Hot Topic!

ปปท.ดัน ก.ม.คุ้มครองต้านทุจริต

โดย ACT โพสเมื่อ May 03,2017

"ป.ป.ท.-องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน" เดินหน้าทำประชาพิจารณ์ ร่างก.ม.คุ้มครองประชาชนต่อต้านทุจริต หวังสร้างเกราะป้องกันแจ้งเบาะแส
          
ในการสัมมนารับฟังความคิดเห็นต่อ "ร่างพ.ร.บ.การส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนในการต่อต้านทุจริตและประพฤติมิชอบ" ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT
          
นายอนุสิษฐ คุณากร กรรมการ ป.ป.ท. กล่าวว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 63 กำหนดให้ "รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน และจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบดังกล่าวอย่างเข้มงวด รวมทั้งกลไกในการส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้านหรือชี้เบาะแส โดยได้รับความคุ้มครองจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ. " และ มาตรา 278 กำหนดให้ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน
          
ที่ผ่านมา ป.ป.ท.ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นร่วมกับ ACT มาแล้วหลายครั้ง โดยจะรวบรวมความเห็นจากทุกภาคส่วนทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนในประเด็นต่างๆ นำมาประกอบการพิจารณายกร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
          
ด้านนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ให้ข้อเสนอแนะว่า มาตรการสำคัญที่ควรกำหนดไว้ในร่างกฎหมายฉบับนี้มีหลายประการ อาทิ การจัดตั้งกองทุนสนับสนุนภาคประชาชนในการต่อต้านคอร์รัปชัน มาตรการป้องกันการฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อปิดปาก (Anti-SLAPP Law) การช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ร้องเรียน การไม่ต้องรับผิดชอบของผู้ให้สินบนเมื่อตนเองเป็นผู้ไปเปิดเผยข้อมูลการทุจริตแก่ ป.ป.ช. การส่งเสริมประชาชนให้มีการรวมกลุ่มร่วมมือกัน รวมถึงการให้รางวัลนำจับแก่ประชาชนผู้ชี้เบาะแสเพื่อสร้างแรงจูงใจ และช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ เป็นต้น
          
ขณะที่ในวงอภิปรายมีหลายประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะองค์ประกอบของ คณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งร่างกฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการประกอบด้วย ประธาน ป.ป.ท. เป็นประธาน มีกรรมการผู้แทนภาครัฐ ประกอบด้วยผู้แทน จากสำนักงาน ป.ป.ช. ผู้แทนสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้แทนกระทรวงยุติธรรม
          
ทั้งนี้ที่ประชุมเสนอให้เพิ่มตัวแทนจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เข้ามาด้วย รวมถึงเพิ่มสัดส่วน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 6 คน โดยครม.แต่งตั้งจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทยแห่งละ 1 คน ที่เหลือเป็นภาคประชาสังคมนั้น เสนอให้มีอย่างน้อย 15 คน เสนอให้เพิ่มตัวแทนนักวิชาการ และสื่อสารมวลชนด้วย เพื่อให้รองรับหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่สำคัญ 3 ประการ คือการให้ความรู้ การต่อต้าน และการแจ้งเบาะแส ทั้งยังมีความเห็นว่า คณะกรรมการชุดดังกล่าว ควรมีความเป็นอิสระจากภาครัฐ

- - สำนักข่าว ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 3 พฤษภาคม 2560 - -