Media
เครื่องมือจับตารัฐ เพิ่มสกิลพลเมือง ACTive Citizen
โดย ACT โพสเมื่อ May 19,2021
เคยเป็นไหม เวลาเห็นเคสการทำงานของภาครัฐที่น่าสงสัยว่า ‘นี่กำลังมีอะไรผิดปกติอยู่หรือเปล่า’ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้เพราะไม่มีข้อมูลชัดๆ ชวนให้อึดอัดว่าทำไมเราถึงทำอะไรไม่ได้เลย
.
แต่ที่จริงแล้ว ในปัจจุบันมีเครื่องมือมากมายพร้อมให้ใช้งานเพื่อสืบค้นข้อมูลภาครัฐ จะเอาไว้ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมว่ากำลังมีโครงการอะไรเกิดขึ้นบ้าง หรือจะเอาไว้หาหลักฐานจับผิดคนโกงก็ยังได้
.
วันนี้เราขอรวบรวม และรีวิวเครื่องมือเพื่อการสืบค้นข้อมูลภาครัฐที่เป็นประโยขน์ เพื่อให้ประชาชนอย่างเราๆ ที่แม้จะกักตัวอยู่กับบ้านก็สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาครัฐได้ โดยไม่ต้องไปทำเรื่องยื่นเอกสารต่างๆ ให้วุ่นวาย
.
แต่ถ้าเห็นทั้ง 5 เครื่องมือด้านล่างแล้วยังคันไม้คันมือ มีไอเดียอยากทำให้ดียิ่งขึ้นกว่านี้ ติดตามข้อมูลในเพจของเราไว้ให้ดี เพราะกิจกรรมที่น่าตื่นเต้นกำลังจะมา
Open Data Portal for eMENSCR
โดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
https://opendata.nesdc.go.th/
ระบบ Open Data Portal for eMENSCR หรือระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ จัดทำโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เป็นระบบสารสนเทศที่ใช้ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานราชการ รวมถึงโครงการต่างๆ ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศในรูปแบบข้อมูลสถิติ สถานการณ์ หรือข้อมูลอื่นๆ
.
เป็นระบบฐานข้อมูลแห่งชาติที่รวบรวมโครงการของรัฐทั้งหมด และเปิดให้หน่วยงานของรัฐด้วยกันสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ลดขั้นตอนการทำงานระหว่างกันและลดการใช้กระดาษ ขณะที่ประชาชนทั่วไปก็สามารถเข้าถึงรายงานสรุปผลการดำเนินงานที่ สศช. เผยแพร่ และสามารถมีส่วนร่วมในการแจ้งเหตุแก่สศช. หากพบการดำเนินการที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
.
ปัจจุบันระบบฐานข้อมูลเปิดภาครัฐสำหรับ eMENSCR บนหน้าเว็บไซต์ https://opendata.nesdc.go.th/ มีชุดข้อมูลทั้งหมด 373 ชุดข้อมูล จาก 344 องค์กร และแบ่งออกเป็น 24 หมวดหมู่ เช่น ‘ความมั่นคง’ ‘การต่างประเทศ’ ‘การเกษตร’ ‘อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต’ ‘การท่องเที่ยว’ ‘พื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ’ ‘การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ’ เป็นต้น
.
จากการทดลองใช้งานของเรา พบว่ามีการอัพเดตข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ จนเป็นปัจจุบัน รวมถึงจัดแยกหมวดหมู่อย่างชัดเจน และที่หน้าเว็บไซต์ก็มีการสนับสนุนให้หน่วยงานรัฐนำเข้าข้อมูลสถิติและสถานการณ์ในระบบ โดยแนบคู่มือการใช้งานที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย แต่จุดอ่อนของระบบนี้คือชุดข้อมูลที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ยังคงมีจำนวนน้อยเกินไปเมื่อเทียบการเป็นฐานข้อมูลแห่งชาติ
ศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Government Data)
โดย สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)
https://data.go.th/
ศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Gevernment Data) หรือ data.go.th เป็นแพลตฟอร์มของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. จัดตั้งขึ้นด้วยแนวคิดการเป็นศูนย์กลางในการเข้าถึงข้อมูลเปิดภาครัฐได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และยังมีการแสดงข้อมูลทั้งในโหมด Preview, Visualization และ API
.
ปัจจุบัน data.go.th มีชุดข้อมูลในระบบทั้งหมด 2,886 ชุดข้อมูล โดยแบ่งออกเป็น 15 กลุ่ม คือ ‘ศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม’ ‘กฎหมาย ศาล และอาชญากรรม’ ‘การศึกษา’ ‘เศรษฐกิจ การเงิน และอุตสาหกรรม’ ‘สาธารณสุข’ ‘เกษตรกรรม’ ‘สถิติทางการ’ ‘วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรม’ ‘เมืองและภูมิภาค’ ‘สังคมและสวัสดิการ’ ‘คมนาคมและโลจิสติกส์’ ‘การท่องเที่ยวและกีฬา’ ‘การเมืองและการปกครอง’ ‘งบประมาณและการใช้จ่ายของภาครัฐ’ และ ‘ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม’
.
จากการทดลองใช้ของเรา พบว่าเว็บไซต์นี้มีความเคลื่อนไหวที่เป็นปัจจุบัน มีการอัพเดทอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เปิดให้ใช้งาน สามารถคาดหวังได้ว่าจะมีชุดข้อมูลมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต แต่จุดอ่อนของเว็บไซต์นี้คือข้อมูลที่มีเป็นข้อมูลจากหน่วยงานรัฐเพียงไม่กี่แห่ง ชุดข้อมูลเกือบครึ่งเป็นของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และชุดข้อมูลอีกหลายชุดก็อยู่ในรูปแบบที่ไม่สามารถแสดงผลได้บนเว็บไซต์ ทำให้ใช้งานได้ไม่เต็มที่
ระบบฐานข้อมูลรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA
โดย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
https://eia.onep.go.th/
เว็บไซต์นี้เป็นระบบที่ทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ข้อมูลรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ จัดทำขึ้นโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้
.
สำหรับรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือที่รู้จักกันในชื่อ EIA เป็นรายงานการศึกษาและประเมินผลกระทบของโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เปิดผลกระทบต่อชุมชนในด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพอย่างรุนแรง โครงการหรือกิจกรรมใดๆ ก็ตามที่เข้าข่ายจะต้องมีการศึกษาและมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรอิสระต่างๆ ก่อน โดยทางระบบได้แบ่งรายงานออกเป็น 9 ประเภทย่อย คือ ‘อาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน’ ‘เหมืองแร่’ ‘สำรวจผลิตปิโตรเลียม’ ‘พลังงาน’ ‘คมนาคม’ ‘อุตสาหกรรม’ ‘อุตสาหกรรมปิโตรเคมี’ ‘โรงกลั่นน้ำมัน’ ‘พัฒนาแหล่งน้ำและเกษตรกรรม’
.
ลักษณะการนำเสนอข้อมูลบนเว็บไซต์นี้ สามารถดูข้อมูลได้ทั้งตัวโครงการ พร้อม QR Code สำหรับการประชาสัมพันธ์ และเอกสารที่เกี่ยวข้องที่เปิดให้ดาวน์โหลดได้ หรือจะค้นหาโดยใช้เลขที่หนังสือเห็นชอบ เลขที่อ้างอิงโครงการ บางส่วนของชื่อโครงการ ฯลฯ ก็ได้ และยังมีรายละเอียดของเจ้าของโครงการ นิติบุคคลผู้จัดทำรายงาน ฯลฯ ถือว่ามีความสะดวกและละเอียดในระดับหนึ่งเลยทีเดียว
โครงการ ELECT เทคโนโลยีภาคประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
โดย กลุ่ม ELECT
https://elect.in.th/
เป็นกระแสโด่งดังหลังจากการเปิดตัวของ ELECT หรือ elect.in.th ในช่วงก่อนถึงการเลือกตั้งปี ‘62 เพียงไม่นาน จุดเด่นคือการนำเสนอข้อมูลในแต่ละหัวข้อแบบ Visualisation ที่ผ่านการออกแบบมาอย่างดี ไม่เพียงแต่เอาข้อมูลจากภาครัฐมาเปิดเผย แต่ยังรวมไปถึงการสืบค้นและเรียบเรียงข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์สาธารณะ เช่น ผู้สมัครส.ส.คนไหนเกี่ยวข้องกับธุรกิจอะไรบ้าง การเมืองไทยถิ่นไหนใครครอง หรือสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญแต่ละชุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
.
จุดเด่นของ ELECT คือหัวข้อที่ถูกคัดสรร วิเคราะห์ เรียบเรียง และนำเสนอให้เข้าใจง่ายโดยทีมงาน แต่เพราะแบบนั้นทำให้เนื้อหาในเว็บไซต์ขาดความหลากหลายของชุดข้อมูลไป โดยหัวข้อที่ถูกนำเสนอบนเว็บไซต์จะเป็นหัวข้อที่สังคมให้ความสนใจหรือเกี่ยวข้องกับประเด็นสังคมในขณะนั้น เน้นเนื้อหาเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณ หากใครที่ต้องการค้นหาข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงโครงการใดโครงการหนึ่งอาจต้องเลือกใช้เว็บไซต์หรือแพลทฟอร์มอื่นจะเหมาะสมกว่า
.
แต่ถ้าใครที่อยากติดตามประเด็นในสังคมแบบเจาะลึก ถูกต้อง แม่นยำ ข้อมูลจากบน ELECT ก็ถือว่าเป็นข้อมูลปรุงสำเร็จ พร้อมสำหรับการหยิบไปใช้งาน
ACT Ai
โดย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
https://covid19.actai.co/
ACT Ai เป็นแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โดยมีหน่วยงานรัฐที่ให้ความร่วมมือสนับสนุนด้านข้อมูล ได้แก่ กรมบัญชีกลาง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และล่าสุดคือสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทำให้แพลตฟอร์มนี้เป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมข้อมูลของโครงการรัฐต่างๆ เอาไว้มากที่สุด
.
โดย ACT Ai ได้นำข้อมูลที่กระจัดกระจายมานำเสนอในรูปแบบของ Data Visualisation พร้อมระบบ AI อัจฉริยะเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงและเข้าใจว่าโครงการนั้นอยู่ภายใต้หน่วยงานใด ปีงบประมาณอะไร งบประมาณ ราคากลาง สถานะของโครงการ ผู้รับจ้าง รวมไปถึงการประมวลผลว่าโครงการนั้นมีความเสี่ยงจะเกิดการคอร์รัปชันหรือไม่ สามารถค้นหาได้ด้วยคำค้นหาง่ายๆ เช่น สะพานลอย ถนน แหล่งน้ำ ฯลฯ และล่าสุดกับ #จับโกงงบโควิดด้วยACTAi ที่มาติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณกว่า 400,000 ล้านบาทอย่างใกล้ชิด
.
ระบบ ACT Ai มีความโดดเด่นด้วยจำนวนของฐานข้อมูลที่ถูกรวบรวมไว้จำนวนมากกว่า 19.8 ล้านโครงการ นำมาแสดงผลโดยละเอียด และมีการนำเสนอที่เข้าใจง่าย แต่บางครั้งเพราะข้อมูลที่มีจำนวนมากทำให้ผลลัพธ์ที่แสดงออกมายังมีความซับซ้อนอยู่บ้างเมื่อเทียบกับเว็บไซต์อื่นที่เลือกนำเสนอข้อมูลเฉพาะด้่าน แต่ความสามารถและจำนวนฐานข้อมูลบน ACT Ai ก็ถือได้ว่าไม่ควรมองข้าม เป็นแพลตฟอร์มหนึ่งที่เหมาะกับการตรวจค้นข้อมูลของโครงการรัฐแบบ one stop service และเรียกได้ว่า user friendly ที่สุดในขณะนี้ทีเดียว
.
แต่เราเชื่อว่ายังมีไอเดียอีกมากจากคนรุ่นใหม่ที่อยากมาพัฒนาเครื่องมือเพื่อสร้างรัฐเปิดเผย ให้ประชาชนร่วมตรวจสอบการใช้งบประมาณได้ดี สะดวกขึ้นกว่านี้ ติดตามข้อมูลในหน้าฟีดให้ดี เพราะมีกิจกรรมที่น่าตื่นเต้นรอคุณอยู่!