Anti-Corruption Information

คะแนนคอร์รัปชันไทย “ดีขึ้น” ในรอบ 10 ปี

โดย ACT โพสเมื่อ Dec 08,2016

ทำไมสถานการณ์คอร์รัปชันของไทยถึงได้ “ดีขึ้น”

  • การประเมิน “สถานการณ์คอร์รัปชันและภาพพจน์ของประเทศในสายตาคนไทยและนานาชาติ” จากรายงานของสถาบันและองค์กรทั้งไทยและต่างประเทศ ประเมินได้ว่า
  • ภาพลักษณ์ความโปร่งใสของไทยในสายตานานาชาติดีที่สุดในรอบ 10 ปี นับแต่ปี 2549
  • การเรียกรับสินบนที่สร้างภาระ สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ประชาชนเมื่อไปติดต่อราชการ ลดลงเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับ 15 ปีที่แล้ว และเชื่อว่าแนวโน้มจะดีขึ้นในปีข้างหน้า
  • การเรียกรับสินบนนักธุรกิจนักลงทุนมีความรุนแรงลดลง
  • สถานการณ์คอร์รัปชันของไทยดีที่สุดในรอบ 6 ปี
  • ในช่วงสองปีมานี้มีการออกมาตรการกลไกเพื่อแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ เป็นรูปธรรมมากที่สุดนับแต่มีรัฐธรรมนูญ ปี 2540 เป็นต้นมา
  • การคอร์รัปชันเชิงระบบ (Systemic corruption) ระบบพวกพ้องและความสามารถในการป้องกันปราบปรามคอร์รัปชันระยะยาว ยังต้องติดตามประเมินผลจากมาตรการระยะยาวที่ออกมา


               ปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งของความก้าวหน้าเหล่านี้คือ ขณะนี้ประชาชนและภาคธุรกิจมีความตื่นตัวและตั้งใจเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อสู้กับคอร์รัปชันสูงมาก จากการที่รัฐบาล คตช. หน่วยงานของรัฐ โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน นักวิชาการและองค์กรภาคประชาชน ได้ออกกฎหมาย มาตรการ กลไกและนโยบายเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่มีผลบังคับใช้แล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการในกระบวนการนิติบัญญัติอีกจำนวนหนึ่ง ที่เชื่อได้ว่าจะส่งผลดีทั้งระยะสั้นและระยะยาวในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศที่อยู่ในขั้นวิกฤติตามที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องเร่งแก้ไข
“มาตรการและกลไกเหล่านี้นอกจากจะเป็นการวางระบบพื้นฐานที่ดี ในการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชันตามหลักสากลแล้ว ยังสามารถสร้างความเชื่อมโยงและนำไปขยายผลมาตรการต่างๆ ให้การเกิดขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป”

               ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perception Index: CPI) สำรวจโดย Transparency Internationalรายงานว่าจากการสำรวจสองครั้งล่าสุดคือ ปี 2557 และ 2558 ไทยมีคะแนนความโปร่งใสสูงเท่ากับเมื่อปี 2548 ซึ่งเป็นคะแนนที่สูงสุดที่เคยถูกประเมินมาตลอด 21 ปี

               รายงานการวิจัย “คอร์รัปชันในระบบราชการไทย การสำรวจทัศนคติ ประสบการณ์ของหัวหน้าครัวเรือน” โดย ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตรและคณะ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กันยายน 2557

               ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย (Corruption Situation Index: CSI) มกราคม 2559, โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำรวจทุก 6 เดือน ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 6 และรายงานการวิจัย “คอร์รัปชันในระบบราชการไทย การสำรวจทัศนคติ ประสบการณ์ของหัวหน้าครัวเรือน” น. 6 อ้างแล้ว

               รายงาน “World Competitiveness” 2559 ของ IMD., รายงาน “Economic Crime in Thailand” ของ PwC., รายงาน “ผลการศึกษาการคอร์รัปชันในประเทศไทย” โดยสถาบัน IOD., รายงานการสำรวจดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย (CSI.) มกราคม 2559 ข้อมูลในส่วนนี้เน้นเรื่อง อัตราเรียกรับสินบนและจำนวนนักธุรกิจที่ต้องจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐ

               ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย (CSI.) มกราคม 2559, ประเมินจากปัจจัย 4 ด้าน คือ 1. ดัชนีปัญหาและความรุนแรงของการคอร์รัปชัน 2. ดัชนีการป้องกันการคอร์รัปชัน 3. ดัชนีการปราบปรามคอร์รัปชัน 4. ดัชนีการสร้างจริยธรรม

               รายงานการวิจัย เรื่อง “แนวโน้มคอร์รัปชันในประเทศไทย” 2556 โดย จารุวรรณ สุขุมาลพงษ์, รัฐสภา ที่กล่าวถึงการมีนโยบายมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันอย่างเป็นนามธรรมของ 6 รัฐบาลในช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้ และรายงาน “ความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน” 2559 โดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ที่กล่าวถึงการมีมาตรการที่มีในช่วงสองปีนี้ ที่เป็นรูปธรรมและครอบคลุมการแก้ไขเชิงโครงสร้างและเชิงสถาบัน ที่จะส่งผลดีในระยะยาว

               รายงาน “ความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน” มิถุนายน 2559 โดย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ