Hot Topic!
ตำรวจไทยมีไว้...
โดย ACT โพสเมื่อ Jun 12,2017
คอลัมน์ มุมกฎหมาย: ตำรวจไทยมีไว้... (องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน)
- - สำนักข่าว โพสต์ทูเดย์ วันที่ 12/06/60 - -
สมผล ตระกูลรุ่ง
ชื่อคอลัมน์ในวันนี้ คงไม่ทำให้บิ๊กตำรวจ ผบ.ตร. อารมณ์ขุ่น ครุ่นคิดไปว่า ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสียหาย หวังว่าท่าน ผบ.ตร.คงไม่ไปแจ้งความกับลูกน้องว่า เป็นการหมิ่นประมาทเหมือนกับกรณีการจัดเสวนาเชิงวิชาการขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ในหัวข้อเรื่อง "ตำรวจไทยมีไว้ทำอะไร" เมื่อปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา
ขอใช้สิทธิลดกึ่งหนึ่งจากท่าน โดยขอสารภาพตามตรงว่า กลัวครับ จะไม่ให้กลัวได้อย่างไร ก็ตำรวจเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย มือขวาถือปืน มือซ้ายถือกฎหมาย เป็นผู้มีอำนาจสืบสวนสอบสวนจับกุม เป็นต้นทางกระบวนการยุติธรรม เป็นผู้ใช้อำนาจในการชี้ถูกชี้ผิด เป็นผู้ทำสำนวนสอบสวน โดยรวบรวมพยานหลักฐานในเบื้องต้น ท่านเป็นผู้ใช้ดุลพินิจคัดเลือกพยานหลักฐานที่จะนำเข้าสู่สำนวน ผู้ต้องหาจะผิดหรือไม่ผิดก็อยู่ที่ดุลพินิจของตำรวจ
และยิ่งเป็นกรณีที่ ผบ.ตร.เบอร์ 1
แห่งปทุมวัน เป็นผู้แจ้งความด้วยตนเอง แจ้งความกับผู้ใต้บังคับบัญชา จะมีลูกน้องคนไหนกล้าทำความเห็นในทิศทางตรงกันข้ามกับผู้บังคับบัญชาสูงสุด ความเป็นอิสระในการทำสำนวนเป็นไปได้อย่างไร
การตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญานั้น ไม่สนุกเลย แม้จะมั่นใจว่าไม่ได้ทำผิด แต่กว่าจะหลุดพ้นคดีได้เด็ดขาดก็ต้องรอชั้นศาล ผ่านกระบวนการสอบสวน ตกเป็นผู้ต้องหาเป็นจำเลยเป็นเวลาหลายปี ดูตัวอย่างคดีหมิ่นประมาทจากการเสวนา เท่าที่ติดตามจากข่าว ยังอยู่ระหว่างสอบสวน ทั้งๆ ที่คดีนี้มีประเด็นเพียงข้อความที่ปรากฏ เป็นการหมิ่นประมาทหรือไม่เท่านั้น ด้วยกระบวนการสอบสวนที่ใช้เวลานานอย่างนี้ จึงไม่มีใครอยากจะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ต้องหาจากตำรวจ
ต้องยอมรับว่าตำรวจมีทั้งดีและเลว ซึ่งเป็นเหมือนกันในทุกองค์กร ขึ้นอยู่กับว่าจะมีคนดีมากกว่าคนเลวหรือคนเลวมากกว่าคนดี แต่เนื่องจากงานของตำรวจต้องใกล้ชิดติดต่อกับประชาชน จึงเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก เพราะตำรวจให้ทั้งคุณและโทษกับประชาชนโดยตรง
การวิพากษ์วิจารณ์ตำรวจหรือหน่วยงานใดก็ตาม จึงมักจะหยิบยกเอาเรื่องไม่ดีมาเป็นข่าว ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการขายข่าว และโดยเหตุผลแล้ว การทำหน้าที่ถูกต้องตรงไปตรงมา ย่อมเป็นมาตรฐานที่ต้องทำอยู่แล้ว เมื่อทำหน้าที่ตรงไปตรงมาจึงเป็นเรื่องปกติ เป็นสิ่งที่ประชาชนคาดหวังว่าจะได้รับจากตำรวจ ฉะนั้น การทำงานต่ำกว่ามาตรฐานจึงย่อมเป็นเรื่องที่สังคมไม่ยอมรับ ทำให้ตำรวจถูกขุดคุ้ยถูกหยิบยกเรื่องไม่ดีออกตีแผ่เป็นประจำ
หากยอมรับความจริงอย่างนี้ได้ ตำรวจที่ดีทุกท่านไม่ควรเสียกำลังใจ เพราะสิ่งที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้กล่าวตำหนิท่าน หากท่านเป็นตำรวจที่ดีใครมากล่าวหาตำรวจว่าไม่ดีย่อมไม่ใช่หมายถึงท่าน แต่ถ้าเผื่อท่านไม่ดีจริง ท่านก็ควรต้องขอบคุณคนที่วิพากษ์วิจารณ์ ไม่ควรไปโกรธเขาเพราะเขา พูดความจริง ควรต้องขอบคุณเขาที่เป็นกระจกเงาสะท้อนให้เห็นภาพ แห่งความเป็นจริง
การตอบโต้ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งความกรณีการเสวนา
เมื่อต้นเดือน ม.ค. หรือการแถลงข่าวตอบโต้ ไม่ได้ทำให้ภาพลักษณ์ของตำรวจดีขึ้น และหากคิดว่าเป็นการปรามหรือข่มขู่ไม่ให้คนอื่นวิพากษ์วิจารณ์ตำรวจ ก็คงจะไม่ได้ผล และในมุมกลับยิ่งจะทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักขึ้นไปอีก วิธีการตอบโต้ที่ดีที่สุดก็คือ การปฏิบัติ การปรับปรุงแก้ไขจุดอ่อนของตำรวจ ปฏิบัติหน้าที่ตรงไปตรงมาด้วยความเป็นธรรม ปฏิบัติหน้าที่เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชน
ตำรวจที่ปฏิบัติดี สังคมก็ชมเชย ตำรวจใช้เวลานอกเวลาราชการไปร้องเพลงเปิดหมวกหาเงินทุนซื้อหมวกกัน น็อกให้เด็ก หรือตำรวจเล่นดนตรีหาทุนช่วยน้ำท่วม หรือตำรวจใช้เวลาเลิกงานขับแท็กซี่ ขายกล้วยทอด หาเงินด้วยวิธีการสุจริต สังคมก็ยกย่องชมเชย
การปฏิบัติตามหน้าที่จึงเป็นการชี้แจงประชาสัมพันธ์ที่ดีที่สุด ดีกว่าการนั่งแถลงข่าวตอบโต้ ดีกว่าการไปแจ้งความดำเนินคดีกับผู้วิพากษ์วิจารณ์
ตัวอย่างของการปฏิบัติที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เมื่อเร็วๆ นี้ คือคดีเปรี้ยวหั่นศพ คดีนี้เป็นข่าวใหญ่ครึกโครม สื่อมวลชนเองก็บ้า ปลุก
กระแสข่าวให้ครึกโครมเหมือนผู้กระทำผิดเป็นฮีโร่ คดีนี้แม้จะเป็นคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ แต่ก็เป็นคดีธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ และคดีนี้ก็ไม่ใช่คดีแรกและคงไม่ใช่คดีสุดท้าย ตามข่าว ผู้ต้องหาถูกกดดันหนัก จึงขอมอบตัวกับทางการเมียนมา เมื่อนำตัวมาส่งให้ทางการไทย วิธีที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อผู้ต้องหาคดีอุกฉกรรจ์เป็นไปอย่างชื่นมื่น เหมือนเป็นดาราที่เจ้าหน้าที่ไปถ่ายรูปคู่กับผู้ต้องหา จนทนการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ไหว ถูกโยกย้ายไปตามกระแส
การปฏิบัติที่ขัดหูขัดตาผิดแผกจากคดีทั่วไปอีกอย่างคือ การนำผู้ต้องหาขึ้นเครื่องบินของทางราชการเข้ามาให้ ผบ.ตร.สอบปากคำ ทำข่าวใหญ่โต มีคำถามมากมายว่า คดีในลักษณะเดียวกันนี้ต้องนำตัวมาให้ ผบ.ตร.สอบให้เป็นข่าวทุกคดีเลยหรือ การนำเครื่องบินของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปรับตัวมาที่กรุงเทพฯ และนำตัวกลับไปขอนแก่น เพื่อประโยชน์ในทางคดีอย่างไร นอกเหนือจากการเป็นข่าวแล้ว และการใช้เครื่องบินมีค่าใช้จ่ายไม่ใช่น้อย น่าจะหลายแสนบาท
บันทึกการจับกุม เป็นสิ่งที่สังคมตั้งคำถามว่า ทำไมเป็นบันทึกจับกุม เพราะผู้ต้องหามอบตัว ประเด็นที่สอง ตำรวจที่มีชื่อในบันทึกการจับกุมมีกว่า 90 นาย ไล่ตั้งแต่เบอร์ 1 ปทุมวัน รวมไปถึงหน่วยงานอื่น จึงมีคำถามมากมายว่า ผู้ต้องหาขอมอบตัวอย่างนี้ ทำไม
ต้องใช้กำลังคนเกือบร้อยในการจับกุม คนที่มีรายชื่อได้ร่วมจับกุมจริงๆ หรือ รายชื่อตำรวจในบันทึกจับกุมได้รับผลประโยชน์อะไรหรือไม่ ในทุกคดีทำกันอย่างนี้หรือเปล่า
แทนการอธิบายไขข้อสงสัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติตอบโต้ว่า เป็นเรื่องปกติ ไม่ถือว่าเยอะ และตำรวจที่มีชื่อก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร การชี้แจงอย่างนี้ ไม่ได้ตอบคำถามว่า ตำรวจผู้ใหญ่ได้ร่วมจับกุมจริงหรือไม่ อย่างไร และยิ่งทำให้สงสัยหนักไปอีกว่า ถ้าไม่ได้รับประโยชน์อะไร แล้วใส่ชื่อไปทำไมตั้งเยอะแยะ บันทึกการจับกุมน่าจะเป็นการบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะจับกุม มีเจ้าหน้าที่อยู่ในเหตุการณ์กี่นาย มีข้อเท็จจริงอะไรบ้างที่เกิดในขณะจับกุม ไม่ใช่ไปเอารายชื่อของผู้บังคับบัญชาที่สั่งการมาร่วมจับกุมด้วย ทำเหมือนกรมศุลกากรที่ใส่ชื่อเจ้านายเพื่อจะได้มีส่วนแบ่งรางวัลนำจับ
ถ้าแน่จริง ทำไมตามจับธัมมชัยโยไม่ได้ รายนี้สายข่าวยืนยันว่า หลบหนีหมายจับอยู่ในประเทศ ไม่ได้หนีไปต่างประเทศ ตำรวจเองก็มีหมายจับหลายคดี แต่กลับปล่อยให้ DSI ติดตามค้นหาตามลำพัง ไม่เห็นมีข่าวตำรวจระดมกำลังกันติดตามจับตัว แสดงฝีมือให้เหมือนคดีเปรี้ยวหั่นศพบ้างปะไร
เห็นข่าวอย่างนี้แล้ว ท่านผู้อ่านคงเติมคำในช่องว่างที่ชื่อคอลัมน์ได้ว่า ตำรวจไทยมีไว้ทำอะไร