Article
รางวัลนำจับ ช่องทางเพิ่มคอร์รัปชัน ถึงเวลาต้องยกเลิก?
โดย ดร.มานะ นิมิตรมงคล โพสเมื่อ Sep 10,2022
รางวัลนำจับ ช่องทางเพิ่มคอร์รัปชัน ถึงเวลาต้องยกเลิก?
หลังมีประกาศเพิ่มค่าปรับจราจรให้แพงขึ้นมาก แต่น่าแปลก คนส่วนใหญ่ไม่ได้บ่นเรื่องค่าปรับที่เพิ่มขึ้น กลับพากันตั้งข้อรังเกียจว่า ตำรวจจะขยันจับและออกใบสั่งมากขึ้นเพราะหวังรวยจากเงินส่วนแบ่งค่าปรับจราจร คำถามที่เกิดขึ้นคือ ทำไม การจ่าย “รางวัลนำจับ” จึงทำลายความน่าเชื่อถือต่อเจ้าหน้าที่บ้านเมืองในสายตาประชาชนได้เช่นนี้? ทั้งที่เขาแบ่งปันกันถูกกฎหมาย!!
บทความนี้จะอธิบายให้เห็นว่า ที่ผ่านมามีปัญหาอะไรกับระบบการจ่ายเงินรางวัลนำจับในประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่แต่กับตำรวจจราจรเท่านั้น
ปัจจุบันมีกฎหมายมากถึง 147 ฉบับ ที่ยอมให้หน่วยงานของรัฐจ่ายรางวัลนำจับแก่เจ้าหน้าที่ เช่น ตำรวจ ศุลกากร สรรพสามิต ขนส่งทางบก ป่าไม้ ยาเสพติด ฯลฯ ด้วยเหตุผลสำคัญว่า เงินเหล่านี้จะเป็นแรงจูงใจให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นและลดปัญหาเจ้าหน้าที่เรียกรับสินบนจากผู้กระทำผิด
แต่จากการศึกษากลับพบว่า รางวัลจำนวนมากที่รัฐเสียไปแต่ละปีนั้น ไม่ได้ช่วยให้เกิดผลดีตามที่กล่าวอ้าง ตรงกันข้าม กลับสร้างผลเสียและกลายเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดการคอร์รัปชันมากกว่าเดิม
1. ไม่ได้ช่วยให้คอร์รัปชันลดลง จากโอกาสและแรงจูงใจให้เจ้าหน้าที่เลือกระหว่างเงินรางวัลนำจับที่ถูกกฎหมาย หรือรับสินบนที่ผิดกฎหมายแต่ง่ายและเร็ว
เพราะ “ฝ่ายผู้ให้” หรือคู่กรณีมักเลือกที่จะเสนอเงินสินบนเพื่อหลีกเลี่ยงความยุ่งยากเสียเวลาหรือการถูกเปิดเผยเรื่องราวของตน รวมทั้งอาจถูกกลั่นแกล้งให้สถานการณ์เลวร้ายลง หรือโดนบทลงโทษอื่นอีกหากตนต้องเข้าสู่ขั้นตอนของกฎหมาย
ขณะที่ “ฝ่ายเจ้าหน้าที่” มักมองว่ารางวัลเป็นของตายอย่างไรเสียตนก็ต้องได้ แต่ล่าช้ามาก เพราะขั้นตอนเบิกจ่ายยุ่งยากแถมยังต้องแบ่งแก่เจ้านายหรือเจ้าหน้าที่อื่นด้วย ทำให้ได้ส่วนแบ่งน้อยลง บางกรณียังมีเรื่องของพวกพ้องหรือการช่วยเหลือเข้ามาเกี่ยวข้องทำให้ต้องยุติคดีไป ต่างจากการรับสินบนจากเหยื่อหรือคู่กรณีเข้ากระเป๋าตนเองทันที
2. ใช้อำนาจโดยมิชอบมากขึ้น เมื่อเจ้าหน้าที่สามารถเลือกบังคับใช้กฎหมายตามดุลยพินิจได้ง่าย เพราะมีกฎหมายเกี่ยวข้องจำนวนมาก มีรายละเอียด เงื่อนไขซับซ้อน หรือเปลี่ยนแปลงบ่อย ทำให้เจ้าหน้าที่เหิมเกริมใช้อำนาจอย่างเกินเลย เช่น พฤติกรรมที่เรียกว่า “ตีเมืองขึ้น” หรือ “ตีไก่” ด้วยการข่มขู่ให้เหยื่อต้องส่งส่วย สินบนอย่างต่อเนื่องเพื่อแลกกับการไม่ถูกดำเนินคดี หรือไม่ถูกปรักปรำ โดยไม่สนใจว่าอีกฝ่ายจะกระทำผิดจริงหรือไม่
3. เกิดพฤติกรรมบิดเบือนไปจากความถูกต้อง คือแทนที่จะทำตามภาระกิจของหน่วยงาน กลับพบว่า เจ้าหน้าที่บางคนเลือกงานหรือทำคดีเฉพาะที่มีโอกาสจะได้รางวัลมากๆ บ่อยครั้งทำเกินกว่าเหตุเพื่อหวังเงินรางวัล ที่เรียกว่า “ขุดหลุมล่อ” คือ ปล่อยให้เหยื่อพลาดผิดแล้วไปดำเนินคดีในภายหลัง ซึ่งเข้าข่ายการมีผลประโยชน์ทับซ้อนที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
4. สร้างความไม่เป็นธรรมในระบบการทํางานของราชการ จากการที่ข้าราชการกลุ่มหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แล้วได้รางวัลนำจับเป็นผลตอบแทนพิเศษ แต่ข้าราชการทั่วไปไม่ได้หรือแม้แต่อยู่หน่วยงานเดียวกันแต่อยู่คนละฝ่ายก็ไม่ได้ เกิดปัญหาแบ่งรางวัลไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานเดียวกัน รวมทั้งการทำผิดกฎหมายในลักษณะอื่น เช่น กรณีสมรู้ร่วมคิดกันให้พรรคพวกหรือญาติพี่น้องแอบอ้างเป็นผู้ชี้เบาะแสเพื่อรับเงินสินบนและรางวัลนำจับ เช่น กรณีผู้กำกับโจ้
5. เกิดคอร์รัปชันในการเบิกจ่ายเงินฯ ที่เห็นบ่อยคือ ธรรมเนียมเข้าชื่อบัญชีหางว่าวเพื่อรับส่วนแบ่งรางวัลและอ้างเป็นผลงาน ของเจ้าหน้าที่จำนวนมากในหน่วยงานเดียวกันหรือหลายหน่วยงาน ทั้งที่หลายคนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในกรณีนั้น
ที่กล่าวมาคงพออธิบายได้บ้างว่า เมื่อพูดถึงการจ่ายรางวัลนำจับให้เจ้าหน้าที่ ทำไมจึงมักเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ติติง ตั้งข้อสงสัยอยู่เสมอ เช่นเดียวกับกรณีค่าปรับผู้กระทำผิดกฎจราจรนี้
ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายได้เสนอว่า เจ้าหน้าที่รัฐต่างได้รับเงินเดือนและผลประโยชน์อื่นจากรัฐอยู่แล้ว จึงควรยกเลิกรางวัลนำจับเสีย แล้วเปลี่ยนเป็นการให้รางวัลจากผลประเมินการปฏิบัติหน้าที่ดีเด่น (Performance Reward) เหมือนในสหรัฐฯ หรือประเมินให้เป็นผลงานของหน่วยงานมิใช่ปัจเจกบุคคล แต่หากยังคงไว้ จำเป็นต้องปรับปรุงหลายกระบวนการ เช่น
1. กติกาการจ่ายเงินและจำนวนเงินรางวัลนำจับต้องโปร่งใส เป็นที่รับรู้ทั่วไป มิใช่จำกัดอยู่แต่ในหมู่เจ้าหน้าที่ เพื่อให้ประชาชนร่วมเป็นหูเป็นตาแทนรัฐในการตรวจสอบชี้เบาะแสพฤติกรรมเจ้าหน้าที่ โดยให้เงินแก่ประชาชนที่ชี้เบาะแสเป็นการตอบแทนในจำนวนมากพอจะชดเชยกับการเสี่ยงภัยและค่าใช้จ่ายที่เขาเสียไป เช่น ค่าเดินทาง การสืบค้นข้อมูล ค่าเสียเวลาทำมาหากิน เป็นต้น
2. กำหนดเงื่อนไขให้เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ทั้งที่ทำงานในหน่วยงานนั้น เจ้าหน้าที่รัฐทั่วไป จำนวนเงินที่จ่ายจะคิดเป็นสัดส่วนกับผลงานในคดีก็ได้แต่ต้องไม่มากเกินไปและมีเพดานวงเงินสูงสุด
3. วางมาตรการทางกฎหมายให้ผู้เสียหายหรือเหยื่อสามารถต่อสู้ภายหลังการจ่ายสินบนไปแล้วได้ ด้วยการเปิดโปงเจ้าหน้าที่ที่กระทำโดยมิชอบหรือเรียกรับสินบน ต่อ ป.ป.ช.
โดยสรุป “การให้หรือรับสินบนไม่ว่าจะให้ใครหรือโดยใครก็ถือว่าไม่ถูกต้องทั้งสิ้น ดังนั้นทำไมเราไม่พัฒนาประเทศและสังคมของเรา ที่ทำให้ประชาชนมีความสำนึกในความถูกต้องและทำหน้าที่พลเมืองที่ดี ที่คอยปกป้องหรือรักษาผลประโยชน์ของสังคมโดยไม่เห็นแก่อามิสสินจ้างหรือเงินรางวัล”
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
9 กันยายน 2565
หมายเหตุ:
- เงินสินบนนำจับ หมายถึงเงินที่จ่ายให้ประชาชน ส่วนเงินรางวัลนำจับ หมายถึงเงินที่จ่ายให้เจ้าหน้าที่รัฐ ที่แจ้งเบาะแสการกระทำผิดจนนำไปสู่การจับกุมดำเนินคดี ตามที่กำหนดโดย (1) การจ่ายเงินรางวัลตามข้อบังคับกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการหักเงินค่าปรับก่อนนําส่งคลัง พ.ศ. 2546 จำนวน 132 รายการ และ (2) การจ่ายเงินรางวัลตามกฎหมายเฉพาะที่บัญญัติให้จ่ายเงินรางวัล จำนวน 15 ฉบับ
- บทความนี้ปรับปรุงจาก “รางวัลนำจับ: รัฐได้ไม่คุ้มเสีย” โดยผู้เขียน เผยแพร่เมื่อ 3 มกราคม 2560