Article

สินบนข้ามชาติ

โดย ACT โพสเมื่อ Apr 05,2017

สินบนข้ามชาติ: ปราบให้ได้อย่างใจประชาชน

ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ว่า คดีสินบนข้ามชาติกำลังสะดุด เพราะคดีดังอย่างสินบนโรลส์รอยซ์อาจไม่สามารถหาข้อมูลพฤติกรรมและเส้นทางการเงินไปเอาผิดบรรดาคนที่มีส่วนร่วมได้ (พาดหัว นสพ. กรุงเทพธุรกิจ 2/4/60) ผู้เขียนเห็นว่า ข่าวแบบนี้นอกจากไม่มีประโยชน์แล้วยังเป็นการทำร้ายความรู้สึกของประชาชนว่าเราจะต่อสู้กับคอร์รัปชันไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะเรื่องใหญ่และชัดเจนขนาดนี้ยังเอาคนโกงมาลงโทษไม่ได้
 
ขณะนี้สินบนข้ามชาติที่ถูกเปิดเผยมีเพียง 12 คดีเท่านั้น แต่เชื่อกันว่า การทุจริตระดับนี้ทำกันมานานแล้วและเริ่มมีรูปแบบใหม่ๆ อย่างกรณีที่ต่างชาติมาล็อบบี้ให้นักการเมืองแก้ไขกฎหมายจนสำเร็จ โดยคนที่สามารถบงการได้มักเป็นผู้มีอำนาจระดับสูงของรัฐหรือหน่วยงานเท่านั้น และที่ทำกันมากเป็นเพราะให้ผลตอบแทนดี ขณะที่ระบบป้องกันทั้งบุคลากรและเครื่องไม้เครื่องมือตรวจจับของเรายังมีน้อยหรือไม่ได้มาตรฐาน การรับจ่ายเงินสินบนก็มีทั้งที่รับจากต่างชาติโดยตรงและผ่านนายหน้า มีทั้งจ่ายและเก็บเงินไว้ในประเทศและเก็บไว้ต่างประเทศอย่างที่เป็นข่าวฉาวโฉ่ทั่วโลกในกรณีปานามา เปเปอร์ 
 
สินบนข้ามชาติหรือจะเรียกปนๆ ไปว่าค่านายหน้า - ค่าการตลาดก็ตาม เกิดขึ้นทั้งในรัฐวิสาหกิจและกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวโยงกับเมกกะโปรเจค การจัดซื้อ การจ้างที่ปรึกษา จ้างทำงาน การลงทุน การปริวรรตเงินตรา การซื้อวัตถุดิบ เช่น การซื้อขายก๊าซและน้ำมัน เป็นต้น 
 
การต่อสู้กับคอร์รัปชันในสังคมที่มีปัญหาร้ายแรงมายาวนาน “เมื่อเกิดกรณีอื้อฉาวเกี่ยวกับคอร์รัปชัน ก็ต้องเน้นการเอาเหตุและพฤติกรรมเหล่านั้นมาอธิบายให้สังคมเข้าใจ โดยไม่ละความพยายามที่จะหยุดยั้งความเสียหายที่กำลังเกิดขึ้นและหาทางเอาตัวคนผิดมาลงโทษให้ได้ เพื่อสร้างความหวังให้กับประชาชนในการที่จะพูดหรือเปิดเผยข้อมูลเพื่อกำจัดคนโกงต่อไป”
ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจถึงปัญหาและมีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่รวมถึงให้การสนับสนุนมาตรการใดๆ ของรัฐที่จะเอาตัวคนโกงมาลงโทษให้ได้โดยเร็ว ผู้เขียนขอเสนอให้ ป.ป.ช. และรัฐบาลทำงานโดยยึดโยงกับประชาชนด้วยการเร่งจัดทำข้อมูลต่อไปนี้มาเผยแพร่ให้สังคมรับรู้อย่างเป็นทางการ

1. ให้ข้อมูลเกี่ยวกับคดี โดยนำข้อมูลเกี่ยวกับคดีทั้งหมดที่หน่วยงานของรัฐต่างชาติได้เผยแพร่สู่สาธารณะแล้วบวกกับข้อมูลที่ไทยมีอยู่ก่อนหน้านี้ (เท่าที่เปิดเผยได้) มาสรุปเรื่องให้ความรู้แก่ประชาชน เพราะที่ผ่านมาคนไทยได้รับรู้จากสื่อมวลชนและโซเชี่ยลมีเดียเพียงด้านเดียว
2. รายงานความพยายามของรัฐ ว่าขณะนี้รัฐบาลและ ป.ป.ช. กำลังทำอะไร ขั้นตอนไหน 
3. สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ต่อประเด็นที่สร้างความสงสัยให้สังคมอยู่ เช่น
     ก.  ใครกันแน่ที่เป็นหน่วยงานหลักในการทำคดีและใครที่มีอำนาจตามกฎหมายในการประสานงานขอข้อมูลทางคดีจากต่างชาติ และหน่วยงานอื่นๆ อย่าง อัยการสูงสุด สตง. ป.ป.ง.                          ป.ป.ท.และ ศอตช. จะมีบทบาทร่วมอย่างไร 
     ข.   บทเรียนจากคดีอดีตผู้ว่าการท่องเที่ยวฯ มีความเหมือนหรือแตกต่างจากคดีอื่นๆ อย่างไร และที่มีข่าวว่า รัฐบาลต่างชาติอาจไม่ให้ข้อมูลทางคดีเพราะไทยมีโทษประหารสำหรับคดี.
           คอร์รัปชัน แต่ในทางปฏิบัติแล้วอัยการสูงสุดสามารถทำหนังสือสร้างความมั่นใจไปยังประเทศนั้นๆ ว่าจะไม่มีการลงโทษถึงประหารชีวิตในคดีที่ขอความร่วมมือนี้ ใช่หรือไม่
     ค.   เราสามารถใช้อนุสัญญาฯ UNCAC 2003 หรือกฎหมายฟอกเงินและมาตรการนานาชาติทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน FATF (Financial Action Task Force) ให้เป็นประโยชน์ในคดี.
           เหล่านี้ได้แค่ไหน
      ง.  บางคดีที่หมดอายุความตามกฎหมายอาญาหรือ กฎหมาย ป.ป.ช. แล้ว ยังมีช่องที่จะทางใช้กฎหมายอื่นไปเล่นงานหรือเปิดโปงคนโกงได้อีกหรือไม่
4. สร้างความมั่นใจร่วมกัน ว่าเราจะป้องกันมิให้เกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นอีกในอนาคตได้อย่างไร
ทำอย่างนี้ประชาชนจะได้เข้าใจปัญหา รับรู้การทำงานของรัฐว่าโปร่งใสทุ่มเทหรือมีข้อจำกัดอย่างไรที่ต้องช่วยกันแก้ไข สุดท้ายความศรัทธาต่อกันก็จะเกิดขึ้นและเป็นผลดีต่อประเทศในระยะยาว
ประเด็นนี้วันนี้ ผู้เขียนได้แรงบันดาลใจจากการบรรยายของ รศ.ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร เมื่อประมาณปี 2556 ครับ

ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
           4/4/60