Media

ปราบคอร์รัปชันอยู่หมัด รัฐต้องเปิด "ข้อมูล"

โดย ACT โพสเมื่อ May 12,2021

หลายทศวรรษผ่าน หลายรัฐบาลเปลี่ยน ความพยายามแก้ไขและปราบปรามการคอร์รัปชันเกิดขึ้นเรื่อยๆ แต่เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยยังคงเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและกว้างขวาง แม้เราจะเห็นโครงการและแผนแม่บทต่างๆ เกิดขึ้นจากนโยบายของภาครัฐ
.
เรามีร่างยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่ดำเนินงานมาแล้วเกิน 10 ปี
.
เรามีหน่วยป้องกันและปราบปรามการทุจริต และศูนย์ร้องเรียนเพื่อประชาชน
.
เรามีโครงการด้านคุณธรรมอย่างโตไปไม่โกง, ข้าราชการไทยไร้ทุจริต หรือ MOU สร้างสังคมไม่ทนต่อการทุจริตที่ทำร่วมกับภาคีสื่อมวลชน
.
แต่สิ่งที่ยังขาดไป (แม้อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ฯ) คือการผลักดันวาระการเปิดเผย ‘ข้อมูล’ จากภาครัฐ เพื่อให้ภาคประชาชนได้ร่วมจับตา
.
เพราะการผลักดันให้ประชาชนมีทัศนคติต่อต้านการทุจริตผ่านโครงการด้านคุณธรรมอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอ ถ้าไม่มีสิ่งจับต้องได้ ให้พวกเราได้มาร่วมมือร่วมใจจับตาการใช้งบประมาณของรัฐอย่างสะดวกยิ่งขึ้น
.
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและข้อมูลเพื่อตรวจสอบความโปร่งใสของกิจกรรมต่างๆ จากภาครัฐ ผ่านเครื่องมือ #ACTAi (https://actai.co#จับโกงงบCOVIDด้วยACTAi (https://covid19.actai.co) รวมถึงการระดมพลผู้เชี่ยวชาญเพื่อเข้าไปเป็นผู้สังเกตการณ์การใช้งบประมาณขนาดใหญ่ผ่านโครงการ Integrity Pact (IP) และ CoST
.
ทั้งหมดคือความพยายามเล็กๆ จากภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน
.
จากดัชนี Corruption Situation Index (CSI) ที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่ากว่า 87% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งจากภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และข้าราชการ พร้อมยินดีมีส่วนร่วมกับการป้องกันปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน และเราเชื่อว่ามีคนรุ่นใหม่อีกมากที่สนใจปัญหาบ้านเมืองและอยากร่วมแก้ไขให้ดีขึ้น ผ่านความรู้ความสามารถของพวกเขา เพื่อมาออกไอเดีย ประยุกต์ใช้เพื่อจัดการปัญหาทุจริตคอร์รัปชันให้ดีขึ้นผ่านข้อมูลที่เข้าถึงได้ง่าย
.
เพราะสิ่งที่ประชาชนอยากรู้ไม่ใช่แค่ ใครเป็นคนดี หรือ ใครที่ผ่านโครงการฝึกอบรมต่อต้านคอร์รัปชัน แต่คือรายงานบัญชีทรัพย์สินที่ตรวจสอบได้ รายรับรายจ่ายของภาครัฐที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย เป็นระบบระเบียบ ไม่กระจัดกระจาย อันเป็นอุปสรรคของภาคประชาชนที่จะเข้ามาจับตา ตรวจสอบการใช้งบประมาณเพื่อลดการคอร์รัปชัน
.
เป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ผู้โตมาพร้อมกับโครงการ ‘โตไปไม่โกง’ หวังว่าการปลูกฝังเรื่องคุณธรรมของภาครัฐ จะมาพร้อมกับความตั้งมั่นที่จะมาร่วมมือเปิดเผย โปร่งใส พร้อมให้ประชาชนตรวจสอบได้ด้วย ‘ข้อมูล’