Hot Topic!

'วิชา'ชี้รัฐบาลตั้งใจแก้ทุจริต

โดย ACT โพสเมื่อ May 30,2017

- -สำนักข่าว สยามรัฐ วันที่ 30 พฤษภาคม 2560 - -
          
กทม. - นายวิชา มหาคุณ ประธานมูลนิธิต่อต้านการทุจริต และอดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงภาพรวมการทำงานของรัฐบาลในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตว่าเห็นถึงความตั้งใจจริงที่จะเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ ซึ่งเห็นได้จากการให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นแนวทางการต่อต้านการทุจริตไว้ชัดเจน มีความพยายามหลายส่วนที่จะสกัดกั้นการทุจริตไม่ว่าจะเป็นในส่วนราชการ ส่วนการเมือง เป็นต้นและยังมีการดำเนินการในการออกกฎหมายหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) จัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐ และการสนับสนุนให้มีการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ อีกทั้งตอนนี้มีการร่างกฎหมาย ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับองค์กรอิสระต่างๆ ถือว่ามีเจตนารมณ์ที่ชัดเจน
          
นายวิชา กล่าวอีกว่า ในส่วนของมูลนิธิต่อต้านการทุจริตของเรานั้นได้มีส่วนช่วยรัฐบาลในการทำงานด้านนี้ตามที่ได้กล่าวว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง และได้วางหลักเกณฑ์ว่าให้การสนับสนุนทางภาคประชาชนในการที่จะเผยแพร่ความรู้ ข่าวสารที่จะคุ้มครองประชาชนที่จะให้เบาะแส ข้อมูล ทำให้การทำงานของเราสะดวกขึ้น และมีภาพชัดเจนไม่ใช่ว่าจะอยู่โดดเดี่ยวอีกต่อไปซึ่งในรัฐธรรมนูญมาตรา 63 ระบุว่ารัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน และจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบดังกล่าวอย่างเข้ม งวดรวมทั้งกลไกในการส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแส โดยได้รับความคุ้มครองจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ ฉะนั้นเมื่อเป็นเช่นนี้มูลนิธิเราก็ทำงานได้สะดวกขึ้น
          
นายวิชา กล่าวต่อว่า ในขณะนี้มูลนิธิของเราทำงานอย่างเต็มที่มีทั้งในส่วนภาคประชาชน และองค์กรรัฐวิสาหกิจ เอกชน เต็มที่กับเราเข้ามาร่วมด้วยช่วยกันทำให้การทำงานนั้นเป็นไปได้ด้วยดี แต่การร่วมมืออย่างนี้คงต้องมีให้มากขึ้นโดยเฉพาะในระดับล่างภาคประชาชนที่ได้ประสบกับการถูกทุจริตมานั้นเราต้องช่วยเหลือให้เขาได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่ แต่เรื่องการร้องเรียนเราไม่อยากไปกระตุ้นมากนัก เพราะเมื่อเขามาร้องเรียนกับเราแล้วเราต้องมีกลไกในการคุ้มครองเขา ฉะนั้น ถ้ามีกฎหมายที่ออกมาสอดคล้องกับมาตรา 63 มีการกำหนดกลไกต่างๆ ให้มีความชัดเจนมากขึ้นดังนั้นในตอนนี้มูลนิธิเราจะเน้นเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ความรู้การต่อต้านการทุจริต เช่น วิธีการจับเท็จจับโกหกเป็นอย่างไร แต่ถ้ามีการร้องเรียนมาเราก็จะประสานเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตเช่น ป.ป.ช. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) หรือภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน โดยทางมูลนิธิต่อต้านการทุจริตเราได้มีโอกาสเชื่อมโยงทำข้อตกลงการต่อต้านการทุจริตกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งในวันที่ 27 มิ.ย. เราจะเดินทางไปทำข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยต่างของภาคอีสาน ซึ่งจังหวัดขอนแก่นเป็นเจ้าภาพในการจัดครั้งนี้