Hot Topic!

กทม. ชี้แจง TOR ป้ายอัจฉริยะ

โดย ACT โพสเมื่อ May 16,2017

          จากกรณีกรุงเทพมหานคร(กทม.)เตรียมยกเครื่องปรับปรุง ป้ายจราจรอัจฉริยะ ที่ติดตั้งอยู่บนถนนสายหลักๆ 40 จุดให้ทันสมัยและแม่นยำกว่าเดิม หลังสิ้นสุดสัญญาในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยป้ายจะปรับให้มีขนาดใหญ่ขึ้น แสดงภาพการจราจรเคลื่อนไหวแบบเรียลไทม์ เพิ่มข้อมูลข่าวสารและสภาพภูมิอากาศในแต่ละวัน พร้อมเพิ่มจุดติดตั้งขึ้นมาอีก 10 จุดรวมเป็น 50 จุด โดยภายหลังมีการตั้งข้อสงสัยถึงความโปร่งใส TOR  ในการประมูลงานครั้งนี้
          ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม  พล.ต.ท. อำนวย นิ่มมะโน รองผู้ว่าฯกทม.เปิดเผยว่า ป้ายจราจรอัจฉริยะรูปแบบใหม่ จะช่วยให้ข้อมูลการจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพประชาชนจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องแบบเรียลไทม์สามารถหลบเลี่ยงและวางแผนการเดินทางล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ ซึ่งการควบคุมมาจากซอฟแวร์ที่ทันสมัยผู้ชนะการประมูลต้องมีการอัพเกรดอย่างต่อเนื่อง การเชื่อมต่อสัญญาณจะเป็นแบบสายไฟเบอร์ซึ่งจะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น การควบคุมป้ายจราจร มาจากซอฟแวร์อัตโนมัติ ที่ประเมินเส้นทางจากการมอนิเตอร์วงจรปิด 10 ตัวก็จะได้ข้อมูลจราจรในช่วงนั้นๆ
          
ส่วนข้อสงสัยในร่าง TOR ที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ประสงค์จะเสนอราคาที่ว่า   ผู้ประสงค์จะเสนอราคาต้องเป็นนิติบุคคล หรือกลุ่มนิติบุคคล ที่จดทะเบียนในประเทศไทยที่มีประสบการณ์ มีผลงานทางด้านงานติดตั้งป้ายปรับเปลี่ยนข้อความ(VMS) ในสัญญาเดียววงเงินไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท ซึ่งเป็นการล็อคสเปคและเอื้อประโยชน์ให้เอกชนไม่เกิน 5 ราย นั้น ไม่มีมูลความจริง เนื่องจากการดำเนินงานตามโครงการฯ ผู้ได้รับสิทธิ จะต้องใช้งบประมาณหลายร้อยล้านบาท   การกำหนดวงเงินในสัญญาจำนวนดังกล่าวถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับวงเงินที่จะต้องลงทุนในโครงการ  เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้เข้าร่วมเสนอราคาควรมีประสบการณ์ในการทำงาน สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำเร็จตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการ และเป็นการหลีกเลี่ยงมิให้ผู้ได้รับสิทธิให้เช่าช่วงสิทธิแก่บุคคลอื่น และขอยืนยันว่าคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้าเสนอราคาดังกล่าวเป็นการเปิดโอกาสให้เอกชนจำนวนมาก มีสิทธิเข้าร่วมเสนอราคาในครั้งนี้
          
"สำหรับ TOR  ที่ต้องแก้ไขหลายครั้ง เพื่อคำนึงถึงความโปร่งใส โดยในร่างเดิมได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ประสงค์จะเสนอราคาว่า ควรต้องมีผลด้านศูนย์ระบบควบคุมป้ายไว้ด้วยซึ่งภายหลังได้มีการแก้ไขและตัดออกไปจากร่าง TOR  คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า การกำหนดผลงานด้านศูนย์ระบบควบคุมป้ายจะทำให้มีเอกชนเพียงไม่กี่รายที่มีผลงานดังกล่าวที่มีสิทธิเข้าร่วมเสนอราคา  เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริหารของกรุงเทพมหานคร มีนโยบายที่โปร่งใสเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการดังกล่าว"
         
ทั้งนี้กทม. ยังระบุอีกว่า โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อประโยชน์สาธารณะ คือ การรายงานสภาพจราจร ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการโดยให้สิทธิเอกชนหารายได้จากการขายพื้นที่โฆษณา ดังนั้นคุณสมบัติเรื่องประสบการณ์การติดตั้งป้ายรายงานสภาพจราจรของเข้าร่วมเสนอราคาจึงเป็นเรื่องสำคัญกว่าการบริหารพื้นที่โฆษณา และควรเป็นผู้ที่มีความน่าเชื่อถือ  ไม่ควรปล่อยให้ผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ในการทำงานด้านดังกล่าวเข้าร่วมเสนอราคาอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายได้
          
ส่วนข้อสงสัยในร่าง TOR เกี่ยวกับคุณสมบัติของระบบและวัสดุอุปกรณ์ว่าเป็นรุ่นที่ล้าสมัย จำหน่ายในช่วงปี 2548 หรือ 12 ปีที่แล้ว นั้น ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับระบบและวัสดุอุปกรณ์ ทางด้านนี้  มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การกำหนดคุณสมบัติของระบบและวัสดุอุปกรณ์ในร่าง TOR กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นคุณสมบัติขั้นต่ำซึ่งเป็นไปตามระเบียบของกระทรวงICT
          
การพิจารณาคัดเลือกคุณสมบัติของระบบอุปกรณ์ก็ต้องพิจารณาจากผู้ที่เสนอคุณสมบัติของอุปกรณ์ที่ดีกว่า เป็นปัจจัยสำคัญ มิใช่หมายความว่าต้องเป็นอุปกรณ์รุ่นที่ระบุไว้  ดังนั้นผู้ที่ประสงค์จะร่วมเสนอราคาและได้รับสิทธิเป็นคู่สัญญาต้องเสนอเทคโนโลยีที่ดีที่สุด  เพราะการให้คะแนนด้านเทคนิคได้กำหนดไว้ใน TOR  เป็นการแสดงถึงขีดความสามารถของระบบรายงานสภาพจราจรเป็นสำคัญ
          
ระบบเครือข่ายสื่อสาร จากเดิมใช้ ADSL เปลี่ยนเป็น Fiber Optic ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีการรับส่งข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และทันสมัยที่สุดในเวลานี้เพื่อให้การรายงานสภาพจราจรเป็นแบบประมวลผลเวลาจริง( Real time) อีกทั้งพิสูจน์ได้ว่า สามารถรองรับเทคโนโลยีที่อาจพัฒนาให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งปัจจุบันในมหานคร New York ,ลอนดอน หรือโตเกียว ก็ใช้ Fiber Optic เป็นเทคโนโลยีในป้ายรายงานสภาพจราจร
          
นอกจากนี้ร่าง  TOR  ยังกำหนดไว้ว่า  ผู้รับสิทธิจะต้องมีการพัฒนาปรับปรุงระบบป้ายจราจรอัจฉริยะ อย่างน้อยทุก  3  ปี เพื่อให้ระบบมีความทันสมัยและสอดคล้องกับเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยผู้รับสิทธิต้องเสนอแผนการปรับปรุงระบบป้ายจราจรอัจฉริยะ ให้กรุงเทพมหานครเห็นชอบก่อนการพิจารณาต่ออายุสัญญา ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการปรับปรุงระบบดังกล่าว ผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด  หากผู้รับสิทธิไม่เสนอแผนการปรับปรุงก็จะไม่ได้รับสิทธิในการต่อสัญญาซึ่งเป็นการรับประกันว่าทาง กทม.จะต้องมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากยิ่งขึ้น
          
ด้าน นายวิลาส จันทร์พิทักษ์ อดีตประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)กล่าวว่า โครงการนี้เกิดขึ้นในสมัยที่นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่า กทม.ซึ่งถือว่าเป็นโครงการที่ดีมากประชาชนได้รับประโยชน์ เท่าที่ได้อ่านร่าง TOR โครงการใหม่ในเบื้องต้นยังไม่พบความผิดสังเกตว่าจะมีการล็อคสเปค แต่ก็ไม่ต้องกังวลตนจะจับตาดูโครงการนี้อย่างใกล้ชิด

- - สำนักข่าว พิมพ์ไทย วันที่ 16 พฤษภาคม 2560 - -