Article

Big Data กำจัดคอร์รัปชันอย่างไร

โดย ACT โพสเมื่อ May 09,2017

Big Data กำจัด คอร์รัปชัน อย่างไร

สังคมไทยในปัจจุบันเป็นสังคมของข้อมูลข่าวสาร มีข้อมูลมากมายที่สามารถนำมาให้ให้เกิดประโยชน์ได้มหาศาล ที่เรียกว่า Big Data 

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) ขอรวบรวมความหมายและประโยชน์ของ Big Data จากบทความ นักวิชาการ และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาไว้ ณ ที่นี้

ความหมายของ Big Data
Big Data นั้น ถ้าจะแปลจากความหมายตรงตัวจากชื่อ ก็หมายถึง"อภิมหาข้อมูล หรือ ข้อมูลที่มากมายมหาศาล” ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยี และระบบต่างๆ
ทำให้แต่ละองค์กรมีการเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ ไว้อย่างมากมายมหาศาล และเป็นรูปแบบที่ไม่มีโครงสร้าง (Unstructured) ทั้งรูปแบบข้อความต่าง ๆ ยังเปลี่ยนไปจากเดิม จากรูปแบบข้อความ (Text)
เป็นรูปแบบไฟล์ Media มากขึ้น จากผลสำรวจพบว่า มีข้อมูลที่เกิดขึ้นใหม่ในแต่ละวันประมาณ 2.5 ล้านล้านล้านไบต์ ของข้อมูลทั้งหมด    ดังนั้น ขอขยายความ คำว่า Big Data ให้ละเอียดมากยิ่งขึ้นนั้น
โดยมีคุณลักษณะที่สำคัญ (ตัวย่อ 5V) คือVolume, Velocity ,Variety  ,Veracity และ Value ซึ่งถ้าเรามี 3 ใน 5 V ก็ถือว่าเป็น Big Data เช่นกัน ไม่จำเป็นต้องมีให้ครบ  5V  แต่ถ้ามีครบทั้ง 5V
ข้อมูลก็จะสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น 

Volume:  คือ ข้อมูลมหาศาล ขนาดใหญ่  (data storage)
Velocity:  คือ ข้อมูลที่มีความหลากหลายทั้งที่เป็นแบบโครงสร้าง หรือรูปแบบที่ไม่แน่นอน
Variety:  คือ ข้อมูลที่จะต้องวิเคราะห์เข้าสู่ระบบฐานข้อมูลอย่างรวดเร็ว โดยให้ความสำคัญกับข้อมูลที่เป็น Real–Time  โดยข้อมูลจะมีหลากหลายรูปแบบทั้ง Structure และUnstructured และ Unstructured ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปทั้ง RDBMS, text, XML, JSONหรือ Image
Veracity : คือ ความถูกต้อง ครบถ้วนของข้อมูล
Value :  คือ ข้อมูลที่สามารถนำมาใช้งานได้จริง

ตัวอย่างข้อมูล Big Data
•       ข้อมูลเครือข่ายสังคม (Social Networks)
•       ข้อมูลการบริการทางเว็บ (Web Server Log)
•       ข้อมูลจากอุปกรณ์ตรวจตราการจราจร (Traffic Flow Sensors)
•       ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม (Satellite Imagery)
•       ข้อมูลด้านการกระจายเสียง (Broadcast Audio Streams)
•       ข้อมูลธุรกรรมทางธนาคาร(Banking Transaction)
•       ข้อมูลด้านการตลาดการเงิน (Financial Market Data)
•       ข้อมูลการสื่อสารจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Telemetry from Automobiles)
ดังนั้น  การจัดการ Big Data จึงจำเป็นต้องใช้ระบบการเก็บข้อมูลหรือการประมวลในรูปแบบอื่นๆที่อาจไม่ใช้ เพียงแค่ฐานข้อมูล RDBMS แบบเดิมๆ

จะเห็นได้ว่า Big Data หรือ อภิมหาข้อมูล มีประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะเรื่องการต่อต้านการคอร์รัปชัน โดยมีบทความที่สอดคล้องกันของการนำ Big Data จาก ณัชพล ประดิษฐเพชรา
และ ธิปไตร แสละวงศ์
นักวิชาการของ TDRI ได้จัดทำบทความเรื่อง 

“ตรวจทุจริต ต้านคอร์รัปชันด้วย Big Data”  
การใช้ Big Data ในการดำเนินธุรกิจเป็นกระแสที่กำลังถูกพูดถึงอย่างมาก ทั้งในต่างประเทศและประเทศไทย กระแสดังกล่าวเกิดขึ้นมาเมื่อเทคโนโลยีการสื่อสารโดยเฉพาะสมาร์ทโฟนเอื้อให้มีการผลิต
จัดเก็บ และประมวลผลข้อมูลปริมาณมหาศาลได้อย่างรวดเร็วและด้วยต้นทุนที่ถูกลง บริษัทเอกชนขนาดใหญ่หรือบริษัทสื่อใช้ Big Data เพื่อสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ เช่น การใช้ Big Data วิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้าเพื่อวางแผนการตลาดให้แม่นยำมากขึ้น
การใช้ Big Data ไม่ได้จำกัดเฉพาะในวงการธุรกิจเท่านั้น รัฐบาลในต่างประเทศได้พยายามนำ Big Data มาใช้ในการกำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาสังคมให้ตรงประเด็นและเห็นผลรวดเร็วมากขึ้นเช่นกัน

บทความนี้จะขอยกตัวอย่างการใช้ Big Data เพื่อวางแผนต่อต้านคอร์รัปชันให้ตรงจุดของหน่วยงานปรามปรามทุจริตจาก 2 ประเทศ ได้แก่ ประเทศเกาหลีใต้ และ ประเทศสหรัฐฯ

ตัวอย่างแรกเป็นกรณีของ Anti-Corruption & Civil Rights Commission (ACRC) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐของเกาหลีใต้ทำหน้าที่เป็นทั้ง ป.ป.ช. และ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ACRC ได้รับเรื่องร้องเรียนและข้อเสนอแนะกว่า 1 หมื่นครั้งต่อวัน หรือเกือบ 4 ล้านครั้งต่อปี ผ่านสายด่วน 110 และเว็บไซต์ e-people ซึ่งเป็นช่องทางรับข้อร้องเรียนหลักสำหรับหน่วยงานรัฐบาลส่วนกลางและท้องถิ่นของเกาหลีใต้

ในปี 2553 ACRC เริ่มนำข้อมูลเหล่านี้ทั้งหมดมาวิเคราะห์และจัดหมวดปัญหาตามลักษณะต่าง ๆ เช่น ข้อร้องเรียนที่พบบ่อย ลักษณะของการทุจริตที่พบบ่อย หน่วยงานที่ถูกร้องเรียนบ่อย
กฎระเบียบหรือกระบวนการราชการที่มักเกิดการทุจริต เพื่อเป็นแนวทางวางแผนว่าจะตรวจเรื่องใดและในช่วงเวลาใดเป็นสำคัญ
ACRC จะนำข้อมูลเหล่านี้มาจัดทำเป็นบทสังเคราะห์ เพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานรัฐให้นำไปเป็นแนวทางแก้ไขข้อบกพร่อง อาทิ ในปี 2557 ACRC พบว่า การรถไฟเกาหลีใต้
ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ถูกร้องเรียนว่าทุจริตอย่างต่อเนื่องมีทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างบ่อยครั้งจากการที่มีพนักงานของการรถไฟฯ หลายคนมีผลประโยชน์ร่วมทางธุรกิจกับบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างรางรถไฟ  ACRC จึงเสนอให้ออกระเบียบกำหนดให้บริษัทที่จะร่วมประมูลโครงการของการรถไฟฯ ต้องไม่จ้างพนักงานเก่าของการรถไฟฯ ตั้งแต่ระดับผู้บริหารขึ้นไปเพื่อป้องกันการมีผลประโยชน์ทับซ้อน
ตัวอย่างที่สองคือ กรณีของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ (DoJ) ซึ่งใช้ Big Data ตรวจสอบกรณีทุจริตในระบบประกันสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ (Medicare)  ซึ่งเกิดจากการที่สถานพยาบาลและแพทย์เบิกค่ายาและค่ารักษาพยาบาลจากรัฐเกินจริงหรือขอเบิกทั้งที่ไม่มีการรักษาพยาบาลจริง ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขสหรัฐฯ ประเมินว่าในปี 2557 ปีเดียว รัฐเสียหายจากการทุจริตในโครงการ Medicare กว่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (2.1 ล้านล้านบาท)


 
ในปี 2550 กระทรวงสาธารณสุขสหรัฐฯ และ DoJ ได้ร่วมกันจัดตั้งหน่วยงานขึ้นชื่อว่า Medicare Fraud Strike Force เพื่อปราบปรามการทุจริตในโครงการ Medicare หน่วยงานนี้ปราบปรามการทุจริต
โดยการวิเคราะห์ฐานข้อมูลกลางของการเบิกจ่ายค่ายาและค่ารักษาในโครงการ Medicare จากทั่วประเทศที่มีการอัพเดทแบบเรียลไทม์ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งไม่เคยมีการจัดทำมาก่อน
ในอดีตหากต้องการข้อมูลการเบิกจ่าย ทาง DoJ จะต้องเรียกดูข้อมูลจากศูนย์เบิกจ่าย Medicare ประจำรัฐซึ่งมักใช้เวลาดำเนินการหลายสัปดาห์
หน่วยงานนี้ได้ติดตาม และวิเคราะห์ข้อมูลการขอเบิกค่าใช้จ่ายของแพทย์ ร้านขายยา และสถานพยาบาลทั่วประเทศ ซึ่งมีอยู่กว่า 4.5 ล้านครั้งต่อวันอย่างต่อเนื่อง หากพบว่าพื้นที่ใดมีการเบิกค่ารักษาพยาบาลมากเป็นพิเศษ เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลและสืบสวน เช่น สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่และผู้ป่วย หรือตรวจสอบบัญชีรายการเบิกจ่ายยาและค่ารักษา การมีข้อมูลแบบเรียลไทม์นี้ยังจะช่วยให้ DoJ สามารถระงับการจ่ายเงินได้ทันทีหากพบหรือสงสัยว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น
ตามการประเมินของรัฐบาลสหรัฐฯ การใช้ Big Data เข้ามาช่วยในการตรวจสอบดังกล่าวช่วยลดการทุจริตได้ประมาณ 4.3 พันล้านเหรียญ (1.5 แสนล้านบาท) ในปี 2556 นอกจากนี้รัฐบาลสหรัฐฯ ยังได้คำนวณว่าทุก 1 เหรียญที่เป็นต้นทุนของระบบตรวจสอบนี้ ช่วยลดทุจริตได้ถึง 8 เหรียญ

กรณีตัวอย่าง 2 กรณีข้างต้นแสดงให้ว่าการใช้ Big Data ตรวจสอบทุจริตช่วยให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพ แม่นยำและจำกัดความเสียหายจากการทุจริตได้รวดเร็วมากขึ้นคุ้มค่าต่อการดำเนินการ

สำหรับประเทศไทย ผู้เขียนเห็นว่า การดำเนินการตามตัวอย่างข้างต้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ด้วยเทคโนโลยีจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลที่ก้าวหน้าและถูกลง อีกทั้งหน่วยงานของรัฐก็มีความพร้อมในแง่ของปริมาณข้อมูลให้เรียกได้ว่า Big Data ซึ่งมาจาก 3 ช่องการรับร้องเรียนหลัก ได้แก่ ศูนย์รับร้องทุกข์ 1111 ของสำนักนายกฯ ซึ่งมีเรื่องร้องเรียนกว่า 1 แสนเรื่องต่อปี ศูนย์รับร้องเรียนของหน่วยงานต่อต้านทุจริตโดยเฉพาะ สตง. ป.ป.ช. ป.ป.ท. และ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งผู้เขียนพบว่ารับเรื่องร้องเรียนรวมกันกว่า 1 หมื่นเรื่องต่อปี และ ข้อมูลคดีจากศาลปกครองซึ่งมีประมาณ 5-7 พันคดีต่อปี
อย่างไรก็ดี เพื่อให้เกิดการใช้ข้อมูลที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ผู้เขียนเสนอว่าภาครัฐควรปรับปรุงกระบวนการทำงานอย่างน้อยสองเรื่อง ดังนี้
เรื่องแรก ควรมีการนำข้อมูลการร้องเรียน (ยกเว้นข้อมูลส่วนตัวของผู้ร้องเรียน) มาจัดอยู่ในฐานข้อมูลกลางเดียวกัน เพื่อหน่วยงานรับตรวจทุจริตได้ให้เห็นลักษณะปัญหาชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้ ฐานข้อมูลดังกล่าวควรมีการอัพเดทอย่างต่อเนื่อง
เรื่องที่สอง ควรมีการประเมินติดตามการปฏิบัติตามข้อเสนอแก้ไขปัญหาอย่างสม่ำเสมอ และควรรายงานผลความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนทราบบ่อยครั้งมากกว่าที่เป็นอยู่ เนื่องจากปัจจุบันหน่วยงานรัฐไม่รายงานความคืบหน้าในการแก้ปัญหาต่อสาธารณะอย่างจริงจังสม่ำเสมอ ยกเว้นในเรื่องที่สังคมตั้งคำถามในวงกว้าง แม้ว่าหน่วยงานบางแห่งมีการดำเนินการในเรื่องนี้อยู่บ้าง แต่ก็จะแจ้งให้ผู้ที่ร้องเรียนทราบเท่านั้น
หากภาครัฐไทยเห็นความสำคัญของการใช้ Big Data เพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชัน สิ่งที่ต้องเริ่มทำเป็นเรื่องแรก ๆ อาจไม่ใช่เพียงการจัดหาเทคโนโลยีและบุคลากรที่มีความสามารถเท่านั้น แต่จำเป็นต้องปรับปรุงกระบวนการประสานข้อมูลภายในและข้ามหน่วยงาน และการติดตามประเมินผลการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ละเลยการรายงานผลการทำงานให้ประชาชนทราบอย่างสม่ำเสมอ
________________________________________
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ  ‘เผยแพร่ความรู้ด้านการเสริมสร้างธรรมาภิบาลและการลดคอร์รัปชัน’ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ในปัจจุบัน ภาครัฐได้เล็งเห็นประโยชน์ขอการนำข้อมูลข่าวสารมาเปิดเผยเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการทุจริต ในอนาคตให้ได้  นั่นคือ Open Government Data หรือ OGD
Open Government Data กับการปฎิรูปประเทศไทย
กระแสการปฎิรูปประเทศไทยมีการพูดถึงกันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุมของกปปส.จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารของคสช.และกำลังจะมีการตั้งสภาปฎิรูปขึ้น โดยตั้งเป้าหมายที่จะปฎิรูปไว้ 11 ด้าน ซึ่งส่วนหนึ่งก็จะเน้นถึงปัญหาที่เกิดจากการทุจริตคอร์รัปชั่นในบ้านเราที่เป็นรากฐานของปัญหาต่างๆ หลายๆคนมองว่าการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลา ในแง่ของคนไอทีเรามองว่าการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในการทำงานจะมีส่วนช่วยในการสร้างธรรมภิบาลในการบริหารประเทศ โดยเฉพาะเรื่องของ  “Open Data” แต่เมื่อไปพิจารณาโครงสร้างการปฎิรูปที่วางแผนไว้ทั้ง 11  ด้านจะเห็นได้ว่าเราไม่มีการพูดถึงเรื่องไอทีเลยทั้งๆที่เป็นหนึ่งในเรื่องที่สำคัญที่สุดในการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ
UN E-Government Index
หากเราได้ศึกษาการสำรวจด้าน E-Government ขององค์การสหประชาชาติที่ทำกันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2001  จากรายงาน United Nation E-Government Survey ที่ออกมาทุกสองปี เราจะเห็นได้ว่าบริบทของการสำรวจ เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีและการสร้างธรรมาบิบาล รวมถึงพิจารณาการมีส่วนรวมของภาคประชาชนดังแสดงในรูปที่ 1  ที่เราจะเห็นได้ว่าในครั้งแรกปี 2001  E-Government อาจจะเน้นเรื่องของการพัฒนาเว็บไซต์ของภาครัฐ แล้วเปลี่ยนมาเน้นในเรื่องของการใช้  Social Media ของภาครัฐในปี 2004/2006 และกลายมาเป็นเรื่องของ Cloud Computing/Smartphone ในปี 2010 และรายงานล่าสุดการสำรวจจะเน้นเรื่องของ Open Government Data/Linked Data
 
รูปที่  1 การสำรวจ UN E-Government Survey

ผลการสำรวจด้าน E-Government ขององค์การสหประชาชาติก็จะสอดคล้องกับดัชนีความโปร่งใสของประเทศ ซึ่งเราจะพบว่าประเทศที่มีอัตราการคอร์รัปชั่นน้อยก็จะมีอันดับ E-Government ที่สูง ซึ่งการสำรวจล่าสุดในปี 2014 ก็จะเน้นเรื่อง Big Data และ  Open Government Data และพบว่าประเทศที่มีการเปิดข้อมูลในภาครัฐก็จะมีคะแนนค่อนข้างสูง โดยประเทศเกาหลีใต้ก็มีอันดับที่หนึ่งอย่างต่อเนื่องมาสามสมัยทั้งนี้เพราะประเทศเขาได้ปรับระบบ E-Government มาตลอดเพื่อเน้นให้เกิดการทำงานภาครัฐที่รวดเร็วและโปร่งใส ส่วนประเทศไทยเราจะพบว่าอันดับด้าน E-Government ของเราตกลงมาตลอด ส่วนหนึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาครัฐ แต่เป็นเพราะดัชนีการคอร์รัปชั่นของประเทศสูงขึ้น ก็ทำให้การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อให้เกิดความโปร่งใสเป็นไปได้ยาก เพราะผู้บริหารประเทศก็ย่อมไม่อยากให้เกิดการตรวจสอบโดยง่า เราจะเห็นได้ในรูปที่ 2  ว่าประเทศไทยมีอันดับด้าน E-Government ตกลงมาในอันดับที่ 102 และมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกและภูมิภาคเอเซีย
 
รูปที่  2 E-Government Index ของประเทศไทย

Open Government Data

Open Government Data (OGD) คือการความพยายามของทั่วโลกที่จะเปิดข้อมูล (และ Information) ของรัฐบาลและองค์กรสาธารณะต่างๆซึ่งไม่ใช่ข้อมูลส่วนบุคคลของประชาขน ในรูปแบบที่เป็นมาตรฐานเปิด (Open Format) ไม่ใช่มาตรฐานเฉพาะ (Proprietary format) เพื่อคนหรือหรือเครื่องคอมพิวเตอร์อ่านได้ แล้วนำไปใช้หรือต่อยอดในการพัฒนาข้อมูลอื่นๆต่อไปได้  การเปิดข้อมูลจะเป็นการลดอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลของภาคประชาชนและยังช่วยทำให้เกิดการนำไปใช้ในด้านอื่นๆที่มีประโยชน์ต่อไป
 
รูปที่  3 เว็บไซต์ data.un.org

ในปัจจุบันมีหลายๆประเทศและองค์กรที่พยายามสร้าง Open Data  อาทิเช่นองค์การสหประชาชาติได้สร้าง Portal ที่ชื่อ data.un.org หรือทางสหราชอาณาจักรก็มีเว็บไซต์อย่าง data.gov.uk ที่มีข้อมูลของภาครัฐด้านต่างๆรวมถึงข้อมูลการใช้จ่ายของภาครัฐ และก็มีการนำข้อมูลไปพัฒนา Application ต่างๆถึง  300 กว่า  App ประเทศในเอเซียหลายๆประเทศทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ต่างก็พัฒนา Portal สำหรับ  Open Data  หลายประเทศก็ได้ออกกฎหมายให้มีการเปิดข้อมูลภาครัฐให้เป็นมาตรฐานที่คนอื่นๆอ่านได้ ทางสหรัฐอเมริกาโดยประธานาธิบดีโอบามาก็ได้ประกาศนโยบาย Open Data เมื่อเดือนพฤษภาคม  2013 และมีการประกาศเรื่อง  Data Act  ในเดือนพฤษภาคม  2014
 
รูปที่  4 เว็บไซต์ data.gov.uk
หลักการของ OGD จะมี 8 ด้านดังนี้
Completeness ข้อมูลภาครัฐทั้งหมดที่ไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลหรือความมั่นคงจะต้องถูกเปิด
Primacy ข้อมูลที่จะถูกเปิดจะเป็นรูปแบบเดียวกับที่ถูกเก็บไว้ โดยไม่มีการปรับปรุงและแก้ไขก่อนเปิด
Timeliness ข้อมูลจะถูกเปิดโดยทันทีทันใด
Ease of Physical and Electronic Access ข้อมูลถูกเปิดเพื่อให้ผู้ใช้ที่หลากหลายและมีจุดประสงค์ต่างกัน
Machine readability  ข้อมูลจะต้องอยู่ในรูปแบบที่นำไปประมวลผลได้โดยอัตโนมัติ
Non-discrimination ทุกคนสามารถนำข้อมูลไปใช่้ได้ โดยไม่ต้องมีการลงทะเบียนผู้ใช้
Open formats ข้อมูลต้องเป็นมาตรฐานที่เปิด
Licensing  ข้อมูลจะต้องไม่มีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ในการใช้งาน

ประโยชน์ของ Open Government Data
การทำ OGD นอกเหนือจากการสร้างความโปร่งใสและทำให้เกิดธรรมาภิบาลในการบริหารงานภาครัฐ เพราะข้อมูลของภาครัฐในด้านต่างๆเช่น การจัดซื้อจัดจ้าง การใช้จ่ายเงินงบประมาณ ถูกเปิดเผยออกมาแล้ว ยังทำให้เกิดประโยชน์ในด้านอื่นๆอีกดังแสดงในรูปที่ 5  คือการช่วยทำให้บริการของรัฐดีขึ้นอาทิเช่น การเปิดเผยข้อมูลจราจรทำให้เกิดบริการสาธารณะที่ดีขึ้น การเปิดเผยข้อมูลอาชญกรรมก็จะช่วยลดปัญหาต่างๆ ดังแสดงตัวอย่างของการสร้าง Mobile App ที่เป็นประโยชน์จากการเปิดข้อมูลในประเทศอังกฤษดังแสดงในรูปที่ 6
 
รูปที่  5 ประโยชน์ของการทำ Open Government Data
 
รูปที่  6 ตัวอย่างการบริการภาครัฐที่ดีขึ้นจาก OGD ของสหราชอาณาจักร

นอกจากนี้ OGD ยังทำเกิดธุรกิจต่างๆขึ้นมากมายและเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยมีรายงานระบุว่าการทำ  OGD ในกลุ่มประเทศยุโรปทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 4 หมื่นล้านยูโรต่อปี การเปิดข้อมูลพยากรณ์อากาศในสหรัฐอเมริกาทำให้เกิดบริษัทใหม่ๆถึง 400 บริษัทและมีการว่าจ้างงานใหม่ถึง  4,000  ตำแหน่ง สำหรับประเทศสเปนการเปิดข้อมูลทำให้เกิดธุรกิจถึง 600 ล้านยูโรและตำแหน่งงานใหม่มากกว่า 500 ตำแหน่ง
ล่าสุดการเลือกตั้งประธาธิบดีในประเทศอินโดนีเซีย ทางคณะกรรมการการเลือกตั้งของเขาได้เปิดข้อมูลการนับคะแนน ทำให้เกิดการเลือกตั้งที่โปร่งใสยิ่งขึ้นและเกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า Crowdsourcing ที่ภาคประชาชนจากที่ต่างๆมาร่วมกันตรวจสอบและนับคะแนนการเลือกตั้ง

บทสรุป
จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า ถ้าเราจะปฎิรูปประเทศไทย และให้เกิดความโปร่งใส แล้วยังได้บริการภาครัฐที่ดีขึ้น รวมถึงประโยชน์เชิงธุรกิจ ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องผลักดันให้เกิดกฎหมาย Open Government Data   ที่สอดคล้องกับหลักการทั้ง  8 ข้อของการเปิดข้อมูลภาครัฐ

ขอขอบคุณ 
ประโยชน์ของการทำ Open Government Data : goo.gl/kcVjOw
ตัวอย่างข้อมูล : Big Data : nawattakam.blogspot.com/2014/07/big-data.html