Article
กฎหมายรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชัน โดยประชาชน
โดย ACT โพสเมื่อ Apr 19,2017
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
17 เมษายน 2560
กฎหมายรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชันโดยประชาชน
การจะทำให้ประเทศของเราเป็นบ้านเมืองที่ดีปราศจากคอร์รัปชันดูเป็นเรื่องยากเกินฝัน เพราะที่ผ่านมาประชาชนจะพูดหรือทำอะไรก็ยาก ทั้งเกรงกลัวทั้งไม่รู้ว่าตนเองควรจะทำอะไรหรือไปร้องเรียนกับใครได้ มีบ่อยครั้งที่โดนหลอกโดนปิดบังและโดนข่มขู่ จะหวังพึ่งรัฐบาลพึ่งนักการเมืองก็ยังลำบากใจ ดังนั้นการที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 63 ให้ “รัฐต้องสนับสนุนและปกป้องการรวมตัวของประชาชนเพื่อต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันของชาติ” จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้าและเหมาะสมอย่างยิ่ง
กฎหมายเป็นอย่างไร
รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 63 ทำให้ต้องมีการออกกฎหมายใหม่ เรียกว่า “ร่าง พ.ร.บ. การส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ” เพื่อขยายความหลักการของกฎหมาย รวมถึงกำหนดแนวทาง กลไกและข้อปฏิบัติให้ชัดเจน โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
มาตรา 63 “รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน และจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบดังกล่าวอย่างเข้มงวด รวมทั้งกลไกในการส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้านหรือชี้เบาะแสโดยได้รับความคุ้มครองจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ”
ประการแรก เจตนารมย์ของกฎหมาย กำหนดว่า “รัฐต้องสนับสนุน” ให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไข ป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชัน โดยการทำให้ทุกคนรู้เท่าทันปัญหา สถานการณ์และภัยร้ายจากคอร์รัปชันที่กำลังเกิดขึ้นทั้งในภาครัฐและเอกชน
ประการที่สอง สร้างกลไกที่ทำให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงออกและสนับสนุนการรวมกลุ่มเพื่อการเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชันโดยได้รับการคุ้มครองจากรัฐ ต้องมีกลไกบังคับ มีหน่วยงานรับผิดชอบ และมีบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจน ทั้งนี้ประชาชนควรได้รับรู้อย่างชัดแจ้งเกี่ยวกับมาตรการและความจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายนี้
ประการที่สาม ส่งเสริมให้ประชาชนตื่นตัว เข้าใจสิทธิหน้าที่ของตน มีความเป็นอิสระและเข้มแข็งด้วยตัวเอง สามารถร่วมมือกับรัฐอย่างเท่าเทียมและมีศักดิ์ศรี โดยคำว่า “ประชาชน” จะครอบคลุมทั้งปัจเจกบุคคล กลุ่มคน ภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ และเจ้าหน้าที่ของรัฐในฐานะที่เป็นประชาชน
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฯ ยังบัญญัติหลักการที่เกี่ยวเนื่องไว้ในมาตรา 41 (1)(3) และ มาตรา 51 ให้บุคคลและชุมชนมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐ รวมถึงสามารถติดตามเร่งรัดให้รัฐต้องดำเนินการตามหน้าที่และสามารถฟ้องหน่วยงานของรัฐเนื่องจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐได้
ประชาชนควรทำอย่างไร
กฎหมายนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการจัดทำของรัฐบาล ซึ่งต้องมีการศึกษาอย่างรอบคอบร่วมกับภาคประชาชนเพื่อวางโครงสร้างของกฎหมาย กำหนดกลไกและมาตรการบังคับให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพเป็นจริงในสังคมที่ประชาชนต้องเผชิญอยู่ ดังนั้นเพื่อให้มั่นใจว่ากฎหมายฉบับนี้จะใช้งานได้จริงและเกิดประโยชน์กับประชาชนเต็มที่ จึงจำเป็นที่คนไทยทุกสาขาอาชีพโดยเฉพาะนักวิชาการและบุคคลผู้มีประสบการณ์ในการต่อสู้กับคอร์รัปชันทั้งภาครัฐและประชาชนต้องช่วยกันเสนอข้อคิดเห็นและมาตรการที่ควรกำหนดไว้ในกฎหมายนี้อย่างหลากหลายรอบด้าน โดยอาจเสนอข้อคิดเห็นผ่าน สื่อมวลชน องค์กรเครือข่ายต่างๆ หรือที่ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
ตัวอย่างมาตรการที่ควรกำหนดไว้ในกฎหมายนี้ เช่น จัดตั้งกองทุนสนับสนุนภาคประชาชนในการต่อต้านคอร์รัปชัน มาตรการป้องกันการฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อปิดปาก (Anti-SLAPP Law) การช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ร้องเรียน การไม่ต้องรับผิดของผู้ให้สินบนเมื่อตนเองเป็นผู้ไปเปิดเผยข้อมูลการทุจริตแก่ ป.ป.ช. การส่งเสริมประชาชนให้มีการรวมกลุ่มร่วมมือกัน การให้รางวัลนำจับแก่ประชาชนผู้ชี้เบาะแสเพื่อสร้างแรงจูงใจและช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ เป็นต้น
บทสรุป
ความมุ่งหวังที่จะทำให้ประชาชนสามารถรวมตัวกันเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการจัดการกับปัญหาคอร์รัปชันของชาติ โดยกำหนดให้รัฐบาลต้องขจัดสิ่งที่เป็นอุปสรรคสำหรับประชาชน ควบคู่ไปกับการจัดให้มีการสนับสนุนอย่างเหมาะสมเพียงพอ รณรค์ให้ความรู้และสร้างค่านิยมคนไทยมีวัฒนธรรมรังเกียจการโกงและไม่ยอมให้ใครโกง แนวทางเช่นนี้จึงเป็นเรื่องถูกต้อง เพราะจะทำให้ประชาชนได้แสดงบทบาทความเป็นเจ้าของประเทศ และเป็น Active Citizen ที่กล้าลงมือกระทำเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างยั่งยืน เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของประเทศอย่างแท้จริง และทั้งหมดนี้จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่า “คนไทยสามารถเอาชนะคอร์รัปชันได้”