Article
รัฐบาลใหม่จะขจัดคอร์รัปชันได้หรือไม่ ?
โดย ดร.มานะ นิมิตรมงคล โพสเมื่อ Jun 13,2023
“รัฐบาลใหม่จะขจัดคอร์รัปชันได้หรือไม่ เพราะนี่คือต้นทุนทางธุรกิจที่หนักหนาสาหัสมาก และระบาดไปทั่ว ไม่ว่าจะขนาดใหญ่ กลาง หรือเล็ก และจะกล้าพอที่จะดำเนินการอย่างเป็นธรรมต่อการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นไปแล้วโดยไม่เห็นแก่หน้าใครหรือไม่” คุณวรวรรณ ธาราภูมิ นักบริหารการเงินและการลงทุนชื่อดังได้กล่าวไว้
มีข้อสังเกตว่า การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งล่าสุดมี 8 พรรคการเมืองที่นำเสนอแนวทางแก้ปัญหาคอร์รัปชันแบบจริงจังเช่น ทำอย่างไรจะขจัดการเรียกรับเงินใต้โต๊ะในการจัดซื้อจัดจ้างฯ การจดทะเบียนและขอใบอนุญาตฯ การซื้อขายตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐ การสร้างความโปร่งใสในการบริการประชาชน การใช้เทคโนโลยีการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ สนับสนุนประชาชนและเสรีภาพสื่อมวลชน การพัฒนากลไกตรวจสอบ การยกระดับความรับผิดชอบของพรรคการเมืองและผู้นำ โดยถือเป็นเรื่องเร่งด่วนและเป็นวาระแห่งชาติ
แต่จะเป็นเพียงลมปากของนักการเมืองหรือไม่? เพราะที่ผ่านมารัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรัฐบาลแรกของไทยที่ประกาศนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันต่อรัฐสภาในวาระการเข้ารับตำแหน่งครั้งที่สองในปี 2562 ว่าจะให้ความสำคัญกับการกำจัด คอร์รัปชันในวงราชการและการเมือง ด้วยความรับผิดชอบทาง การเมืองและกลไกรัฐสภา จะจริงจังบังคับใช้กฎหมาย ใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาบริการประชาชน และสนับสนุนประชาชนมีส่วนร่วม
ท่านยังประกาศให้ “การต่อต้านคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ” ไว้หลายครั้ง... แต่ความจริงเป็นอย่างไร?
เป็นที่ทราบกันดีว่าระหว่างปี 2558 – 2560 เป็นช่วงที่รัฐบาลรับฟังและตอบสนองเสียงของประชาชนและภาคเอกชนดีมาก มีการส่งสัญญาณชัดเจน (Political Will) ถึงเจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่ายว่าจะจัดการอย่างไรกับคอร์รัปชัน ประชาชนและภาคธุรกิจต่างรับรู้ชื่นชม วงราชการเริ่มดีมีพลัง มีการผลักดันกลไกและกฎหมายหลายอย่าง เพื่อแก้ปัญหาในการจัดซื้อจัดจ้าง การบริการประชาชนที่ยื่นขออนุญาตอนุมัติต่าง ๆ การทบทวนเพื่อตัดลดหรือแก้ไขกฎหมายที่ล้าสมัย การเสริมเขี้ยวเล็บ ป.ป.ช. ป.ป.ท. สตง. ส่งผลให้การสำรวจด้านธุรกิจคือ Ease of Doing Business, World Competitiveness Ranking และด้านคอร์รัปชันคือ CPI, Corruption Barometer, Corruption Situation Index (CSI) ของไทยดีขึ้นสอดคล้องกัน แสดงว่าเราสามารถต่อกรกับคอร์รัปชันได้ถ้าทุกฝ่ายทุ่มเทและผู้นำรัฐบาลเอาจริง
ถึงวันนี้ประเทศไทยได้พัฒนาการบริการประชาชนและภาคธุรกิจด้วย E-Service กว่า 720 บริการ แนวทางรัฐบาลดิจิทัลที่หลายหน่วยงานร่วมกันพัฒนามาต่อเนื่อง การจัดระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้ได้มาตรฐานสากล แต่ความพยายามเหล่านี้ได้หยุดชะงักหรือแทบจะเสียเปล่าไปเพราะหน่วยงานจำนวนมากไม่ได้ ใส่ใจปฏิบัติ เผยแพร่ นำไปพัฒนาต่อเนื่องเชื่อมโยงให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า รัฐมนตรีก็ไม่แสดงความเดือดร้อนกับเรื่องเหล่านี้ เผลอ ๆ ยังฉวยเอาจุดอ่อนของระบบราชการไปเป็นประโยชน์กับพวกตนด้วยซ้ำไป ความพยายามตัดลดแก้ไขกฎหมายที่ล้าสมัยไร้ประโยชน์ที่ได้ศึกษาเตรียมการมาดีแล้ว ก็ดูหยุดนิ่งไป
มาวันนี้ความมั่นใจของสังคมจางหาย คอร์รัปชันในเมกะโปรเจคของรัฐ คอร์รัปชันทางการเมือง คอร์รัปชันเชิงนโยบาย การบิดเบือนอำนาจรัฐ ส่วย – สินบน – เงินใต้โต๊ะในระบบราชการทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นกลับปะทุรุนแรง มาตรการสร้างความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างอย่างโครงการข้อตกลงคุณธรรม ของดีกลับถูกหน่วยงานจำนวนหนึ่งดื้อแพ่งไม่ร่วมมือหน้าตาเฉย
ความถดถอยเช่นนี้ทำให้คิดไปว่า ไทยกำลังเป็นสังคมของคนโกงที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงได้อย่างนั้นหรือ? คงไม่ใช่แน่หากจะบอกว่าคนยุโรปหรือคนเอเชียอย่าง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง เขาดีกว่าฉลาดและเก่งกว่าคนไทยจึงสามารถควบคุมคอร์รัปชันได้ดีจนเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก
หากย้อนดูว่า ทำไมหลายพรรคการเมืองจึงประกาศนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันที่จริงจังมากขึ้น ในการเลือกตั้งครั้งนี้ แล้วทำไมเวทีดีเบตเลือกตั้งแต่ละแห่งจึงเต็มไปด้วยประเด็นคอร์รัปชัน
เรื่องนี้อธิบายได้จากผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อนโยบายพรรคการเมืองและนักการเมืองในการเลือกตั้งปี 2566 ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยที่จัดทำขึ้นสามเดือนก่อนการเลือกตั้ง ที่ระบุว่า คอร์รัปชันเป็นปัญหาใกล้ตัวที่ประชาชนอยากให้รัฐบาลใหม่แก้ไขอันดับแรก โดยประชาชนพร้อมจะมอบคะแนนเสียงให้กับพรรคที่มีนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ปัญหา
บทพิสูจน์ที่ตามมาคือ ผลการเลือกตั้งมีนักการเมืองและกลุ่มก๊วนที่มีประวัติคดโกงต่างสอบตกจำนวนมาก ปรากฏการณ์นี้คือความหวังใหม่ ที่เกิดจากพลังตื่นตัวของประชาชนที่นักการเมืองต้องเรียนรู้อย่างรับผิดชอบเพื่อมิให้ถูกสังคมลงโทษในอนาคต
สิ่งที่หวังว่าจะได้เห็นคือ นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลต้องรักษาสัจจะ รัฐบาลต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาให้คนไทยรู้ทั่วประเทศ ทุกนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันที่ประกาศไว้จะต้องทำ นักการเมืองฝ่ายค้านต้องเรียนรู้แนวทางไปใช้ในการตรวจสอบรัฐบาล ทุกฝ่ายควรถือปฏิบัติว่าในเมื่อการต่อต้านคอร์รัปชันเป็นเรื่องของบ้านเมือง ความรู้และนโยบายในเรื่องนี้จึงเป็นของส่วนรวม ใครเสนออะไรไว้ดีแล้ว ทุกคนควรนำมาขับเคลื่อนต่อ
ที่ผ่านมาเราเคยฝากความหวังไว้กับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ได้ชื่อว่าเป็น “รัฐธรรมนูญต่อต้านคอร์รัปชัน” เพราะมีมาตรการและการจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อปราบปรามคอร์รัปชัน แล้วพัฒนาต่อยอดให้เข้มแข็งขึ้นอีกเมื่อมีรัฐธรรมนูญปี 2550 มาถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ถูกขนานนามว่า “รัฐธรรมนูญปราบโกง” ที่เชื่อว่าจะทำให้ “ประชาชนเป็นใหญ่” แม้ไม่เคยเห็นประเทศไหนที่ประชาชนเป็นใหญ่เหนือชนชั้นปกครองได้จริง แต่สุดท้ายสถานการณ์คอร์รัปชันก็ย่ำแย่อย่างที่เห็น
บทเรียนจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดกลับบอกว่า ด้วยพลังประชาชนที่รู้เท่าทันและตื่นตัวต่างหากที่สามารถผลักดันให้กลุ่มอำนาจและผลประโยชน์ต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้นำรัฐบาลและนักการเมืองต้องทำหน้าที่ของตนเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างแท้
เมื่อสังคมไทยก้าวเดินมาอย่างนี้และเชื่อว่าจะก้าวต่อไปอย่างเข้มแข็ง ย่อมทำให้เกิดมีความหวังมากขึ้นว่ารัฐบาลใหม่จะควบคุมและขจัดคอร์รัปชันได้ในอนาคตอันใกล้
บทความ โดย ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันประเทศไทย อนุกรรมการสื่อสารองค์กรเพื่อต่อต้านการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช.
--
อ่านได้ที่ https://www.nacc.go.th/categorydetail/20180831184638361/20230612153951?fbclid=IwAR0bJjKJlNayoWF_l2tDOKOxuAA6VbnxkWlBR5xOp0z0qfM_u3p1eTTii0c