Hot Topic!

'แป๊ะเจี๊ยะ' ธุรกิจก่อสร้าง ต้นทุนแฝง..บ้านแพงเกินจริง

โดย ACT โพสเมื่อ Jun 27,2017

- -สำนักข่าว แนวหน้า วันที่ 27/06/60- - 

"อยู่ในวงการมา 20-30 ปี การขออนุญาตมันมี 2 แบบ แบบที่ผิดแน่ๆ อันนี้สร้างไม่ได้แน่นอน แต่อีกประเภทที่กึ่งผิด กึ่งถูกแล้วแต่เจ้าหน้าที่จะตีความ จากประสบการณ์ที่ทำงานจริง ทุกแบบเสียสตางค์หมด แม้กระทั่งสร้างบ้านของตัวเอง ผมเลี่ยง ที่จะไม่จ่ายแต่ทำยังไงใบอนุญาตก็ไม่ออก สุดท้ายทนไม่ไหว ก็ต้องจ่าย ทั้งที่ถูกต้องหมด"
          
เสียงสะท้อนจากผู้ประกอบอาชีพ สถาปนิก รายหนึ่ง กล่าวในเวทีเสวนา "ใบอนุญาตก่อสร้าง ความสะดวกที่ต้องจ่าย... จริงหรือ" ซึ่งจัดโดย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย)ณ รร.ดุสิตธานี แยกศาลาแดง กทม. ระบายความ "คับแค้นใจ"ที่แม้จะยื่นเอกสารครบถ้วนทุกอย่าง แต่ยังถูกเจ้าหน้าที่รัฐ "เตะถ่วง"แกล้งดึงเรื่องให้ล่าช้าเพื่อกดดันให้ต้องยอม "จ่ายค่าหล่อลื่น"แลกกับการอนุมัติให้ก่อสร้างอาคาร
          
ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องเล่าของ สรรค์ สุขุขาวดี ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท แอล. พี. เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)ที่กล่าวว่า เคยได้ยินเพื่อนฝูงในวงการอสังหาริมทรัพย์เล่าให้ฟังอยู่บ้าง โดยนับตั้งแต่ก่อนจะเริ่มโครงการ ผู้บริหารบริษัทจะถูก "เชิญ" ไปพูดคุยกับผู้มีอำนาจอนุมัติ คำถามแรกคือ "คุณตัดสินใจ ได้ไหม?" ถ้าไม่ได้ก็ไม่คุย ให้ไปเรียกคนที่ตัดสินใจได้ในองค์กร มาแทน จากนั้นก็จะเป็นเจรจา "ต่อรองผลประโยชน์" ที่ทุกวันนี้ใช้คำว่า "แบ่งปันรายได้" แทนที่จะเป็นศัพท์เดิมๆ อย่างแป๊ะเจี๊ยะ เก๋าเจี๊ยะ ค่าน้ำร้อนน้ำชา ฯลฯ เพื่อให้ฟังแล้วรู้สึกสบายหูขึ้น
          
ที่ปรึกษาอาวุโสธุรกิจคอนโดมิเนียมแบรนด์ดังผู้นี้ กล่าวต่อไปว่า ในความเป็นจริง "ไม่มีใครอยากจ่าย" เพราะนั่นหมายถึงต้นทุน ซึ่งผู้ประกอบการก็จะต้อง "ผลักภาระ" ไปให้ผู้บริโภคด้วยราคาอาคารที่แพงขึ้น แต่สาเหตุที่ยอมจ่ายก็จะมี 2 เรื่อง เรื่องแรก ...ผู้ประกอบการ "ทำผิดเอง" ลักษณะนี้ช่วงหลังๆ ไม่น่าจะมีแล้ว เพราะผู้ประกอบการเข้าถึงความรู้ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น รวมถึงมีทีมงานวิศวกร สถาปนิก ฝ่ายกฎหมายเก่งๆ มากขึ้น
          
ทว่า เรื่องที่สอง...ผู้ประกอบการต้อง "ซื้อเวลา" เพราะเมื่อลงทุนไปแล้วแต่ใบอนุญาตก่อสร้างยังไม่ออก ย่อมไม่สามารถเริ่มก่อสร้างได้ บางแห่งใช้เวลานานนับปี ลักษณะนี้เป็นการ "บีบ"ให้ผู้ประกอบการต้องยอมจ่าย เพราะยิ่งนานไปต้นทุนยิ่งเพิ่ม ซึ่งการที่เจ้าหน้าที่รัฐสามารถทำเช่นนี้ได้ เพราะการจะก่อสร้างอาคาร สักหลังหนึ่ง มีข้อกฎหมายกฎระเบียบยิบย่อยเต็มไปหมด เปิดให้ เจ้าหน้าที่สามารถใช้ "ดุลยพินิจ" ดึงเรื่องให้ล่าช้าได้ อาทิ การก่อสร้างอาคารสูง ต้องจัดทำ รายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งจริงๆ EIA เป็นเรื่องดีเพราะจะช่วยป้องกันหรือลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในชุมชนรอบอาคาร แต่ปัญหาคือ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา เก็บขยะมูลฝอย การจราจร ฯลฯ "ไม่ตอบอะไร"EIA ก็ไม่สามารถถูกนำเข้าไปพิจารณาให้แล้วเสร็จได้ จึงอยากให้แก้ไข กฎระเบียบนี้เป็นเพียง "แจ้งให้ทราบ" เท่านั้น เพราะอย่างไรเสีย การจะได้สร้างหรือไม่ได้สร้าง ทุกอย่างก็ต้องมาขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ EIA เป็น "ผู้ชี้ขาด" ในตอนสุดท้าย "ถ้ามี One Stop Service ได้ยิ่งดี พอเราไปยื่นก็จะต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไฟฟ้า ประปา จราจร แจ้งให้ทราบ แล้วหลังจากนั้น EIA เขาจะเป็นผู้พิจารณา เพราะเราได้แจ้งหน่วยงานรัฐไป แล้วถ้าหน่วยงานรัฐนั้นเห็นว่ามีปัญหา ก็สามารถแจ้งเข้ามาที่ EIA ได้ ถ้ากรณีที่เกี่ยวกับสาธารณูปโภค เงือนไขยื่น EIA ไม่ต้องรอหนังสือ เพียงแต่แจ้งเพื่อทราบ ก็น่าจะเพียงพอ" ที่ปรึกษาอาวุโสธุรกิจคอนโดมิเนียมแบรนด์ดัง เสนอแนะ
          
จากปัญหาที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อ "ภาพลักษณ์" ในสายตาชาวโลกอย่างมาก อาทิ รายงาน Doing Business  ซึ่งจัดทำโดย ธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่า ไทยยังมีปัญหามากในด้านการขออนุญาตก่อสร้าง ขอใช้อาคาร รวมถึงขอไฟฟ้า เป็นอุปสรรคในการลงทุน จนเป็นที่มาของ พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวก ในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558  กฎหมายใหม่ที่อาจเป็น "ความหวัง" ของผู้ประกอบการ อารีพันธ์ เจริญสุข ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) อธิบายว่า เหตุที่การขออนุญาตต่างๆ มีกฎระเบียบค่อนข้าง "หยุมหยิม"เต็มไปหมด เกิดมาจาก "วิธีคิด" ของฝ่ายรัฐ ที่เชื่อว่าตนเอง "รู้ดี ที่สุด" เมื่อกฎหมายแม่อย่างพระราชบัญญัติเปิดช่องไว้ ก็ไปออกกฎหมายลูก เช่น กฎกระทรวง ขึ้นมาอย่างละเอียดทุกขั้นตอน แม้จะมี เจตนาดีต้องการให้ทุกอย่างถูกต้องไม่มีผิดพลาด แต่ก็มีผลข้างเคียง คือ "ล่าช้า" ตามมาด้วยกลายเป็นการ "จูงใจ" ให้เอกชนยอมจ่ายเพื่อซื้อเวลา โดยเฉพาะหากนำไปรวมกับการใช้ดุลยพินิจ
          
พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกฯ จึงออกมาเพื่อแก้ไขปัญหานี้ เบื้องต้นต้องการ "ปิดช่อง" ด้านการใช้ดุลยพินิจก่อนเป็นลำดับแรก กล่าวคือ กำหนดให้หน่วยงานราชการที่มีอำนาจหน้าที่อนุมัติอนุญาตทั้งหลาย ต้องจัดทำระเบียบให้ชัดว่า การยื่นขอในแต่ละเรื่องต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง จ่ายค่าธรรมเนียมเท่าไร ใช้เวลาดำเนินการเท่าใด โดยเชื่อว่าถ้าขั้นตอนทุกอย่างชัดเจน ก็ไม่จำเป็นที่ผู้ประอบการต้องจ่าย "ใต้โต๊ะ" ให้เจ้าหน้าที่อีกต่อไป "ในอดีตเมื่อท่านไปยื่นก่อสร้าง ท่านอาจจะรับรู้ว่าใช้แค่ 5 เอกสาร แต่วันดีคืนดีเจ้าหน้าที่ขอเพิ่มอีก 2 เป็น 7 เอกสาร มาครบเมื่อไรจึงจะเริ่มนับหนึ่ง นี่เป็นปัญหา พอกฎหมายนี้ออกมา 2 ปี สิ่งที่เราได้รับฟังมาคือเราได้ความโปร่งใสขึ้น" อารีพันธ์ ระบุ
          
ที่ปรึกษา ก.พ.ร. กล่าวต่อไปว่า แม้เบื้องต้นกฎหมายนี้จะทำให้ขั้นตอนต่างๆ โปร่งใสตรงไปตรงมา แต่ก็ยังไม่ค่อยพอใจเท่าไรเนื่องจากขั้นตอนการขออนุญาตต่างๆ ยังเยอะอยู่ ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่าเอกชนอาจจะยังอยากจ่ายเงินพิเศษเพื่อซื้อเวลา ดังนั้นแผนงานขั้นต่อไปคือ "ปรับลดขั้นตอนลงให้ได้ร้อยละ 30-50" โดยคาดว่าจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วๆ นี้ เพื่อให้แต่ละหน่วยงานไปหาวิธีว่าจะทำได้อย่างไร?
          
"บางหน่วยงานอาจจะบอกว่าลดไม่ได้แล้ว เราก็จะให้พิสูจน์ว่าลดไม่ได้เพราะอะไร? จากที่ทำเรื่องราชการมาเยอะ จะพบว่าการออกแบบระบบราชการทั้งหลายใช้กลไกคณะกรรมการเยอะมาก จะต้องหาคนมาตรวจสอบมาร่วมรับผิด เรื่องง่ายๆ ก็ต้องมีองค์คณะ พอมีองค์คณะไม่ครบก็นัดประชุมไม่ได้ ก็ต้องเลื่อนไปจนกว่าจะครบองค์ โดยไม่คิดว่าประชาชนจะต้องรออยู่ นี่คือสิ่งที่เรากำลังทำ" ที่ปรึกษา ก.พ.ร. ยกตัวอย่างอีกด้านหนึ่ง อัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งข้อสังเกตว่า บางทีสังคมไทยอาจจะต้อง "ยอมรับความจริง" บ้างหรือไม่? เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐมีเงินเดือนไม่มากนัก อาทิ นายกรัฐมนตรีมีเงินเดือนเพียง แสนกว่าบาท ข้าราชการระดับปลัดกระทรวงมีเงินเดือนเพียง ไม่กี่หมื่นบาท ระดับรองๆ ลงไปก็ยิ่งน้อยกว่านั้น เมื่อต้องเผชิญกับภาระค่าครองชีพที่สูง ก็อาจคิดใช้อำนาจไปในทางทุจริตได้ โดยเฉพาะเมื่อเอกชนเป็นฝ่ายหยิบยื่นให้เพื่อแลกกับความสะดวก จึงเสนอให้ปรับค่าอัตราค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น
          
"ทำให้มันอยู่บนโต๊ะไหม? สมาคมอสังหากับภาครัฐ จับมือคุยกันไหม? ปรับค่าธรรมเนียมขึ้นไปเลยแล้วยุติซะ ยอมรับซึ่งกันและกัน แล้วบอกให้ชัดว่าต้องผ่านกี่โต๊ะ โต๊ะนี้ดู โซนนิ่ง โต๊ะนี้ดูสาธารณูปโภค อันนี้ดูเรื่องของเสีย บอกไปเลยว่ามีกี่เรื่องที่ต้องระวัง นั่นคือรัฐต้องทำหน้าที่เป็นผู้แนะนำ คือเราอาจจะต้องยอมรับในบางเรื่อง สมัยก่อนผู้พิพากษา อัยการ มีปัญหา วันหนึ่งรัฐก็ปรับเงินเดือน ความเป็นธรรมในสังคมก็ดีขึ้น"อัชชพล ให้ความเห็น
          
เช่นเดียวกับ รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกสมาคม วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)ที่ยกตัวอย่างการยื่นขอ หนังสือเดินทาง (Passport) ที่มีหลาย ช่องทางให้เลือก เช่น ขั้นตอนปกติไม่รีบไม่ร้อน ใช้เวลา 3 วันทำการ เสียค่าธรรมเนียม 1,000 บาท ถ้าด่วนขึ้นมาหน่อย ทำวันนี้ ได้วันถัดไป เสียค่าธรรมเนียม 2,000 บาท ถ้าด่วนอย่างที่สุด ทำวันไหน ได้วันนั้นเลย เสียค่าธรรมเนียม 3,000 บาท เป็นต้น
          
"คือถ้ามันเร่งด่วนขนาดนั้น ต้องทำธุรกิจด่วนก็ต้องจ่าย ยินดีจ่ายด้วยความสบายใจ แถมขอบคุณด้วยที่มีบริการแบบนี้ มันต้องเป็นแบบนี้คือคนจ่ายไม่ต้องรู้สึกว่าจ่ายใต้โต๊ะ จ่ายบนโต๊ะ แล้วก็ได้รับการตรวจ ซึ่งมันก็เป็นผลดีต่อการไปสร้างอาคารด้วย" ดร.ต่อตระกูล ฝากทิ้งท้าย
          
เฟซบุ๊คแฟนเพจ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น เผยแพร่บทความ "คนไทยซื้อบ้านแพงเพราะเงินสินบน?" ซึ่งเขียนโดย ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ระบุว่า ผู้ประกอบการรายใหญ่ต้องจ่ายเงินประมาณ 1.5-2.7 หมื่นบาทต่อยูนิตก่อสร้าง ขณะที่รายเล็กต้องจ่ายประมาณ 2-5 หมื่นบาทต่อหลัง แต่หากเป็นกรณีที่มีการหลีกเลี่ยงกฎหมายบางอย่างก็อาจต้องจ่ายมากถึงร้อยละ 10 ของต้นทุน
          
เช่น บ้านราคา 3 ล้านบาทต้องจ่ายสารพัดเงินสินบนถึง 3 แสนบาท แม้การก่อสร้างบ้านของตัวเอง คนส่วนใหญ่ก็ยังต้องจ่ายใต้โต๊ะประมาณ 1-3 หมื่นบาท โดยเจ้าของบ้านอาจจ่ายด้วยตนเองหรือจ่ายผ่านสถาปนิกผู้ออกแบบหรือผู้รับเหมาก่อสร้าง แต่ถ้าเป็นการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ เช่น อพาร์ทเมนท์ โรงงาน อาคารสำนักงาน ร้านอาหาร ราคาจะสูงกว่านี้อีกมากตามแต่กรณีและพื้นที่

หากไม่มีการแก้ไข..คนไทยก็ยังคงต้อง "ซื้อบ้านราคาแพง เกินจริง" กันต่อไป!!!