Hot Topic!
คอร์รัปชันในโรงเรียน: อาหารกลางวัน นมเด็ก ตำราเรียน
โดย ดร.มานะ นิมิตรมงคล โพสเมื่อ May 22,2023
คอร์รัปชันในโรงเรียน: อาหารกลางวัน นมเด็ก ตำราเรียน
..
โรงเรียนเปิดเทอมแล้วปีนี้ยังน่าเป็นห่วงอยู่เช่นเดิมว่าโรงเรียนของเด็กๆ จะดีขึ้นแค่ไหน? การฉ้อโกง อาหารกลางวัน นมเด็ก ตำราเรียน ลดลงบ้างหรือไม่ ทำอย่างไรงบประมาณนับแสนล้านบาทจะถูกใช้อย่างคุ้มค่า พัฒนาทักษะเด็กไทยให้มีผลการเรียนก้าวทันประเทศเพื่อนบ้าน
ข้อมูลเกี่ยวกับช่องทางคอร์รัปชันและงบประมาณที่เกี่ยวข้องต่อไปนี้ ต้องการนำเสนอเพื่อประโยชน์ในการติดตามตรวจสอบว่า ควรพัฒนาอะไร แก้ตรงไหน ป้องกันอย่างไร โดยไม่มีเจตนากล่าวหาว่าโรงเรียนทั้งสามหมื่นกว่าแห่งประเทศมีคอร์รัปชันเหล่านี้เกิดขึ้น
1. ช่องทางคอร์รัปชันในโรงเรียน
1.1 การจัดซื้อ เช่น นมโรงเรียน อาหารกลางวัน หนังสือตำรา อุปกรณ์การเรียนและกีฬา วัสดุและครุภัณฑ์ทางการศึกษา
1.2 การเรียกรับแปะเจี๊ยะเมื่อแรกรับนักเรียนเข้าสถานศึกษา
1.3 เอาของหลวงไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว
1.4 การจัดซื้อจัดจ้างและการก่อสร้าง เช่น การก่อสร้างอาคาร สนามกีฬา ฯลฯ
1.5 การบริหารราชการ เช่น ออกใบเสร็จเกินจริง อนุมัติเดินทางเท็จ เบิกเท็จค่าจ้าง-เบี้ยเลี้ยง
1.6 การบริหารงานบุคคล เช่น ซื้อขายตำแหน่ง เรียกรับเงินในการแต่งตั้งโยกย้าย
1.7 รับของที่จัดซื้อแล้วส่งมาให้โดยหน่วยงานอื่น เช่น สนามฟุตซอล เครื่องออกกำลังกาย โซล่าเซลล์
1.8 อื่นๆ เช่น สัมปทานโรงอาหาร ให้เอกชนเช่าที่ดิน/เปิดร้านค้า ขโมยนมโรงเรียนไปขาย โกงเงินสหกรณ์โรงเรียน โกงสหกรณ์ครู โกงเงินกองทุนเสมาเพื่อพัฒนาชีวิต (คดีเกิดปี 2561)
2. ใช้งบประมาณมากแค่ไหน?
ท่านผู้อ่านโปรดทำใจว่า เงินภาษีของประชาชน “ทุกรายการ” ต่อไปนี้ มีคดีคอร์รัปชันเกิดขึ้นแล้ว
กระทรวงศึกษาธิการได้งบประมาณราว 3.25 แสนล้านบาทต่อปี ในจำนวนนี้เป็นงบก่อสร้าง 1.15 หมื่นล้านบาท เงินอุดหนุนการศึกษารายหัว เช่น ค่าตำราเรียน อุปกรณ์การเรียน ฯลฯ ราว 3.7 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีเงินค่าอาหารกลางวันและนมโรงเรียนอีกราว 4.25 หมื่นล้านบาทจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ เพียง 3 รายการนี้รวมเป็นเงินกว่า 9.1 หมื่นล้านบาท [1]
โรงเรียนยังได้รับการสนับสนุนเฉพาะกิจจากหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐอีกจำนวนมาก แม้บางครั้งไม่ได้ร้องขอแต่เจ้าของโครงการก็ส่งมาให้ เช่น สนามฟุตซอลจาก สน.เขตการศึกษา อุปกรณ์ออกกำลังกายจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ด้วยเงินจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ฯลฯ
2.1 งบอุดหนุนการศึกษารายหัวจากรัฐ
ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมากฎหมายกำหนดให้เด็กไทยได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานฟรีไม่น้อยกว่า 15 ปี คืออนุบาลจนจบ ม.6 โดยรัฐออกค่าใช้จ่ายรวม 5 รายการ ในปีการศึกษา 2566 นี้ มีนักเรียน 6,627,264 คน เป็นงบประมาณทั้งสิ้น 37,054,791,800 บาท [2] แยกเป็น [3]
ก. ค่าจัดการเรียนการสอน 21,906,927,400 บาท
ข. ค่าหนังสือเรียน 5,136,298,600 บาท
ค. ค่าอุปกรณ์การเรียน 2,925,266,500 บาท
ง. ค่าเครื่องแบบนักเรียน 2,803,059,100 บาท
จ. ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน 4,283,240,200 บาท
2.2 เงินอุดหนุนจาก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 9 ประเภท [4] โดยสี่รายการที่เป็นปัญหามาก คือ
ก. นมโรงเรียน มูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาทต่อปี (ปี 2565) ราคา 6.89 – 8.13 บาทต่อกล่อง/ถุง จำนวน 260 - 280 กล่อง/ถุง ต่อคนต่อปี รายการนี้ อปท. เป็นผู้จัดซื้อส่งมอบให้โรงเรียน
ข. อาหารกลางวัน มูลค่า 2.83 หมื่นล้านบาท สำหรับเด็ก 5,792,119 คน ใน 51,058 โรงเรียน อัตราค่าอาหารต่อหัว 22 - 36 บาท x 200 - 280 วัน รายการนี้ อปท. โอนเงินให้โรงเรียนดำเนินการ
ค. การจัดซื้อจัดซื้ออุปกรณ์การเรียน หัวละ 290 – 520 บาทต่อปี เช่น การซื้อสมุด ปากกา ดินสอ สีเทียน กระเป๋า อุปกรณ์กีฬา ที่เป็นสินค้าปลอมหรือของต่างชาติคุณภาพต่ำกว่าสินค้ามาตรฐานอุตสาหกรรมไทยแต่ซื้อราคาใกล้เคียงกัน เงินอุดหนุนส่งเสริมศักยภาพ เช่น ไวไฟ
ง. งบประมาณค่าเครื่องแบบนักเรียน หัวละ 325 – 920 บาทต่อปี
วิธีทุจริตที่ทำกันมากคือ เรียกเงินทอนจากเอกชน เอื้อพวกพ้อง จัดซื้อวัตถุดิบทำอาหารไม่ครบตามที่เบิกเงิน จัดซื้อตามราคากลางแต่ได้ของด้อยคุณภาพจากจีน สร้างบัญชีผีทำให้จำนวนเด็กในบัญชีเบิกจ่ายสูงเกินจริง ขโมยนมเด็กไปขาย
3 เงินใต้โต๊ะในการซื้อหนังสือ
หนังสือและตำราที่ซื้อเพื่อแจกนักเรียนในอัตราคนละ 200 – 2,000 บาทต่อคนต่อปี ในที่นี้จำแนกเป็น
ก. หนังสือห้องสมุด ยุคนี้คนใช้บริการน้อยลงห้องสมุดแต่ละแห่งจึงซื้อหนังสือไม่มาก แต่ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาที่มีอำนาจควบคุมโรงเรียนนับร้อยแห่งดังนั้นการจัดซื้อแต่ละครั้งของเขตพื้นที่การศึกษาจึงมีจำนวนมาก
ข. หนังสือแบบเรียน ต้องซื้อหนังสือตามบัญชีของกระทรวงฯ ซึ่งปั๊มตรานูนเป็นสัญลักษณ์ไว้ สำนักพิมพ์จึงต้องวิ่งเต้นให้ได้เข้าบัญชีนี้ จากนั้นเป็นเรื่องของร้านค้าต้องวิ่งเต้นขายให้แต่ละโรงเรียน
น่าสนใจว่า การได้สิทธิ์ให้ขายในบัญชีนี้มีกำหนดอายุ ดังนั้นหนังสือเล่มใดที่ใกล้หมดกำหนดจะต้องเร่งระบายขายออก ส่งผลให้มีการเสนอส่วนลดมากเป็นพิเศษแก่ร้านค้า ซึ่งจะกลายเป็นเงินใต้โต๊ะจำนวนมากขึ้นแก่ผู้มีอำนาจสั่งซื้อ
ค. หนังสืออ่านเพิ่มเติม/อ่านประกอบ/อ่านนอกเวลา กระทรวงฯ มีบัญชีรายชื่อแนะนำ เช่นกัน แต่เป็นหนังสือต่างประเทศสามารถพิจารณาการรับรองจากสถาบันที่น่าเชื่อถือได้
ง. หนังสือแนะนำ ซื้อรายการใดก็ได้โดยอิสระ
อัตราจ่ายและการวิ่งเต้น
เงินใต้โต๊ะจากการซื้อหนังสืออยู่ที่ร้อยละ 5 ถึง 30 หรือกว่านั้น ขึ้นอยู่กับซื้อหนังสืออะไร จำนวนสั่งซื้อ และการต่อรอง ที่เป็นเช่นนี้เพราะปรกติร้านค้าจะได้ส่วนลดเริ่มต้นจากสำนักพิมพ์ร้อยละ 25 จากราคาปกหนังสือ เมื่อซื้อจำนวนมากส่วนลดจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนเรียกว่า บวก 5 บวก 10 ไปจนถึงบวก 20 หรือมากกว่านั้นหากเป็นหนังสือที่เขาต้องการโละสต๊อก ส่วนลดนี้คือกำไรของร้านค้าที่แบ่งไปจ่ายใต้โต๊ะได้
บางครั้งจึงพบว่า โรงเรียนซื้อหนังสือ 10 เล่มในราคาเท่ากับซื้อ 200 เล่ม ทั้งที่ซื้อมากควรราคาถูกกว่า
ถ้าเป็นหนังสือของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ ร้านค้าได้ส่วนลดน้อยกำไรน้อย ถ้าต้องจ่ายใต้โต๊ะก็ใช้วิธีถัวเฉลี่ยกำไรจากการซื้อขายล็อตนั้นๆ
อำนาจในการสั่งซื้อเป็นของ ผอ. โรงเรียน แต่บางกรณีผู้ขายต้องวิ่งเต้นถึง ผอ. เขตการศึกษา
โดยทั่วไปต้นทุนหนังสือของสำนักพิมพ์ประกอบด้วย ค่าพิมพ์ราวร้อยละ 20 ค่าลิขสิทธิ์เนื้อหาส่วนใหญ่จะคิดร้อยละ 10 จากราคาปก (ราคาขาย) จะจ่ายให้นักเขียนทุกครั้งที่มีการตีพิมพ์หรือตามแต่จะตกลง ค่าดำเนินการ ต้นทุนเหล่านี้จะผันแปรไปตามจำนวนเล่มที่พิมพ์ พิมพ์ครั้งที่เท่าไหร่ ค่าลิขสิทธิ์หมดแล้วหรือยัง หากหนังสือใกล้หมดระยะเวลารับรองของกระทรวงฯ ให้ใช้เป็นตำราเรียนได้ ก็จะต้องเร่งเทขาย เป็นต้น
ในกรณีวางจำหน่ายที่ร้านหนังสือ สำนักพิมพ์ต้องเสียค่าจัดจำหน่ายร้อยละ 40 - 45 ให้ทางร้าน จึงจำเป็นต้องตั้งราคาปกหนังสือให้สูง เพื่อมั่นใจว่าจะสามารถบริหารจัดการให้เกิดกำไรคุ้มค่าได้
4. บทสรุป
คอร์รัปชันในโรงเรียนทำร้ายเด็ก ทำลายความสามารถด้านภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมถึงชั้นมัธยมมีแนวโน้มว่าจะลดลงต่อเนื่อง [5] ที่ผ่านมาเราพยายามปลูกฝังเด็กให้มีวินัยความรับผิดชอบ แต่เด็กที่ต้องเติบโตในสภาพแวดล้อมที่คดโกง ไม่ซื่อสัตย์ ย่อมซึมซับพฤติกรรมแก่งแย่งเอารัดเอาเปรียบ อย่างนี้จะหวังอนาคตที่ดีของชาติได้อย่างไร
คอร์รัปชันได้เบียดเบียนครูทั้งวงการ ทำลายภาพความเมตตาของครูผู้ให้ วันนี้ครูต้องรับหน้าที่เป็นกรรมการจัดซื้อฯ ต้องทำเรื่องตามขั้นตอน สุดท้ายหากไม่เซ็นต์เอกสารที่ผู้ใหญ่สั่งมาเขาก็ไม่ก้าวหน้า หากทำไปอาจติดคุก แล้วอย่างนี้ครูดีๆ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่จะใส่ใจทำหน้าที่อย่างมีความสุขได้อย่างไร
ทางที่ดีอย่าปล่อยให้คนคดโกงมาทำอาชีพครู กำจัดออกไปอย่าปล่อยไว้เป็นแบบอย่างเลวๆ ให้เด็กดู เพื่อให้ลูกหลานของเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่คุณภาพของสังคมไทยได้สืบไป
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
22 พฤภาคม 2566
อ้างอิง
3. แนวทางการดำเนินงานตามโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษา ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีงบประมาณ 2566, สพฐ. ศธ. น. 3 - 4, 6
5. รายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปี 2565 น. 604, สภาพัฒน์ 1 มีนาคม 2566.