Hot Topic!

ทฤษฎีความเป็นเจ้าของแก้ปัญหา'แป๊ะเจี๊ยะ'

โดย ACT โพสเมื่อ Jun 26,2017

- -สำนักข่าว กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 26/06/60 - - 

หลังจากมีการเปิดคลิปอ้างว่า ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมชื่อดังเรียกรับเงิน "แป๊ะเจี๊ยะ" 4 แสนบาทแลกกับการรับเด็กเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จนเป็นข่าวโด่งดังตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางและแสดงความเป็นห่วงว่าจะเป็นการปลูกฝังค่านิยมคอร์รัปชันให้กับเด็ก
 
นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันประเทศไทยกล่าวว่าการเรียกรับเงินในลักษณะนี้มีให้พบเห็นอยู่ทั่วโลก ซึ่งคำถามแรกที่ว่าแก้ไขได้ไหม คือถ้าเป็นประเทศอื่นสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ คนไทยเราก็ต้องแก้ปัญหานี้ได้เช่นกัน เพราะคนไทยไม่ได้เลวร้ายไปกว่าชาติอื่นๆ ในโลก ส่วนจะใช้เวลานานแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

การจ่ายเงินแป๊ะเจี๊ยะก็คือคอร์รัปชันรูปแบบหนึ่งและถือเป็นปัญหาระดับชาติซึ่งพฤติกรรมการโกงที่เกิดขึ้นทั้งประเทศมันจึงทำให้ผู้คนเพิกเฉย ชินชา และขอให้ตัวเองอยู่รอดปลอดภัยก็พอแล้ว

ในภาพรวมการเกิดพฤติกรรมเรียกรับเงินมันเกิดผลสะท้อนไปที่คุณภาพการศึกษาไทยที่ไม่เท่าเทียมกัน ทำให้ทุกครั้งที่มีการประเมินคุณภาพการศึกษาไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐานมาก หรือที่เรามักได้ยินว่า คุณภาพการศึกษาบ้านเราจะอยู่อันดับบ๊วย เมื่อเปรียบเทียบกับชาติอาเซียน เนื่องจากการคอร์รัปชันเกิดขึ้นทุกระดับในวงการศึกษา ตั้งแต่ระดับโรงเรียนไปจนถึงมหาวิทยาลัย
ปลูกฝังค่านิยมคอร์รัปชัน
          
ขณะที่พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ยังยึดติดกับระบบอภิสิทธิ์ คืออยากให้ลูกของตนได้มี หรือเหนือกว่าคนอื่น ซึ่งพวกเขายินดีที่จ่ายแบบไม่อั้น ซึ่งเราพบการจ่ายเงินในหลายรูปแบบ เช่น โรงเรียนสาธิตชื่อดังทั้งหลาย ซึ่งมีการจองชื่อกันไว้ก่อน ทั้งๆ ที่เด็กยังอยู่ในครรภ์มารดาหรือบางรายพยายามดิ้นรนย้ายชื่อลูกของตนไปยังทะเบียนบ้านที่อยู่ใกล้กับโรงเรียน เพื่อหวังในสิทธิการเป็นนักเรียนโควตาพื้นที่ใกล้โรงเรียน เป็นต้น แม้ได้เข้าเรียนสมใจแล้ว พ่อแม่ก็ยังต้องซื้อของหรือจ่ายเงินให้ครู อาจารย์เพื่อเอาอกเอาใจ
          
"ผมเคยได้ยินมาว่า พ่อแม่ยังต้องเอาใจครูประจำชั้น เพื่อหวังไม่ให้ครูดุลูกของเขามาก หรือต้องส่งลูกไปอยู่กับครูหรือเรียนคอร์สพิเศษกับครู เพราะครูมักจะบอกแนวข้อสอบให้เฉพาะนักเรียนที่เข้าคอร์สพิเศษนั้น"
          
นายมานะ บอกว่าภาพของสังคมออกมาในลักษณะที่พ่อแม่ต้องจำยอมจ่ายเงิน สะท้อนภาพให้เด็กซึมซับกับพฤติกรรมของผู้ใหญ่ จนคุ้นเคยกับการวิ่งเต้นจ่ายเงิน ติดสินบนทำให้เด็กเคยชินกับการจ่ายสินบนที่เกิดขึ้นในสังคมไทย
          
จากสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น จึงทำให้ปัญหาคอร์รัปชันแก้ไขได้ยากมาก จนคนเริ่มรู้สึกว่า โกงไปก็ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน คนจ่ายแป๊ะเจี๊ยะให้ครู จ่ายเงินให้โรงเรียนก็ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนกับใคร เช่นเดียวกับพวกครูที่รับเงินไปก็ไม่คิดว่าใครจะมาเดือดร้อน ทั้งๆ ที่ความเดือดร้อนมันเกิดขึ้นในระยะยาวและส่งผลกระทบต่อคนทั้งประเทศ โดยเฉพาะเด็กที่เรียนดีแต่เป็นลูกคนจนที่จะต้องเสียโอกาส
          
นายมานะ ชี้ว่าการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างองค์กรการบริหาร การจัดการ นโยบายหลักสูตร โดยการเพิ่มโอกาสให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม จะเป็นหนทางแก้ปัญหาระยะยาวของประเทศ หากเราไม่ให้โอกาสที่เสมอภาคกัน ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมก็ยังเกิดขึ้นแรงบีบคั้นของผู้คนในสังคมที่รู้สึกว่าสังคมไม่เป็นธรรมมันก็จะส่งผลให้ปัญหาเดิมวนเวียนอยู่เช่นเดิม
          
"ไม่มีใครอยากจ่ายสินบน แต่ในเมื่อเขาต้องอยู่ในสังคมที่ต้องต่อสู้ใครมีสตางค์ ใครมีเส้นสาย ก็มีโอกาสก่อนดังนั้นพ่อแม่ทั้งหลายจึงพยายามดิ้นรนให้ตัวเองมีทางต่อสู้ และสังคมก็จะบ่มเพาะปัญหานี้ต่อไปไม่จบสิ้น" ชูทฤษฎีความเป็นเจ้าของ

ร.ต.อ.จอมเดช ตรีเมฆ นักวิชาการด้านอาชญวิทยา มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุถึงว่าแป๊ะเจี๊ยะ ก็คือการคอร์รัปชันนั่นเองส่วนที่เรียกกันติดปากว่า "แป๊ะเจี๊ยะ" ก็เป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว มีความหมายได้ว่าเงินกินเปล่าเพื่อแลกกับสิทธิ์บางประการเป็นคำพูดแสดงถึงการยอมรับการคอร์รัปชัน ให้ความรู้สึกว่าเป็นการจ่ายที่ไม่ผิดกฎหมาย

ในช่วงวัยเด็กของหลายๆ คน คงเคยได้ยินพ่อแม่เล่าให้ฟังว่า เคยจ่ายแป๊ะเจี๊ยะเพื่อให้ตัวเองได้เข้าเรียน ซึ่งในตอนนั้นก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อเติบโตและได้รับการศึกษา จึงเข้าใจว่านี่คือการคอร์รัปชันนั่นเอง แต่ภาพรวมของคนไทยทั้งประเทศกลับกลายเป็นว่าการจ่ายแป๊ะเจี๊ยะนี้ได้รับการยอมรับว่าไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งการให้เงินเพื่อแลกสิทธิบางประการ ก็คือเงินสินบนซึ่งไม่ควรมีและไม่ควรเกิดขึ้นในสังคม

ร.ต.อ.จอมเดช เสนอทางออกเพื่อลดการเรียกแป๊ะเจี๊ยะ ด้วยทฤษฎีความเป็นเจ้าของ โดยอธิบายว่าหากใครที่เป็นเจ้าของ หรือ owner ในบริษัท ห้างร้าน หน่วยงาน หรือองค์กรใดๆ ก็จะไม่เรียกเงินแป๊ะเจี๊ยะ เพราะเขาจะไม่ยอมทำอะไรที่ทำให้องค์กรเสียหาย ยกตัวอย่าง มหาวิทยาลัยรังสิตที่มีนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ เป็นผู้บริหารและเจ้าของสถาบัน ซึ่งไม่มีทางที่นายอาทิตย์จะไปเรียกรับแป๊ะเจี๊ยะ นำเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง เพราะเป็นการทำร้ายมหาวิทยาลัยที่ตัวเองเป็นเจ้าของ

ทั้งนี้ แม้ตัวผู้ที่เป็นเจ้าของจะไม่เรียกแป๊ะเจี๊ยะ แต่ก็เป็นไปได้ว่า ลูกจ้าง หรือ ครู อาจารย์ ก็ยังสามารถแอบเรียกรับเงินได้อยู่ดี เช่น คดียักยอกเงินในบัญชีของสถาบันการศึกษาชื่อดังแห่งหนึ่ง ก็เป็นฝีมือผู้อำนวยการกองคลังในสถาบันนั้นหรือการเรียกรับแป๊ะเจี๊ยะ ของผู้อำนวยการโรงเรียน ก็เป็นตำแหน่งหมุนเวียนในระบบราชการ ที่ตัวผู้บริหารไม่มีความรู้สึกร่วมในความเป็นเจ้าของสถาบันปัญหาจึงอยู่ที่จะทำอย่างไรให้พวกเขารู้สึกร่วมว่าเขาในฐานะผู้บริหารก็เป็นส่วนหนึ่งในความเป็นเจ้าของสถาบันแห่งนั้น

ขณะที่โรงเรียนเอกชน ที่ไม่มีการเรียกรับเงินเพิ่ม เพราะเงินที่เรียกเป็นแป๊ะเจี๊ยะมันถูกชาร์จรวมอยู่ในค่าเทอมแล้ว ค่าเทอมของโรงเรียนเอกชนจึงแพง และไม่จำเป็นต้องเรียกรับแป๊ะเจี๊ยะอีก
'สมาคมผู้ปกครอง'ต้องช่วยแก้
          
นายประพันธ์ศิริ สุเสารัจ ประธานสภาคณบดีคณะศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย เชื่อว่า สังคมเองก็รับรู้ถึงการเรียกรับเงินแป๊ะเจี๊ยะที่เกิดกับโรงเรียนชื่อดังหลายแห่งทั้งในกรุงเทพฯ หรือตามหัวเมืองใหญ่ และนี่ก็ไม่ใช่ว่าเพิ่งเกิดครั้งแรก
          
ส่วนเรื่องที่เกิดกับผู้อำนวยการโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ถือเป็นโชคร้ายที่น่าจะมาจากความผิดพลาดในประเด็นในประเด็นหนึ่งของงานบริหารการคัดเลือกนักเรียนเข้าสถาบันแห่งนี้ ทำให้มีการฟ้องร้องกัน

ทั้งนี้ เป็นเรื่องยาก ที่เด็กนักเรียนทุกคนจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ อย่างเท่าเทียม เพราะไทยยังเป็นประเทศยากจน การเก็บภาษีก็ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ขณะเดียวกันรัฐบาลยังจัดให้ประชาชนสามารถเรียนฟรี 15 ปีงบประมาณที่กระจายไปให้แต่ละโรงเรียนไม่อาจทำให้คุณภาพเกิดขึ้นได้อย่างทั่วถึง
          
ในเมื่อไม่มีเก็บค่าเล่าเรียนแล้ว ทำให้โรงเรียนบางแห่งที่ต้องการรักษาคุณภาพไว้ ไม่มีทางเลือก จึงใช้วิธีขอการสนับสนุนการศึกษาจากผู้ปกครองด้วยรูปแบบต่างๆ เช่น จัดซื้ออุปกรณ์การเรียนที่ดีกว่าการได้รับจัดสรรจากงบประมาณ หรือจัดกิจกรรมรูปแบบอื่นๆ ที่ต้องมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น

นอกจากนี้ การวัดผลคุณภาพการศึกษาที่มีมากมายของกระทรวง ทั้งการประเมินแบบภายนอก (อีคิวเอ)-ภายใน (ไอคิวเอ) การทดสอบระดับชาติ (โอ-เน็ต) การทดสอบด้านภาษาตามมาตรฐานซีอีเอฟอาร์ การประเมินระดับนานาชาติ (พีไอเอสเอ) แล้ว พ่อแม่ของเด็กนักเรียนก็ยังคาดหวังให้ลูกตัวเองได้รับการศึกษาที่ดีกว่า และพวกเขาส่วนหนึ่งยินดีสนับสนุน ซึ่งผู้บริหารโรงเรียนหลายแห่งก็มีความตั้งใจที่ดี

"ผมไม่สนับสนุนการคอร์รัปชันหรือการนำเงินสนับสนุนส่วนนี้ที่ต้องนำไปยกระดับการเรียนการสอน กลับนำไปเข้าพกเข้าห่อตัวเอง แทนที่เด็กจะได้รับการศึกษาที่ดีขึ้น ซึ่งการแก้ไขปัญหาอาจใช้กลไกกการมีส่วนร่วม เช่น สมาคมผู้ปกครองของโรงเรียนเข้ามาบริหารจัดการ"