Hot Topic!
'ที่ดิน' ธรรมกายกับดักพลังศรัทธา
โดย ACT โพสเมื่อ May 22,2017
กลายเป็นประเด็น ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ สะเทือนวงการอสังหาริมทรัพย์ เมื่อ "ดีเอสไอ-กรมสอบสวนคดีพิเศษ" ออกหมายเรียก "อนันต์ อัศวโภคิน" บอสใหญ่ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เข้ารับทราบ "ข้อกล่าวหา" ร่วมฟอกเงิน ในวันที่ 7 มิ.ย.นี้ จากคดีทุจริตสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่เกี่ยวพันและโยงใยไปถึง "ที่ดิน" วัดธรรมกาย
หลังตรวจสอบพบนำเงินจากสหกรณ์ไปซื้อที่ดินคลองหลวง โดย "ศุภชัย ศรีศุภอักษร" อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น นำเงิน 275 ล้านบาท เข้าเทกโอเวอร์ "บริษัท เอ็ม-โฮม เอสพีวี 2 จำกัด" เจ้าของ ตลาดไทเดิม ซึ่งมีทรัพย์สินบางส่วนเป็นที่ดินอยู่คลองหลวง จ.ปทุมธานี นับพันไร่
ต่อมาปี 2554 มีการนำที่ 46 ไร่ ไปขายต่อ เพื่อชำระหนี้ โดยขายให้ "อนันต์" ราคา 93.7 ล้านบาท ต่ำกว่า ราคาประเมิน ซึ่งอยู่ที่ 281 ล้านบาท ถึง 3 เท่า
ขณะเดียวกัน "อนันต์" ขายต่อให้กับ "ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์" เจ้าของตลาดไทในปัจจุบัน ในราคา 492 ล้านบาท พร้อมนำเงินที่ได้จากการขาย 303 ล้านบาท บริจาคให้ "มูลนิธิคุณยาย จันทร์ ขนนกยูง" มี "พระธัมมชโย" อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายเป็นองค์อุปถัมภ์
สุดท้าย "บทสรุป" จะออกหัว ออกก้อย ไม่มีใครตอบได้ ต้องรอดูเท่านั้น
แต่จากข่าวที่ปรากฏ กลายเป็น "แรงกระเพื่อม" ที่สร้างความหวั่นไหวแก่ธุรกิจในเครือ "แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์" ไม่มากก็น้อย
ไม่ใช่แค่หุ้น LH ตกฮวบเท่านั้น แต่ราคาหุ้น 4 บริษัทในกลุ่มแลนด์ฯ ร่วงแรงกันหมด (18 พ.ค. 60) เช่น LH ที่อนันต์ถือ 23.99% ราคาอ่อนตัวลงปิดที่ 9.55 บาท ลดจากวันที่ 17 พ.ค. ที่ดีเอสไอ ออกหมายเรียก ซึ่งราคาอยู่ที่ 9.95 บาท
ส่วน บมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์ (QH) ราคาปิดที่ 2.42 บาท จาก 2.44 บาท บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) ราคาปิดอยู่ที่ 9.40 บาท จาก 9.50 บาท และ บมจ.แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHBANK) ราคาปิดอยู่ที่ 1.73 บาท จาก 1.76 บาท ซึ่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็เกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
"ปริย เตชะมวลไววิทย์" ฝ่ายสื่อสารองค์กรและส่งเสริมความรู้ผู้ลงทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า จากกรณีนี้จะมีส่วนเกี่ยวกับ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือไม่นั้น ก.ล.ต.กำลังติดตามความคืบหน้า ยังไม่สามารถชี้ได้ จะมีส่วนใดที่กระทบต่อกฎเกณฑ์ตามกฎหมายหลักทรัพย์
อย่างไรก็ดี ตามหลักเกณฑ์ ก.ล.ต. ในเรื่องการดำรงคุณสมบัติการเป็น ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนนั้น ในกรณีที่เป็นผลสืบเนื่องจากการกระทำผิดตามกฎหมายอื่น การขาดคุณสมบัติจะเกิดขึ้นเมื่อเข้ากรณีใดใน 2 กรณีนี้ คือ 1.ถูกศาลพิพากษามีคำสั่งถึงที่สุดให้ยึดทรัพย์ตามกฎหมายฟอกเงิน หรือ 2.ถูกห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารตามกฎหมายว่าด้วยการกำกับดูแลสถาบันการเงิน
และยังมีนักกฎหมายการเงินออกมาระบุว่า "บิ๊กแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์" อาจจะขาดคุณสมบัติการเป็นกรรมการและผู้บริหารของสถาบันการเงินในทันที หากมีคำพิพากษาถึงที่สุด
"รณฤต สารินทร์วงศ์" กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี กล่าวว่า กรณีของคุณอนันต์ ส่วนตัวมองว่าไม่น่าจะกระทบต่อตัวบริษัท และธุรกิจในกลุ่มแลนด์ฯ เพราะเป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่น่าจะส่งผลไปถึงขั้นการยึดทรัพย์ หรือกระทบต่อทรัพย์สินของบริษัท
"เรื่องนี้กระทบแค่ตัวบุคคลคือคุณอนันต์เท่านั้น โดยนักลงทุนอาจจะกังวลว่า สถานภาพการเป็นผู้บริหารจะเป็นอย่างไร คุณอนันต์จะขายหุ้นทิ้งหรือไม่มากกว่า" รณฤตกล่าวถามว่า จากปมที่ดินวัดธรรมกายจะกลายเป็น "บูมเมอแรง" ต่ออาณาจักรแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ หรือไม่
"ประชาชาติธุรกิจ" ได้สอบถามไปยังผู้บริหาร บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ต่างให้คำตอบสั้น ๆ เพียงว่า "ข่าวที่เกิดขึ้น ถือเป็นเรื่องส่วนตัวของคุณอนันต์ ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มบริษัท"
ซึ่งกลุ่มลูกค้า นักลงทุน และผู้ถือหุ้น ต่างก็ทราบมาโดยตลอด จึงไม่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่น
"คุณอนันต์ยืนยันว่า เขาบริจาคให้หลวงพ่อ เพราะมีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา และเขาไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับคุณศุภชัยใด ๆ ทั้งสิ้น"
"ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" กรรมการผู้จัดการ บมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์ กล่าวย้ำว่า เท่าที่ฟังจากข่าวเป็นเรื่องส่วนตัวของคุณอนันต์ที่ศรัทธาในเรื่องการทำบุญ ไม่เกี่ยวกับแลนด์ฯ และในเครือ เพราะบริษัทมีคณะกรรมการและตลาดหลักทรัพย์ฯที่คอยกำกับดูแลอยู่แล้ว
"ที่ผ่านมาเวลามีประชุมบริษัท คุณอนันต์ก็เข้าประชุมเดือนละ 1-2 ครั้ง และเดินสายอบรมให้ความรู้เรื่องเรียลเอสเตทแก่นักธุรกิจใหม่ ๆ เรื่องนี้จึงไม่มีผลต่อบริษัท ทุกอย่างยังเหมือนเดิม เรายังเดินหน้าพัฒนาโครงการคุณภาพต่อไป แล้วความเชื่อมั่นของลูกค้าต่อบริษัทนั้น เป็นเรื่องของคุณภาพและบริการมากกว่าที่จะเป็นบทพิสูจน์"
คอลัมน์ ฝั่งขวาเจ้าพระยา: อนันต์ อัศวโภคิน บนเส้นทางฟอกเงินธรรมกาย - ผู้จัดการสุดสัปดาห์ 360 องศา ฉบับวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2560
โชกุน
ไม่น่าเชื่อว่า มหาเศรษฐี อันดับต้นๆของประเทศไทย นักธุรกิจใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ อย่าง นายอนันต์ อัศวโภคิน จะตกเป็นผู้ต้องหา คดีสมคบกันและร่วมกันฟอกเงิน ตามมาตรา 5 และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายอนันต์ นั้น เป็นศิษย์เอกของธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ซึ่งทั้งอาจารย์ และลูกศิษย์ ต่างถูกตั้งข้อหาสมคบกันฟอกเงิน ที่ลูกศิษย์อีกคนหนึ่งคือ นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อาศัยตำแหน่งประธานคณะกรรมการ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ฉ้อโกง ยักยอกเงินฝากของสมาชิก กว่า 13,000 ล้านบาท
ปัจจุบันนายศุภชัย ถูกจำคุกอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่ต้นปี 2558 เพราะมีคดีต่างๆ ทั้งที่อยู่ในศาล และกำลังส่งฟ้องศาลหลายคดี บางคดีศาลชั้นต้น ตัดสินแล้วว่ามีความผิด ถูกลงโทษจำคุก 16 ปี โดยไม่รอลงอาญา และศาลไม่ให้ประกันตัว
เงิน 13,000 ล้านบาท ที่นายศุกชัยขโมยจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ถูกกระจายออกไปให้บุคคลต่างๆ หลายๆ คน อยู่ในอาณาจักรธรรมกาย รวมทั้งธัมมชโย ซึ่งได้รับเช็คมูลค่า 1 พันกว่าล้านบาท และถูกตั้งข้อหาร่วมรับของโจรและร่วมกันฟอกเงิน แต่หลบหนีคดี จนกระทั่งบัดนี้
ในกรณีของนายอนันต์ ตามเอกสารแถลงข่าว เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ สรุปได้ว่า นายอนันต์เป็นคนกลาง รับซื้อที่ดินที่นายศุภชัยเอาเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นมาซื้อ แต่ดีเอสไอมีหลักฐานที่เชื่อว่าไม่มีการซื้อขายที่ดินจริง จนนำมาสู่การตั้งข้อหานายอนันต์ว่า สมคบกันและร่วมกันฟอกเงิน
ข้อมูลตามเอกสารดีเอสไอ ฉายภาพการทำงาน ของขบวนการฟอกเงินว่า นายศุภชัยได้สั่งจ่ายเช็คหลาย ฉบับจำนวนรวมประมาณ 275 ล้านบาท เพื่อซื้อหุ้นของบริษัท เอ็ม-โฮม เอสพีวี 2 จำกัด และซื้อที่ดินของบริษัท 3 แปลง ตามโฉนดเลขที่ 31344 เนื้อที่ 46 ไร่ 3 งาน 56.2 ตารางวา ตั้งอยู่ที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี บริเวณใกล้เคียงวัดพระธรรมกาย โดยซื้อในนามสหกรณ์เครดิต ยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด และนายศุภชัย ได้ส่งคนของตนเองไปเป็นกรรมการบริษัทดังกล่าว
ต่อมาวันที่ 21 ธันวาคม 2554 คณะกรรมการ บริษัทฯ ได้มีมติให้นำที่ดิน 3 แปลงนี้ ขายให้นายอนันต์ เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ ซึ่งได้ทำสัญญาซื้อขาย ณ สำนักงานที่ดินอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2554 ภายหลังจากที่คณะกรรมการมีมติเพียง 2 วัน ในราคาไร่ละ 2 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 93,781,000 บาท ซึ่งราคาประเมินที่ดินขณะนั้นราคาตารางวาละ 15,000 บาท คิดเป็นราคาที่ดินประมาณ 281 ล้านบาท มีความแตกต่างและต่ำกว่าราคาประเมินถึง 3 เท่า และไม่ปรากฏหลักฐานการจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้บริษัท เอ็ม-โฮม เอสพีวี 2 จำกัด แต่อย่างใด
ต่อมานายอนันต์ได้ขายที่ดินแปลงนี้ต่อให้บุคคลอื่นในราคา 492 ล้านบาทเศษ โดยนายอนันต์ได้นำเงินที่ได้จากการขาย จำนวนประมาณ 303 ล้านบาท บริจาคให้กับมูลนิธิคุณยายจันทร์ ขนนกยูง ซึ่งมีพระธัมมชโย เป็นองค์อุปถัมภ์ ซึ่งมูลนิธิดังกล่าวเป็นผู้รับผิดชอบในการก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ในบริเวณมูลนิธิวัดพระธรรมกาย รวมถึงอาคารบุญรักษาด้วย
นอกจากนั้น คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษยังพบหลักฐานสำคัญ ว่า ในวันเดียวกับที่นายอนันต์ไปทำสัญญาซื้อขายที่ดิน ที่ สำนักงานที่ดิน อำเภอคลองหลวง นายศุภชัย ได้ทำหนังสือแสดงเจตนาถวายที่ดินทั้ง 3 แปลงเดียวกันนี้ ให้กับพระธัมมชโย โดยนายศุภชัย จะเป็นผู้จัดซื้อที่ดินทั้งสามแปลงเอง และถวายให้พระ ธัมมชโย โดยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในนามนายอนันต์ อัศวโภคิน ซึ่งพระธัมมชโยมอบหมายให้เป็น ผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน แต่ในหนังสือถวายที่ดินนั้น นายศุภชัยไม่ได้ลงชื่อ และไม่มีการดำเนินการใดๆ ตามหนังสือฉบับดังกล่าว มีแต่การขายที่ดินให้กับนายอนันต์
ดีเอสไอ จึงเห็นว่าตามพยานหลักฐานดังกล่าว อาจเข้าข่ายสมคบกันร่วมกันฟอกเงิน
แม้ดีเอสไอจะไม่ได้สรุปให้เห็นภาพชัดๆว่า อะไรเป็นอะไร แต่จากข้อมูลที่กล่าวมา นี่คือการ ยักยอกที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพย์สินของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ไปให้ธัมมชโย โดยจัดฉากว่า มีการซื้อขายที่ดิน ซึ่งความจริงไม่มีการซื้อขายกันจริง โดยนายอนันต์ เป็นผู้ร่วมในกระบวนการแปลงกรรมสิทธิ์ที่ดินของสหกรณ์เครดิต ยูเนี่ยนคลองจั่น ให้ตกเป็นของธัมมชโยฟรีๆ
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมนี้เอง ลูกสาว นายอนันต์ นางสาวอลิสา อัศวโภคิน ถูกสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน อายัดที่ดิน 8 แปลง ที่รับซื้อมาจากนายศุภชัย และมอบที่ดินให้ มูลนิธิอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ใช้ประโยชน์เป็นที่ตั้งอาคารบุญรักษา โดยให้เวลา 90 วัน ชี้แจงที่มาที่ไปของที่ดินทั้ง 8 แปลง
การสืบสวนของดีเอสไอ ยังพบว่านายอนันต์ ถือครองที่ดินแทนธัมมชโยอีกเป็นจำนวนมาก รอบๆ วัดพระธรรมกายไปจนถึงตลาดไท เงินที่นำมาซื้อที่ดิน นอก จากเป็นเงินที่ได้จากการขายบุญแล้ว ไม่รู้ว่า เป็นเงินที่ยักยอกมา และถูกนำมาแปลงสภาพให้เป็นที่ดินหรือไม่
การดำเนินคดี กับนายอนันต์ ในข้อหาสมคบกันและร่วมกันฟอกเงิน เพิ่งจะเริ่มต้น นายอนันต์ต้อง ไปมอบตัว รับทราบข้อกล่าวหา หลังจากนั้น ต้องผ่านกระบวนการสอบสวน ส่งฟ้อง และสู้คดีในศาล กว่าคดีจะถึงที่สุด คงนานหลายปี
ตอนนี้ นายอนันต์ ยังเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่นายอนันต์ยังมีสถานะเป็นประธานกรรมการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ถึง 3 บริษัท หนึ่งในนั้น เป็นสถาบันการเงิน การถูกตั้งข้อหาฟอกเงินที่เกี่ยวเนื่องกับคดีฉ้อโกง ในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ซึ่งเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่ร้ายแรงที่สุดคดีหนึ่งในประวัติศาสตร์ ย่อมต้องส่งผลสะเทือนต่อหลักการธรรมาภิบาล ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง หากแต่ทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ และธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่มีท่าทีใดๆ ออกมา ด้วยข้ออ้างเพียงว่า คดียังไม่สิ้นสุด
- -สำนักข่าว ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 22 พฤษภามคม 2560 - -