Article
ล็อค ลอก บัง 1
โดย ดร.มานะ นิมิตรมงคล โพสเมื่อ Aug 23,2023
“ล็อค – ลอก – บัง” (1)
“การประเมิน ITA ของ ป.ป.ช. ไม่น่าเชื่อถือในสายตาประชาชน ข้าราชการต่างมองเป็นภาระมากกว่าประโยชน์” เป็นเพราะผลคะแนนประเมิน ITA สูงขึ้นทุกปี
แต่สวนทางความจริงที่ทุกคนเห็นคือ ค่าดัชนีคอร์รัปชัน (CPI) ของไทยยังต่ำอยู่ คอร์รัปชันปรากฏให้เห็นมากมาย โดยเฉพาะเมื่อเกิดกรณีอื้อฉาวของอดีตอธิบดีกรมอุทยานฯ และสารพัดส่วยตำรวจ
พฤติกรรม ล็อค - ลอก - บัง ของหน่วยงานรัฐ “ส่วนใหญ่” ที่คิดแต่จะให้ได้คะแนนสูงๆ คือต้นตอที่ทำให้การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ที่พัฒนามาตลอด 10 ปี ถูกบิดเบือนจนเสียประโยชน์ไปอย่างน่าเสียดาย
“ล็อค” คือการวางแผนล็อคคำตอบเพื่อกำหนดผลการประเมิน เช่น การกำหนดตัวบุคคลที่จะตอบแบบประเมิน การโน้มน้าวหรือซักซ้อมให้เกิดคำตอบไปในทางที่ต้องการ การทำแทนกันโดยเก็บเลขที่บัตรประชาชนหรือบัตรข้าราชการของผู้อื่นเพื่อนำมาตอบแบบประเมินเอง
“ลอก” คือการจงใจลอกเลียนข้อมูล/ผลงาน/หรือลอกคำตอบในการประเมินจากหน่วยงานอื่น อาจเป็นข้อมูลที่ล่วงรู้มาจากผลงานปีก่อนๆ หรือการร่วมการประชุมแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงาน การสอบถามแลกเปลี่ยนข้อมูลในกลุ่มไลน์ผู้แทนหน่วยงานระหว่างเตรียมรับการประเมินฯ เป็นต้น
“บัง” คือการปิดบังข้อมูลภายใน การดำเนินงาน และสิ่งที่ถูกค้นพบ มีทั้งที่ปิดบังโดยตั้งใจ ไม่ตั้งใจหรือเกิดจากความไม่ใส่ใจ รวมถึงเก็บขึ้นหิ้งไม่ใช้ประโยชน์ เช่น
1. แต่ละหน่วยงานสามารถออกระเบียบเพื่อกำหนดว่า ข้อมูลประเภทใดให้ปกปิดเป็นความลับ ส่งผลให้ไม่ถูกประเมินตามกติกาของ ป.ป.ช. จึงไม่น่าแปลกใจที่หน่วยทหาร ตำรวจและอีกหลายแห่งที่น่ากังขาในสายตาประชาชนกลับได้คะแนนสูงๆ
2. เมื่อเสร็จสิ้นการประเมินเรามักทราบเพียงว่า หน่วยงานนี้ได้เกรดอะไร คะแนนเท่าไหร่ แล้วจบกัน ไว้ปีหน้าค่อยว่ากันใหม่ โดยไม่มีใคร (นอกจาก ป.ป.ช.) รู้ว่า
ก. การประเมินทั้ง 88 ข้อในปีนี้ หน่วยงานมีอะไรดีขึ้นหรือแย่ลง อะไรต้องปรับปรุง
ข. หน่วยงานใดกำลังมีปัญหาอะไรที่รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรใส่ใจเป็นพิเศษ ต้องแก้ไขโดยด่วนหรือลงโทษกันบ้างถ้าจำเป็น
ค. หน่วยงานไหนมีผลงานอะไรโดดเด่นเป็นแบบอย่างควรยกย่อง
ข้อมูลที่พบจากการประเมินเหล่านี้ นอกจากประชาชนไม่ได้รับรู้ ยังเชื่อว่าแม้แต่ปลัดกระทรวง รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รวมถึง ครม. ก็มิได้ล่วงรู้เช่นกัน และไม่แน่ว่าหน่วยงานตรวจสอบอย่าง สตง. ปปท. ปปง. จะล่วงรู้ด้วยหรือไม่
กรณีกรมอุทยานฯ คือตัวอย่างที่ชัดเจนเพราะหน่วยงานนี้ติดอันดับต้นๆ ว่าเป็นหน่วยงานที่ถูกประเมินจากบุคคลภายนอก (EIT) และบุคคลภายใน (IIT) ตั้งแต่ปี 2562 ว่ามีหลายอย่างที่เสี่ยงต่อการเกิดคอร์รัปชัน แต่ไม่มีใครพูดถึง จนเกิดเรื่องอื้อฉาวขึ้นแล้ว
ข้อมูลสำคัญที่ ITA ค้นพบและประชาชนควรได้รู้ ตัวอย่างเช่น
เว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐกว่า 70% ไม่อัพเดทข้อมูลให้ถูกต้องเป็นปัจจุบัน (รอทำเมื่อใกล้ประเมิน ITA) และบริการทางอิเลกทรอนิกส์ของหน่วยงานรัฐส่วนใหญ่ทำได้เพียงแค่การจองคิว – จัดคิว
ปัจจุบัน ITA ประเมินเพียงหน่วยธุรการและปฏิบัติการ แต่ในอดีตตัวบุคคลที่เป็น “องค์อำนาจ” ของหน่วยงานถูกประเมินด้วยเพราะเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนภารกิจและใช้อำนาจ เช่น ผู้บังคับบัญชา อธิบดี คณะกรรมการ นักการเมือง รัฐมนตรี ฯลฯ
หน่วยงานแต่ละแห่งมักกำหนดให้เจ้าหน้าที่ 1 - 3 คนดูแลการประเมิน โดยผู้บังคับบัญชาระดับสูงและเจ้าหน้าที่อื่นไม่เกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นการนำเสนอปัญหาและมีส่วนร่วมดูแลองค์กรย่อมขาดหายไป
บทส่งท้าย
ไม่มีการการันตีว่าหน่วยงานที่ผ่านการประเมิน ITA จะไม่มีคอร์รัปชัน แต่หน่วยงานที่ปฏิบัติจริงจังตามเกณฑ์ ITA ย่อมสามารถควบคุมคอร์รัปชันของบุคลากรได้ดีขึ้นตามเป้าหมายของ ป.ป.ช.
มีข้อสังเกตว่า ในปี 2564 และ 2565 มีประชาชนร่วมตอบแบบสอบถาม ITA กว่า 8 แสนคนต่อปี แต่ปี 2566 ที่เพิ่งเสร็จไปเหลือเพียง 5.8 แสนคน
การที่ประชาชนหายไปถึง 30% เช่นนี้เป็นเพราะไม่อยากเสียเวลากับพิธีกรรมที่ไม่น่าเชื่อถือ...ใช่หรือไม่?
หนทางแก้ให้ดีขึ้นมีไหม?...โปรดติดตามโพสต์ต่อไปครับ
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)