หลักการและแนวปฏิบัติในการรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษ" ที่ประกาศใช้เมื่อปี 2554 กลายเป็นช่องโหว่ให้เกิดการขอรับบริจาคแลกกับ "ที่นั่งในโรงเรียน" แบบวิธีพิเศษ
ระเบียบนี้มี 7 ข้อ หลายๆ ข้อสมเหตุสมผลและยอมรับได้ เช่น การรับบุตรของบุคคลที่เสียสละเพื่อชาติ การรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษตามข้อตกลงการจัดตั้งโรงเรียน แต่ปัญหาอยู่ที่ข้อ 7 ระบุถึงการรับนักเรียนของผู้ทำคุณประโยชน์ให้โรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ศ.ดร.สมพงษ์ มองว่า "ระเบียบนี้เป็น ดาบสองคม เงินบำรุงการศึกษา ทำถูกตามหลักเกณฑ์ก็จะเป็นเงินบริจาคและมีใบเสร็จ ดังนั้นข้อ 7 ต้องนิยามใหม่ ตีความให้ชัด ไม่ให้มันดิ้นได้ เพราะเมืองไทยเป็นเมืองศรีธนญชัย"
คลุกคลีในแวดวงการศึกษามานาน ศ.ดร.สมพงษ์ให้ข้อมูลว่า การบริจาคเงิน ให้ลูกหลานได้เข้าเรียน เป็นเพียงส่วนหนึ่งของขบวนการนี้เท่านั้น ปัจจุบันวงจรนี้พัฒนาไปสู่ระบบ "นายหน้า" แล้ว
"จริงๆ การฝากเด็กมีหลายวิธี เริ่มจากใช้อำนาจทางการเมือง ใช้ระบบอุปถัมภ์ไม่ต้องจ่ายเงิน แต่ถ้าไม่มีอำนาจการเมืองก็ต้องวัดอำนาจทางการเงิน จ่ายในลักษณะกรอกตัวเลข แจ้งความจำนงมากน้อย ระบบนี้จะมีนายหน้า เช่น ตัวเลขกลางๆ 3 แสน คุณกล้ามากกว่า 3 แสนมั้ย จ่ายได้ก็ติด เงินจะเข้าใครก็ไม่รู้ แต่ต้องจ่ายก่อน อีกประเภท ยึดตามระเบียบกฎเกณฑ์แต่เลี่ยงข้อ 7 อย่าเพิ่งจ่ายเงินเปิดเรียนไปอาทิตย์หนึ่งค่อยจ่าย ยังมีระบบผ่อนจ่าย เก็บแต้ม ผู้ปกครองของเด็กจะแจ้งสมาคมครูและผู้ปกครอง ร่วมกิจกรรม จ่ายไปเรื่อยๆ จนครบก็เข้าสู่การพิจารณาได้ วิธีการมีเยอะไปหมด ทั้งถูกระเบียบและผิดระเบียบ"
ทางออกของปัญหานี้ต้องใช้ยาแรง ศ.ดร.สมพงษ์ บอกว่า "ผู้อำนวยการโรงเรียนใหญ่ๆ ดีเด่นดังต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินว่าก่อนเข้าบริหารโรงเรียนมีทรัพย์สิน เงินสด บ้าน รถ เท่าไหร่ ต้องกล้าทำ เพราะ ในมหาวิทยาลัยรองอธิการบดียังต้องแสดง ตรงนี้จะแก้ปัญหาที่ต้นทางพอสมควร อย่างน้อยถ้าแจ้ง บัญชีไม่เหมาะสม ติดคุก ถูกไล่ออกจากระบบราชการ อีกแนวทางหนึ่งคือตั้งคณะกรรมการระดับประเทศ มีรองนายกรัฐมนตรี หรือรมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน ภาคเอกชนที่ทำเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. สตง. นักวิชาการ เอ็นจีโอ ร่วมตรวจสอบ ถ้าผิดจริงมีบทลงโทษที่ชัดเจน หากทำได้ปัญหานี้หมดแน่ ขึ้นอยู่กับว่าเอาจริงหรือเปล่า แต่ถ้าบอกว่ามีนโยบายไม่ให้มีแป๊ะเจี๊ยะแล้วไม่มีมาตรการตรวจสอบจริงจัง ไม่มีมาตรการลงโทษแน่นอน ก็เหมือนปากว่าตาขยิบ"
ข้อเสนอสุดท้ายของ ศ.ดร.สมพงษ์ คือ การแก้ปัญหาระยะยาว ด้วยการให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล บริหารจัดการด้วยตัวเอง แต่ต้องมีบัญชีรายรับรายจ่ายที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาไม่ต่างกับบัญชีเงินวัดที่กำลังกลายเป็นข่าวฉาวเรื่องเงินทอน ไม่แพ้เงินแป๊ะเจี๊ยะของระบบโรงเรียนเช่นกัน
ฟาก..ประธานเครือข่ายพ่อแม่ลูกเพื่อการปฏิรูปการศึกษา พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี แนะขั้นตอนสกัดแป๊ะเจี๊ยะว่า 1.ทุกโรงเรียนต้องประกาศรายชื่อของนักเรียนทุกคนก่อนสอบ 2.หลังสอบเสร็จและมีรายละเอียดคะแนนสอบตามมาด้วย ประกาศรายชื่อนักเรียนที่ได้ทั้งหมดและที่สำรอง รวมทั้งคะแนนที่ได้ของแต่ละคน และ 3.ระดับขั้นสุดท้าย ประกาศรายชื่อเด็กที่เข้าเรียนจริงในแต่ละชั้นปีของแต่ละโรงเรียน ขณะที่ "สัดส่วน" ของผู้รับอุปการคุณ ต้องจัดตั้ง "ทีมงาน" กำหนด "หลักเกณฑ์" และ "แนวทางในการรับเด็กโควตา" หรือ "ผู้อุปการคุณ" ซึ่ง "โควตา" ก็จัดสรรตามพื้นที่ หรือความสามารถของเด็กเฉพาะทางที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ไม่ใช่โรงเรียนกำหนดเอง ก็จะ "จบ" เรื่องของการเรียกรับ "แป๊ะเจี๊ยะ" ได้
เช่นเดียวกับ "มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์" เลขาธิการภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของ ชาติ (ภตช.) ที่ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ 1.ขอให้ยกเลิกการรับนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษ 6 ข้อ จาก 7 ข้อ ยกเว้นนักเรียนที่ได้คะแนนสอบเท่ากันในลำดับสุดท้าย ในปีการศึกษา 2560 เพื่อนำยอดการรับนักเรียนนี้ไปอยู่ในส่วนของการสอบทั่วไปเพื่อความเท่าเทียมกันของทุกชนชั้น 2.ขอให้ตรวจสอบ-เปิดเผยรายชื่อการรับนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษปีการศึกษา 2560 ของโรงเรียนที่มีอัตราแข่งขันสูงตั้งแต่อนุบาล-ประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ใน 357 โรงเรียน เมื่อตรวจสอบแล้วว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐใดประสานมา ให้ดำเนินการทางวินัย-อาญา-แพ่ง ทั้งผู้ประสานขอมา และผู้อำนวยการโรงเรียนนั้น ให้ดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายกับผู้รับ, ผู้ให้การสนับสนุน-ผู้ให้ ถอดถอนรายชื่อนักเรียนผู้นั้นออกจากการเป็นนักเรียนโรงเรียนนั้นๆ ด้วยจะแก้ปัญหาได้
"การฝากเด็กมีหลายวิธี เริ่มจากใช้อำนาจทางการเมือง ใช้ระบบอุปถัมภ์ไม่ต้องจ่ายเงิน แต่ถ้าไม่มีอำนาจการเมืองก็ต้องวัดอำนาจทางการเงิน"