Article

ชวนนักธุรกิจ คนไทย ผู้บริโภค จับมือหยุดคอร์รัปชัน

โดย ดร.มานะ นิมิตรมงคล โพสเมื่อ Sep 10,2024

ชวนนักธุรกิจ คนไทย ผู้บริโภค จับมือหยุดคอร์รัปชัน
.
“โกงแบบโปร่งใส” คือ โกงกันซึ่งๆ หน้า โกงอย่างเปิดเผย ไม่อายไม่กลัวใคร โกงถูกระเบียบเป็นไปตามขั้นตอนจนดูเหมือนโปร่งใส แต่เบื้องหลังกลับจอมปลอม ปกปิด สมคบคิดกันซับซ้อนแนบเนียน แม้สังคมจะเห็นสิ่งไม่ชอบมาพากล ขัดข้องใจว่าแบบนี้ก็ได้หรือ แต่ต้องจำยอม!!

“ธรรมาภิบาลเหมือนมี แต่มองไม่เห็น” เพราะหน่วยงานรัฐและเอกชนจำนวนมากในยุคนี้ ชอบสร้างภาพว่ายึดมั่นธรรมาภิบาล (Governance) แต่เอกชนส่วนใหญ่ยังยอมจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้ตนได้อภิสิทธิ์หรือผลประโยชน์บางอย่าง

หลายรายมุ่งแต่โกยกำไร เอาเปรียบสังคมแม้รู้ว่าไม่ถูกต้อง ขณะที่หน่วยงานรัฐก็อ่อนแอในการกำกับดูแลภายในองค์กรให้ได้ผล ตรวจสอบกันน้อยลง จนเกิดเป็นพายุคอร์รัปชันดั่งเช่นทุกวันนี้

ชวนภาคธุรกิจจับมือหยุดคอร์รัปชัน..

เมื่อคอร์รัปชันไม่เคยหยุด การต่อต้านคอร์รัปชันก็หยุดไม่ได้เช่นกัน องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ขอเชิญชวนทุกภาคส่วน สร้างมิติใหม่ “ชวนคนไทยต้านโกง” ด้วย 3 ความร่วมมือ ดังนี้

1. ร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ตัวเราเอง : ดำเนินธุรกิจที่มีธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง กำหนดให้การไม่ทุจริตคดโกงเป็นนโยบายที่สำคัญ มีบทลงโทษที่ชัดเจน ทุกสิ่งผิดปรกติต้องถูกเปิดโปง ทำให้การต่อต้านคอร์รัปชันเป็นวัฒนธรรมองค์กรยึดถือตั้งแต่ผู้นำไปจนถึงพนักงาน

2. ร่วมมือกับเครือข่ายและพันธมิตร: ขยายการต่อต้านคอร์รัปชันไปยังคู่ค้า ลูกค้า และพันธมิตรรอบข้าง ให้ครบในทุกห่วงโซ่

3. ร่วมสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจที่ซื่อตรงโปร่งใส: สนับสนุนและเป็นสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) ที่มีสมาชิกกว่า 1,600 บริษัท ผนึกกำลังให้เป็นเครือข่ายของภาคธุรกิจที่ร่วมมือกันต่อต้านการคอร์รัปชันที่เข้มแข็งในทุกรูปแบบของกลยุทธ์

เอกชนโกง รัฐไม่ยอมเปลี่ยน..

ทุกวันนี้ “คอร์รัปชันในภาคเอกชน” เป็นปัญหาของชาติไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคอร์รัปชันในภาครัฐและการเมือง กล่าวคือ เอกชนจำนวนมากเป็นฝ่ายสมคบคิดหรือหยิบยื่นสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐ และมีไม่น้อยที่ค้าขายเห็นแก่ได้ เอาเปรียบลูกค้า เอาเปรียบสังคม บ้างก็คดโกงผู้ถือหุ้นในกิจการของตนเอง ฯลฯ

หน่วยงานของรัฐสามารถกำกับพฤติกรรมของเอกชนได้เพียงบางกลุ่มเท่านั้น เช่น คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)

มีองค์กรเอกชนทำหน้าที่ปกป้องประชาชน เช่น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิบูรณะนิเวศน์ มูลนิธิชีววิถี สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) เป็นต้น

ขณะที่ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจดูแลเรื่องคอร์รัปชันในภาคเอกชน

เป็นห่วงแต่ว่า แรงจูงใจให้คนคอร์รัปชันมักมีพลังมากจากความโลภและมักง่าย ขณะที่กลไกรัฐก็เป็นใจ แต่“เสียงของประชาชน” ไม่เข้มแข็งพอที่จะกำหนดกติกาสังคมให้พร้อมสนับสนุนหรือลงโทษคนโกง (Social Sanction)

ชวนคนไทยต้านโกง ด้วยพลังผู้ซื้อ ผู้บริโภค..

เพื่อหยุดคอร์รัปชันในภาคเอกชน จำเป็นต้องอาศัยพลังประชาชนในฐานะผู้บริโภคให้แสดงพลังความเป็น “ลูกค้า” ที่ควรได้รับรู้และร่วมตัดสินใจ จะสนับสนุนหรือต่อต้านไม่ยอมรับสินค้าและบริการ จะเลือกซื้อสินค้าเพราะชื่อดังโฆษณามาก แต่เจ้าของอื้อฉาวเอาแต่ได้

หรือจะอุดหนุนรายที่สังคมยอมรับว่าซื่อสัตย์ ใส่ใจสังคม ดูแลสิ่งแวดล้อม ไม่มักง่ายเอาเปรียบใคร แน่นอนว่าการเลือกเช่นนี้สามารถกระตุ้นและเปลี่ยนพฤติกรรมภาคธุรกิจได้เกินกว่าจะคาดคิด

เพื่อประโยชน์ของคนไทย เราต้องหยุดสนับสนุนธุรกิจที่มีพฤติกรรมฟอกขาว เน้นสร้างภาพ!!

แล้วร่วมกันอุดหนุนธุรกิจที่ใส่ใจรับผิดชอบ ไม่โกงไม่สนับสนุนการโกง เพื่อพิสูจน์ว่าทำดีแล้วได้ดี คนค้าขายซื่อสัตย์จะเป็นที่ยอมรับ มีชื่อเสียงและเติบโตยั่งยืน ผู้ประกอบการทุกขนาดจะได้มีกำลังใจ เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ มั่นใจว่าความรับผิดชอบต่อสังคมไม่ใช่ภาระแต่เป็นสิ่งที่คนไทยต้องร่วมมือกัน

มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
10 กันยายน 2567